หากพูดถึง Nokia เชื่อว่าหลายคนจะนึกถึงแบรนด์โทรศัพท์มือถือที่เคยประสบความสำเร็จ เป็นเจ้าตลาดโทรศัพท์มือถือของโลกเมื่อ 20 กว่าปีที่แล้ว ที่ครองความเป็นหนึ่งด้วยด้วยดีไซน์แบบปุ่มกด และตัวเครื่องที่ทนทาน รวมถึงยังเป็นผู้บุกเบิกเทคโนโลยีที่เป็นฟีเจอร์พื้นฐานของโทรศัพท์มือถือในปัจจุบันอีกด้วย
ไม่ว่าจะเป็น การใส่กล้องถ่ายรูป ริงโทน เกมส์ หรือแม้แต่การมีเครือข่าย 3G ที่ทำให้ผู้ใช้งานสามารถท่องเว็บไซต์ ดาวน์โหลดเพลงบนโทรศัพท์มือถือได้
แต่แล้วการปรากฏตัวของของ iPhone และ Smartphone หลากหลายแบรนด์ที่มาพร้อมกับระบบปฏิการ Android ก็เข้ามาดิสรัปความนิยมของ Nokia แบบเต็มๆ จากตำแหน่งก็หลายเป็นแค่ตำนานในที่สุด
โทรศัพท์มือถือ Nokia กลายเป็นตำนานที่ได้รับการเล่าขานถึงอยู่บ่อยครั้ง แม้คนจะยังจำชื่อได้ แต่การใช้งานกลับเห็นได้ยากในยุคดิจิทัลเฉกเช่นปัจจุบัน จนกระทั่งล่าสุดเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา Nokia ได้ประกาศรีแบรนด์ภายใต้การบริหารของซีอีโอคนปัจจุบัน Pekka Lundmark เพื่อสลัดภาพจำบริษัทผลิตโทรศัพท์มือถือ และนำเสนอภาพลักษณ์ใหม่ที่มุ่งเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีโครงข่าย
ด้วยการบุกเบิกนวัตกรรมแห่งอนาคตเพื่อให้เทคโนโลยีโครงข่ายและระบบคลาวด์มาบรรจบกัน เรียกได้ว่าในเมื่อมือถือกลายเป็นแค่ตำนาน ก็ขอสลัดคราบเดิมพร้อมเผยโฉมความทันสมัยด้วยการเป็นโครงสร้างพื้นฐานแทนแล้วกัน
แต่กว่าจะมาถึงจุดนี้ ไม่ใช่เรื่องง่ายของ Nokia และการที่คงอยู่มาได้นานขนาดนี้ก็ได้ผ่านการทรานส์ฟอร์มมาครั้งแล้วครั้งเล่า Thairath Money จะพามาย้อนรอยประวัติ Nokia เพื่อให้เห็นภาพการเปลี่ยนผ่านธุรกิจชัดเจน รวมถึงรู้จัก Nokia ที่ไม่ใช่บริษัทผลิตมือถืออีกต่อไปกันมากขึ้น
Nokia เป็นบริษัทโทรคมนาคม สัญชาติฟินแลนด์ ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ.2408 โดย Fredrik Idestam นักธุรกิจและ วิศวกรเหมืองแร่ชาวฟินแลนด์ เริ่มแรกทำธุรกิจเกี่ยวกับโรงงานผลิตกระดาษ
ต่อมาจนกระทั่งปี พ.ศ. 2533 บริษัทได้เปลี่ยนโฟกัสมาทำธุรกิจโทรคมนาคม
ต่อมาในปี พ.ศ. 2535 ได้เปิดตัวโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ GSM เครื่องแรกของโลก และกลายมาเป็นผู้นำตลาดโทรศัพท์มือถือของโลกเมื่อปี พ.ศ. 2541 ครองส่วนแบ่งทางการตลาดกว่า 51%
แต่หลังจากการเปิดตัวของ iPhone และความนิยมของระบบปฏิบัติการ Android ยอดขายของ Nokia ก็ลดลงอย่างรวดเร็วเนื่องจากตามเทคโนโลยีของบริษัทคู่แข่งไม่ทัน
ทำให้ในปี พ.ศ. 2556 บริษัทตัดสินใจขายธุรกิจโทรศัพท์ภายใต้เครื่องหมายการค้า Nokia ให้กับบริษัท Microsoft มูลค่า 7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ต่อมาในปี พ.ศ. 2559 Microsoft ได้แบ่งขายสิทธิบัตรเทคโนโลยีกับชื่อแบรนด์ให้บริษัท HMD Global และธุรกิจฟีเจอร์โฟนให้ FIH Mobile Limited
