สำนักข่าว Nikkei Asia ระบุถึงความล้มเหลวในการพาบริษัทเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ด้วยวิธีการ SPAC รวมถึงความสนใจที่ลดน้อยลงในสิงคโปร์ และฮ่องกง ช่วงสองปีที่ผ่านมา ซึ่งครั้งหนึ่งเคยได้รับความนิยมอย่างมากจากเหล่าบริษัทสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีและบริษัทอื่นๆ ที่ใช้วิธีการดังกล่าวในการนำบริษัทเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ประเทศอื่น เช่น สหรัฐอเมริกา เป็นต้น
โดย “SPAC” หรือ Special Purpose Acquisition Company คือ วิธีการเสนอขายหุ้นต่อสาธารณะเพื่อนำใช้ดำเนินธุรกิจ โดยการจัดตั้งบริษัทขึ้นมาใหม่เพื่อนำเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ โดยบริษัทเหล่านี้จะอยู่ในฐานะ ‘บริษัทเช็คเปล่า’ หรือ Blank-Check Company ซึ่งไม่มีสินทรัพย์ และไม่จำเป็นต้องมีการดำเนินธุรกิจริง หรืออาจจัดตั้งขึ้นโดยมีจุดประสงค์เพื่อใช้เงินทุนเข้าซื้อธุรกิจ หรือควบรวมกิจการอื่น
ซึ่ง ‘สิงคโปร์’ และ ‘ฮ่องกง’ นับเป็นศูนย์กลางทางการเงินขนาดใหญ่ในภูมิภาคเอเชีย และยังขึ้นชื่อว่าเป็นสองประเทศที่เป็นศูนย์รวมของบริษัทที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อวิธีการ SPAC โดยเฉพาะ
อย่างไรก็ตามพบว่าในปี 2566 กลับไม่มีการเปิดตัวบริษัท SPAC ใหม่ๆ ในสิงคโปร์ และฮ่องกงโดยสิ้นเชิง จากข้อมูลของ LSEG ผู้ให้บริการข้อมูลด้านตลาดการเงิน ระบุว่า สิงคโปร์ไม่มีการเปิดตัวบริษัทใหม่หลังจากปี 2565 โดยปัจจุบันมีจำนวนทั้งสิ้น 3 ราย ได้แก่ Pegasus Asia, Novo Tellus Alpha Acquisition และ VTAC หรือ Vertex Technology Acquisition ที่เผชิญกับความล้มเหลวและผ่านการคืนเงินที่ได้จากการเสนอขายหุ้น IPO คืนให้กับนักลงทุน
เช่นเดียวกับฮ่องกงที่ไม่มีบริษัทใหม่เปิดตัวอีกเลยตั้งแต่ปี 2565 โดยบริษัท SPAC ที่จดทะเบียนในตลาดฮ่องกงรายล่าสุด คือ TechStar Acquisition ซึ่งหากรวมกับที่เปิดตัวก่อนหน้านี้จะมีจำนวนทั้งหมด 5 ราย ได้แก่ Aquila Acquisition, Vision Deal HK Acquisition, HK Acquisition และ Interra Acquisition
ด้านนักวิเคราะห์ตั้งข้อสังเกตหลักประการแรก คือ ความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นของนักลงทุน โดยมีการกล่าวถึงประเด็นของบรรดาสตาร์ทอัพที่สามารถเข้าเสนอขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์สหรัฐฯ ผ่านวิธีการ SPAC สำเร็จก่อนหน้านี้ ที่ถูกตั้งคำถามถึงความโปร่งใสของผลการนำเสนอเอกสารต่างๆ สำหรับชี้แจงข้อมูลสำคัญต่อตลาดหลักทรัพย์
เพราะการระดมทุนผ่าน SPAC ได้ลดขั้นตอนซับซ้อนด้านกฎระเบียบในการตรวจสอบ ไม่ว่าจะเป็นการยื่นเอกสารคำขอจดทะเบียนต่อตลาดหลักทรัพย์ ข้อมูลการดำเนินกิจการ คำขอจดทะเบียนต่อตลาดหลักทรัพย์ รวมถึงการเปิดเผยงบการเงิน ก่อนเข้าสู่ขั้นตอนการเสนอขาย ซึ่งทำให้นักลงทุนต้องแลกมากับการพิจารณาความน่าเชื่อของดีล นักลงทุนที่ลงทุนกับบริษัท SPAC จะกลายเป็นผู้แบกรับความเสี่ยงด้านเงินทุนทันที หากบริษัทนั้นไม่ได้เติบโตตามคาด
นอกจากนี้ ปัจจัยหลักที่สอง คือ การชะลอตัวทางเศรษฐกิจของจีน และภาคอสังหาริมทรัพย์ที่มีปัญหาในจีน ทำให้นักลงทุน และตลาด เพิ่มความระมัดระวัง รวมถึงปัจจัยระดับโลก โดยเฉพาะการกำหนดทิศทางด้วยการขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นเพื่อลดอัตราเงินเฟ้อของธนาคารกลางสหรัฐฯ เป็นผลให้ธนาคารกลางแต่ละประเทศปรับนโยบายการเงินของตนตามความเหมาะสม ส่งผลกระทบต่อการจำกัดสภาพคล่องและมูลค่าตลาดที่ลดลงอย่างรวดเร็ว.
อ้างอิง : Nikkei Asia
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ - https://www.facebook.com/ThairathMoney