สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เผย เป้าหมายดันผู้ประกอบการนวัตกรรมไทยสู่ตลาดโลก เร่งปรับกลไกด้านข้อกฎหมายและกลไกด้านการเงินร่วมกับ VC ช่วยให้เกิดยูนิคอร์นไทยตัวใหม่ ดันร่าง ‘พ.ร.บ.ส่งเสริมสตาร์ทอัพแห่งชาติ’ ให้เกิดขึ้นภายในปีนี้ เพื่อสร้างอีโคซิสเต็มส่งเสริมสตาร์ทอัพไทยที่ครบวงจร
ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) เปิดเผยว่า ปี 2567 จะมีการลงทุนในสตาร์ทอัพไทยประมาณ 2-3 หมื่นล้านบาท จากนักลงทุนในไทยและต่างประเทศรวมกัน โดยในปีที่ผ่านมาประเทศไทยมีดีลการลงทุนที่เกิดขึ้นประมาณ 15 ดีล รวมมูลค่าราวๆ 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 1.78 หมื่นล้านบาท มองตลาดภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะฟื้นตัวและเติบโตมากขึ้น ประเทศไทยจะเป็นตลาดที่มีศักยภาพในการลงทุนสูง
“ปัจจุบัน ประเทศไทยมีสตาร์ทอัพจำนวน 2,100 ราย แบ่งเป็นระยะ Pre-seed 700 ราย และระยะที่กำลังเข้าสู้ตลาด หรือมีธุรกิจที่เติบโตแล้วระยะหนึ่งอีก 1,400 ราย ซึ่งเป็นจำนวนที่มากที่สุดในภูมิภาค จุดแข็งของเรา คือ ขนาดของตลาดที่ใหญ่เพียงพอสำหรับการเริ่มต้นธุรกิจ การจัดตั้งธุรกิจและค่าใช้จ่ายในการดำเนินธุรกิจมีความสะดวกและคุ้มค่า มีโครงสร้างพื้นฐานที่พร้อมใช้งานสำหรับธุรกิจเทคโนโลยี อีกทั้งยังมีตลาดหลักทรัพย์ที่มีการแข่งขันสูงที่สุดในโลก ในเรื่องจุดแข็งของการประเมินมูลค่าและสภาพคล่อง และสตาร์ทอัพมีราคาการลงทุนยังไม่สูง เมื่อเปรียบเทียบกับคู่แข่งจากต่างประเทศ”
โดยในปี 2567 แนวโน้มการเติบโตของเทคโนโลยี AI จะเป็นอุตสาหกรรมที่ดึงดูดการลงทุนสูงสุด ซึ่งไทยมีการนำ AI มาใช้ในประเทศไทยจำนวนมาก ทั้งการวิเคราะห์ธุรกิจ อุตสาหกรรมการเงิน การปรับปรุงกระบวนการทางการแพทย์ การใช้ประโยชน์ด้านการศึกษา และโรงงานอุตสาหกรรม โดยมีการคาดการณ์แนวโน้มของมูลค่าทางธุรกิจที่จะสูงขึ้นมากกว่า 6,000 ล้านบาท
เมื่อถามว่า สตาร์ทอัพยุคแรกๆ อย่าง FinTech หรือเทคโนโลยีด้านการเงิน ที่เป็นผู้จุดกระแสวงการสตาร์ทอัพในประเทศไทยตั้งแต่ 8 ปีก่อน เพราะนับเป็นอุตสาหกรรมแรกๆ ที่เข้ามาและมีการเติบโตสูงในประเทศไทย ดร.กริชผกา กล่าวว่า “FinTech เกิดไม่น้อยแต่ตายเยอะ อย่างไรก็ดี สตาร์ทอัพ FinTech ไทยยังมีโอกาสเติบโตสูงในยุคนี้ และยังมีศักยภาพเป็น Rising Star ของประเทศไทย”
ดร.กริชผกา กล่าวเสริมว่า ปัจจุบันมีสตาร์ทอัพฟินเทคในระดับ Seed กับ Series A มีจำนวนน้อยลง ซึ่งเป็นผลจากอุปสรรคด้านการเติบโตจากการขาดแหล่งเงินทุน ทำให้มีวงจรการดำเนินงานในระยะเวลาแค่ไม่กี่ปี ทำให้หน่วยงานสนับสนุนจากภาครัฐ พยายามสร้างกลไกด้านเงินทุน เพื่อสร้างเม็ดเงินช่วยเหลือสตาร์ทอัพในระยะดังกล่าว
