จากปัญหาโปรแกรมออกแบบที่มักจะมีความซับซ้อน ราคาแพง และต้องอาศัยความเชี่ยวชาญในการรังสรรค์งานดีไซน์ให้ออกมาดี ทำให้ใครหลายคนอาจรู้สึกว่างานออกแบบเป็นเรื่องยาก
บทความนี้ Thairath Money จะพาไปรู้จักกับ Canva หนึ่งในสตาร์ทอัพที่ตั้งใจเข้ามาทำให้งานออกแบบเป็นเรื่องง่ายสำหรับคนทั่วไป จนกลายมาเป็นหนึ่งในสตาร์ทอัพโตเร็วที่สุดในประวัติศาสตร์
Canva เป็นสตาร์ทอัพสัญชาติออสเตรเลียที่เกิดจากผู้ร่วมก่อตั้งสามคน ประกอบไปด้วย Melanie Perkins, Cliff Obrecht และ Cameron Adams โดยมีจุดเริ่มต้นจากการที่ Melanie ผู้เป็นซีอีโอได้เห็นปัญหาที่หลายคนมักพบเจอเกี่ยวกับงานออกแบบกราฟิกที่มีความซับซ้อนและต้องใช้เวลา
จึงเกิดเป็นไอเดียในการทำแพลตฟอร์มออนไลน์ที่จะทำให้ทุกคนสามารถออกแบบกราฟิกได้โดยไม่จำเป็นต้องมีความเชี่ยวชาญ โดยเธอได้เริ่มต้นธุรกิจแรกในปี 2007 ขณะที่ยังคงเป็นนักศึกษาในมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นบริการแพลตฟอร์มที่ใช้ในการออกแบบหนังสือรุ่นสำหรับเด็กนักเรียนที่ชื่อว่า “Fusion Books” ร่วมกับ Cliff
จนกระทั่งในปี 2013 ได้มีการรีแบรนด์ Fusion Books มาสู่ Canva พร้อมเปิดตัวในฐานะแพลตฟอร์มออกแบบกราฟิกอย่างเต็มรูปแบบ ซึ่ง Canva ก็ได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว และเป็นที่ยอมรับในหมู่นักออกแบบ นักการตลาด ไปจนถึงเหล่าผู้ประกอบการ
ซึ่งความสำเร็จของ Canva นั้นมาจากการออกแบบ UI ที่ใช้งานง่าย มีเทมเพลตให้เลือกหลายแบบทำให้คนสามารถเข้าถึงงานออกออกแบบกราฟิกได้มากขึ้นกว่าเดิม และเป็นเครื่องมือออกแบบกราฟิกที่ได้เข้ามาปฏิวัติอุตสาหกรรมทำให้ทุกคนเข้าถึงการออกแบบระดับมืออาชีพได้
ปัจจุบัน Canva ยังเป็นเครื่องมือออกแบบที่บริษัท Fortune 500 มากกว่า 90% เลือกใช้ รวมถึงมีผู้ใช้งานมากกว่า 170 ล้านคนในกว่า 190 ประเทศทั่วโลก และยังเป็นที่นิยมของคน GenZ จนกลายเป็นเรื่องล้อกันขำๆ ว่าเป็นเครื่องมือบ่งบอกอายุเลยทีเดียว
ขณะเดียวกันก็ได้รับความไว้วางใจจากนักลงทุนจนสามารถระดมทุนได้กว่า 581 ล้านดอลลาร์ (หรือประมาณ 2 หมื่นล้านบาท) จากทั้งหมด 17 รอบ โดยผู้ลงทุนกว่า 48 ราย รวมไปถึง Sequoia Capital, Blackbird Ventures และ Felicis Ventures