และปัจจุบัน Nokia โฟกัสธุรกิจเกี่ยวกับการให้บริการโครงข่ายและขายอุปกรณ์ 5G ให้กับบริษัทต่างๆ ทั่วโลก
โดยในปีที่ผ่านมาสามารถทำยอดขายรวมประมาณ 9 แสนล้านบาท (24,911 ล้านยูโร) โดยรายได้หลักมาจาก 5 หน่วยธุรกิจ ดังนี้
เครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Mobile Network)
สร้างผลิตภัณฑ์และบริการที่ครอบคลุมเทคโนโลยีมือถือทุกรุ่น ประกอบไปด้วยผลิตภัณฑ์ โครงข่ายการเข้าถึงผ่านการรับส่งทางคลื่นวิทยุ (Radio Access Network) และคลื่นวิทยุความถี่สูง (Microwave radio) รวมถึงบริการโซลูชันการจัดการเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนการวางแผนและการเพิ่มประสิทธิภาพเครือข่าย การปรับใช้เครือข่าย และบริการสนับสนุนด้านเทคนิค ในปี 2565 รายได้เติบโตขึ้น 10% จากการลงทุนวิจัยเพื่อยกระดับการพัฒนาผลิตภัณฑ์
โครงสร้างเครือข่ายพื้นฐาน (Network infrastructure)
ให้บริการโครงสร้างเครือข่ายพื้นฐานแก่ลูกค้าทั้งในระดับองค์กร หน่วยงานรัฐบาล หรือผู้ให้บริการสร้างระบบฐานข้อมูล (Web scaler) เพื่อสร้างการเชื่อมต่อและสื่อสารข้อมูลภายในองค์กร ประกอบด้วย 5 บริการ ได้แก่ การเชื่อมต่อเครือข่ายแบบมีสาย, IP Network, การเชื่อมต่อเครือข่ายใยแก้วนำแสง และการเชื่อมต่อเครือข่ายใต้มหาสมุทร ช่วยเปลี่ยนผ่านองค์กรไปสู่ระบบคลาวด์ เครือข่าย 5G และ Metaverse เพื่อตอบสนองความต้องการทางธุรกิจ ในปี 2565 รายได้เติบโตขึ้น 18% จากบริการการเชื่อมต่อเครือข่ายแบบมีสายและการเชื่อมต่อเครือข่ายใต้มหาสมุทร
บริการระบบคลาวด์และเครือข่าย (Cloud and Network Service)
บริการคลาวด์โซลูชันที่ผสมผสานความรู้ด้านซอฟต์แวร์ขั้นสูง ความเชี่ยวชาญด้านคลาวด์และเครือข่ายหลัก ของ Nokia เข้ากับเทคโนโลยี 5G, Core, IoT เพื่อช่วยลูกค้าในการหาโอกาสต่อยอดและเปลี่ยนผ่านธุรกิจไปสู่ 3 อุตสาหกรรม ได้แก่ ธุรกิจเครือข่าย 5G, แพลตฟอร์มและซอฟต์แวร์การสื่อสารผ่านระบบคลาวด์ และโมเดลธุรกิจแบบ as-a-service เพิ่มศักยภาพองค์กรให้สามารถแข่งขันในยุคดิจิทัลได้ รายเติบโต 8% จากการปรับสมดุลธุรกิจมุ่งสู่การเพิ่มมูลค่าให้กับลูกค้าและพาร์ตเนอร์
นวัตกรรมโนเกีย (Nokia Technologies)
Nokia Technologies เป็นผู้รับผิดชอบ จัดการพอร์ตโฟลิโอสิทธิบัตร และสร้างรายได้จากทรัพย์สินทางปัญญาของ Nokia ไม่ว่าจะเป็นสิทธิบัตร เทคโนโลยี หรือเครื่องหมายการค้า ช่วยสร้างการเติบโตอย่างต่อเนื่องผ่านการลงทุนระยะยาวในการวิจัยและการพัฒนาเพื่อขับเคลื่อนมาตรฐานเทคโนโลยี และรักษาความเป็นผู้นำด้านนวัตกรรม
อ้างอิง theguardian , bbc , techcrunch , statista , nokia 1 2