ทั้งนี้ ดร.กริชผกา ระบุว่า งบประมาณปี 67 NIA ได้รับเงินทุนทั้งสิ้น 1,150 .92 ล้านบาท ซึ่งเป้าหมายหลักในปี 2567 อันดับแรก คือ การมองหาตลาดให้กับสตาร์ทอัพไทย เพิ่มโอกาสการหาเงินทุน มีพื้นที่นำเสนอนวัตกรรมและเจาะกลุ่มผู้ใช้งานที่ตอบโจทย์มากขึ้น โดยยกตัวอย่างการพาสตาร์ทอัพไทยสาย AgriTech ไปเปิดตลาดที่แอฟริกาใต้ และสาย Medical Tech ที่กำลังเป็นที่ต้องการในประเทศญี่ปุ่น
และสอง คือ การวางกลยุทธ์ด้านการเงิน เพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการนวัตกรรม ทั้งภายใต้กระทรวง อว. และนอกเหนือจากกระทรวง พร้อมด้วยการสร้างกลไกหรือระบบนิเวศเพื่อเชื่อมโยงระหว่างผู้ให้ทุนประเภทต่างๆ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับระบบนิเวศสตาร์ทอัพไทยด้วย
โดย ดร.กริชผกา เปิดเผยถึงโครงการใหม่ที่จะเป็นกลไกช่วยยกระดับสตาร์ทอัพไทย ได้แก่ “Matching Fund” เงินสนับสนุนในรูปแบบ Recovery Grant หรือสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำที่เป็นความร่วมมือระหว่างรัฐและเอกชน นำโดยนักลงทุน VC โดยมี Bucket Size เงินทุนที่มอบให้มากสุดที่ 20 ล้านบาท ซึ่งปัจจุบันมี VC ที่ให้ความสนใจแล้ว 3 เจ้า ได้แก่ Innospace, Beacon และ KrungSri Finnovate
นอกจากนี้ ยังเปิดเผยถึงการปรับปรุงกลไกด้านข้อกฎหมาย ซึ่งกำลังเร่งผลักดัน ‘พ.ร.บ.ส่งเสริมสตาร์ทอัพแห่งชาติ’ ให้เกิดขึ้นได้ภายในปีนี้ เพื่อสร้างความเชื่อมโยงการทำงานที่ชัดเจนขึ้นระหว่างหน่วยงานรัฐและเอกชนในเชิงบูรณาการ ลดความทับซ้อนของการทำงาน และกระจายการสนับสนุนอย่างทั่วถึง โดยคาดหวังให้เกิดการกระจายการพัฒนาของนวัตกรรม และจำนวนผู้ประกอบการที่มากขึ้นในภูมิภาคต่างๆ ของประเทศ ซึ่งทั้งหมดจะนำไปสู่กลไกช่วยให้เกิดยูนิคอร์นตัวใหม่ๆ ในประเทศไทย
ล่าสุด ดร.กริชผกา เปิดเผยว่า NIA ยังมีส่วนร่วมให้คำปรึกษากับ LINE MAN Wongnai ในการเข้าเสนอขายหุ้นต่อสาธารณะใน SET หรือตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งนับเป็น Tech Firm รายแรกอีกด้วย
สำหรับอุตสาหกรรมที่โดดเด่นมาแรง และมีโอกาสดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติ 5 อันดับแรก ได้แก่ กลุ่มเทคโนโลยีการเกษตร (AgriTech), เทคโนโลยีการแพทย์ (Health Tech), เทคโนโลยีด้านการท่องเที่ยว (Tourism Tech), เทคโนโลยีด้านสภาพภูมิอากาศ (Climate Tech) ทั้งสายพลังงานทดแทน ยานยนต์ไฟฟ้า และ ESG ที่ปัจจุบันคือเทรนด์ระดับโลก รวมถึงเทคโนโลยีที่ช่วยผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ (Culture Tech) หรือนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับสื่อ และความสร้างสรรค์ นวัตกรรมที่ช่วยเสริมการผลิตสินค้าหรือบริการของไทย เช่น อาหาร เครื่องดื่ม ยา สมุนไพร ซึ่งมองว่าจะเป็นกลุ่มที่จะสร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยได้สูงในปีนี้
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ - https://www.facebook.com/ThairathMoney