โดยในรอบล่าสุด Canva คาดว่าจะระดมทุนได้มากกว่า 1.5 พันล้านดอลลาร์ (หรือประมาณ 5.4 หมื่นล้านบาท) ผ่านการขายหุ้นโดยกลุ่มนักลงทุน ซึ่งรวมไปถึงอดีตพนักงานและพนักงานปัจจุบัน และจะทำให้บริษัทมีมูลค่าใกล้เคียงกับรอบก่อนหน้าอยู่ที่ราว 2.6 หมื่นล้านดอลลาร์ (หรือประมาณ 9.4 แสนล้านบาท) ภายใต้ดำเนินการโดย Goldman Sachs และได้ทำให้ Canva ถือเป็นหนึ่งในสตาร์ทอัพที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในประวัติศาสตร์
และเมื่อไม่นานมานี้ Canva พึ่งเข้าซื้อ Affinity ผู้ให้บริการชุดซอฟต์แวร์ออกแบบกราฟิกสัญชาติอังกฤษที่มีผู้ใช้งานมากกว่า 3 ล้านคนทั่วโลก
ซึ่งจะทำให้ Canva ขยายการเข้าถึงไปสู่กลุ่มนักออกแบบมืออาชีพจากเดิมที่เน้นให้บริการผู้ใช้ที่ไม่จำเป็นต้องมีทักษะการออกแบบ และนักวิเคราะห์ยังชี้ว่าความร่วมมือกับ Affinity จะทำให้สามารถสู้กับ Adobe ได้ดียิ่งขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับ ‘Adobe Express’
ขณะที่จุดแข็งขันของทั้งสองบริษัทในยุคนี้คือการผสาน AI เพื่อยกระดับการใช้งาน ซึ่ง Canva ก็ได้นำเสนอเครื่องมือ AI เพื่อยกระดับแพลตฟอร์มสู้กับ Adobe และทำให้มีผู้ใช้เพิ่มขึ้นถึง 65 ล้านคนในปี 2022 ด้วยอานิสงส์จากฟีเจอร์ AI
สำหรับข้อมูลรายได้ของ Canva นั้นไม่ได้รับการเปิดเผยสู่สาธารณะแต่สำนักข่าว Bloomberg ได้รายงานอ้างอิงแหล่งข่าวไม่เปิดเผยตัวตนว่า Canva ทำรายได้ในปีที่ผ่านมาได้มากกว่า 2 พันล้านดอลลาร์ (หรือประมาณ 7.2 หมื่นล้านบาท)
และวิธีการดำเนินธุรกิจของ Canva จะเป็นแบบ Freemium Model ซึ่งเป็นโมเดลธุรกิจที่มีกลยุทธ์ดึงดูดผู้ใช้จากการให้บริการพื้นฐานแบบไม่มีค่าใช้จ่ายแต่หากต้องการบริการพรีเมียมจะต้องเสียค่าบริการ ซึ่งเป็นกลยุทธ์ที่หลายบริษัทเทคเลือกใช้เพื่อดึงลูกค้า ไม่ว่าจะเป็น Spotify, YouTube, Linkedin หรือ Zoom เป็นต้น
โดยทั่วไป Canva จะเปิดให้ใช้งานได้ฟรี และหากต้องการปลดล็อกเครื่องมือและฟีเจอร์บางอย่างก็จะมีแพ็กเกจ Canva Pro ในราคาเดือนละ 229 บาท สำหรับการใช้งาน 1 บัญชี และแพ็กเกจราคาเดือนละ 458 บาทสำหรับการเป็นทีม แต่หากมีสถานะเป็นนักเรียนหรือครูก็จะสามารถใช้งานได้ฟรี
นอกจากนี้ Canva ยังทำเงินได้จาก Canva Enterprise และ Canva Print ที่ผู้ใช้สามารถสั่งทำการ์ด โปสเตอร์ บัตรเชิญ ไปจนถึงพิมพ์ลายลงบนเสื้อยืดพร้อมบริการจัดส่งถึงบ้าน
ขณะเดียวกันก็มี Marketplace ให้สำหรับคนที่อยากใช้งานออกแบบระดับพรีเมียมแบบครั้งเดียวโดยจะเรียกเก็บเงินเป็นรายครั้ง ซึ่ง Canva จะเก็บ 35% และแบ่งส่วนต่างที่เหลือให้กับดีไซเนอร์ ขณะที่งานขายในแพ็กเกจ Pro ครีเอเตอร์เจ้าของงานจะได้รับส่วนแบ่ง 50% จากรายได้สุทธิ
อ้างอิง