วินาทีนี้ บริษัทเทคโนโลยีที่เรียกได้ว่ามาแรงแซงหน้า OpenAI และกำลังตกเป็นเป้าสนใจอย่างมากในฐานะผู้ชนะตัวจริง นั่นก็คือ NVIDIA บริษัทผู้ผลิตการ์ดจอหรือชิป GPU (Graphic Processing Unit) ยักษ์ใหญ่สหรัฐฯ ผู้ผลิตขุมพลังที่ใช้ขับเคลื่อนเทคโนโลยี Generative AI ที่ปัจจุบันมี นายเจนเซ่น หวง (Jensen Huang) ซีอีโอในลุคแจ็กเกตหนังชาวไต้หวัน วัย 60 ปี เป็นผู้ก่อตั้งและเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร
NVIDIA กลายเป็นบริษัทที่ได้รับอานิสงส์แบบเต็มๆ จากช่วง AI ฟีเวอร์ หลังจากโลกได้รู้จักกับ ChatGPT ซึ่งแน่นอนว่า NVIDIA ไม่ได้เป็นผู้เดียวที่รับรายได้มหาศาล ขณะเดียวกันธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับ AI ต่างก็ได้รับผลประโยชน์นี้เช่นเดียวกัน โดยเฉพาะ Platform & Infrastructure-as-a-service ไม่ว่าจะเป็นกลุ่ม Cloud Provider Service, Data Center/Data Warehouse, Computer Software และเหล่าผู้ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่เป็นชิ้นส่วนของเครื่องไม้เครื่องมือเหล่านี้
โดยหลังจากที่ NVIDIA เผยตัวเลขผลดำเนินการของไตรมาสแรก (สิ้นสุด ณ วันที่ 30 เมษายน 2566) ทำรายได้รวมทั้งสิ้น 7,192 ล้านเหรียญ เพิ่มขึ้น 19% จากไตรมาสก่อน กำไรต่อหุ้นปรับลดสำหรับไตรมาสนี้อยู่ที่ 0.82 เหรียญ เพิ่มขึ้น 28% จากปีที่แล้ว และเพิ่มขึ้น 44% จากไตรมาสก่อน
เรียกได้ว่าเป็นไปในทิศทางที่ดีและยังได้ฟีดแบ็กจากนักลงทุนที่เกินคาด หุ้นบริษัทพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์มูลค่าของบริษัทขึ้นแตะระดับล้านล้านเหรียญ เมื่อต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา โดยมีกลุ่มธุรกิจและสัดส่วนรายได้ ดังนี้
1. Data Center (ฮาร์แวร์-ซอฟต์แวร์) 4,284 ล้านเหรียญ คิดเป็นสัดส่วนถึง 59.6%
ตัวอย่าง ผลิตภัณฑ์สร้างรายได้ NVIDIA L4 , NVIDIA H100 Tensor Core GPU, NVIDIA DGX™ H100
2. Gaming (เกมมิง) 2,240 ล้านเหรียญ คิดเป็นสัดส่วน 31.1%
ตัวอย่าง ผลิตภัณฑ์สร้างรายได้ GeForce RTX 4060, GeForce Now
3. Professional Visualization (งานภาพขั้นสูง) 295 ล้านเหรียญ คิดเป็นสัดส่วน 4.1%
ตัวอย่าง ผลิตภัณฑ์สร้างรายได้ NVIDIA RTX, NVIDIA Omniverse
4. Automotive (ยานยนต์) 296 ล้านเหรียญ คิดเป็นสัดส่วน 4.1%
ตัวอย่าง ผลิตภัณฑ์สร้างรายได้ Nvidia DRIVE Hyperion, NVIDIA DRIVE SDK
5. OEM & Others (อื่นๆ) 77 ล้านเหรียญ คิดเป็นสัดส่วน 1.1%
ปัจจัยหลักที่ทำให้ NVIDIA พุ่งสุดขีด คือ แรงหนุนจากความต้องการใช้งาน ชิป-แพลตฟอร์ม AI จากองค์กรธุรกิจและบริษัทด้านเทคโนโลยี โดยเฉพาะ ผู้บริโภครายใหญ่อย่าง OpenAI ที่ใช้ GPU สำหรับ Generative AI อยู่ถึง 10,000 ตัว อีกทั้งซุปเปอร์คอมพิวเตอร์หลายหมื่นตัวเพื่อเทรนด์โมเดล ขณะเดียวกันในฐานะกลุ่มชิปหรืออิเล็กทรอนิกส์มีอุปสงค์ที่พุ่งสูงและมีแนวโน้มจะมีอัตราการทำรายได้คงที่ในระยะยาว
สะท้อนจาก ธุรกิจเกมมิง งานภาพกราฟิก และยานยนต์ ล้วนเป็นอุตสาหกรรมที่มีการเร่งการยกระดับด้วยเทคโนโลยีจำนวนมากในช่วงที่ผ่านมา โดยการพัฒนาเหล่านี้ล้วนใช้ การออกแบบระบบ ฮาร์ดแวร์ประมวลผลขั้นสูง ซึ่งล้วนแล้วแต่ต้องใช้ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่มีคุณสมบัติ ประสิทธิภาพถึงเกณฑ์กำหนด ซึ่งแน่นอนว่า บริษัทที่ครอบครองเทคโนโลยีขั้นสูงมีเพียงไม่กี่ราย และหนึ่งในนั้น คือ NVIDIA ที่ตอบโจทย์ระดับอุตสาหกรรมในขณะนี้
ตัวอย่างกลุ่มธุรกิจที่ต้องพึ่งพา NVIDIA เช่น ผู้ให้บริการและจัดจำหน่ายคลาวด์ Amazon web service (AWS), Google Cloud, Microsoft Azure, Oracle Cloud, IBM, Dell Technologies, Lenovo บริษัทเทคโนโลยี อย่าง OpenAI , Microsoft หรือ Google
สายเกมมิงที่ปัจจุบันมีค่ายวิดีโอเกมที่พัฒนาร่วมกับ NVIDIA กว่า 400 เกมอย่าง DICE, epic games, Electronic Arts, Xbox, Nintendo, Sledgehammer Games, CD Projekt Red บริษัทภาพและงานออกแบบ เช่น เครือ Adobe After Effects, Lightroom Premiere Pro, Photoshop, Substance 3D, Autodesk, Getty Images, Shutterstock
และหมุดหมายล่าสุดอย่าง กลุ่มยานยนต์สันดาปตลอดจนยานยนต์ไฟฟ้าที่ NVIDIA พัฒนาอย่างเอาจริงเอาจัง ซึ่งปัจจุบันหลายแบรนด์ทั่วโลกที่ใช้เทคโนโลยีของ NVIDIA เช่น Xpeng, BYD, Hyundai, KIA, Mercedes Benz, BMW, Jaguar, Volvo
และนอกจากการประมวลผลคอมพิวเตอร์ขั้นสูง ผลิตภัณฑ์และโซลูชันประเภทต่างๆ ของ NVIDIA ยังถูกใช้งานในหลายอุตสาหกรรม เช่น การขุดคริปโตฯ เฮลท์แคร์ โรโบติกส์ ค้าปลีก และโลจิสติกส์ อีกด้วย