WeWork อดีตยูนิคอร์นลวงโลก ตกอยู่ในภาวะเสี่ยง ‘ล้มละลาย’

Tech & Innovation

Startup

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

WeWork อดีตยูนิคอร์นลวงโลก ตกอยู่ในภาวะเสี่ยง ‘ล้มละลาย’

Date Time: 9 ส.ค. 2566 14:51 น.

Video

สาเหตุที่ทำให้ Intel อดีตยักษ์ใหญ่ชิปโลก ล้าหลังยุค AI | Digital Frontiers

Summary

  • WeWork ธุรกิจ Coworking Space ที่เคยมีมูลค่าบริษัทประมาณ 1.39 ล้านล้านบาท ระบุในเอกสารที่ยื่นต่อ ก.ล.ต. สหรัฐฯ ว่าขณะนี้บริษัทอยู่ในภาวะเสี่ยงที่จะล้มละลายจากกระแสเงินสดติดลบ ซึ่งนำไปสู่ข้อกังขาเกี่ยวกับความสามารถในการทำงานของบริษัทต่อจากนี้

Latest


หลายคนคงจำ WeWork สตาร์ทอัพระดับยูนิคอร์นที่ถูกตีแผ่อดีตสุดขมขื่น จากปัญหาด้านโมเดลธุรกิจและการบริหารงานภายใน ที่ตัวเลขนั้นลวงโลก ซึ่งเรื่องราวก็ได้กลายเป็นมหากาพย์วงการสตาร์ทอัพที่ทำเอาถอดบทเรียนออกมาเป็นหนังสือเล่มหนึ่งเลยทีเดียว (สามารถหาอ่านเรื่องราวนี้ได้ในหนังสือที่ชื่อว่า The Cult of We : Wework and the Great Start-Up Delusion)

แม้ว่าในที่สุดจะถูกผลักดันจนสามารถเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯได้แล้วนั้น แต่ก็ไม่ได้รอดไปตลอด เพราะล่าสุด WeWork ก็ได้ตกอยู่ในภาวะเสี่ยงล้มละลายอีกครั้ง หลังได้รับการเปิดเผยในการยื่น Filing หรือแบบแสดงข้อมูลรายการการซื้อขายหลักทรัพย์ ต่อ ก.ล.ต.สหรัฐฯ 

โดยมีข้อความระบุว่า บริษัทมีกระแสเงินสดติดลบจากการดำเนินงานทำให้เกิดความข้อกังขาอย่างมากเกี่ยวกับความสามารถในการทำงานของ WeWork

ความล้มเหลวของ WeWork ซึ่งเป็นบริษัทที่ครั้งหนึ่งเคยมีมูลค่าธุรกิจถึง 4 หมื่นล้านดอลลาร์ (หรือประมาณ 1.39 ล้านล้านบาท) จากการลงทุนของ SoftBank นั้น เกิดขึ้นมาเป็นเวลาหลายปีแล้ว ซึ่งทำให้ WeWork ติดหนี้จำนวนมหาศาลและต้องดิ้นรนเพื่อเพิ่มกระแสเงินสด

โดยบริษัทกล่าวว่าหากไม่ประสบความสำเร็จในการปรับปรุงสภาพคล่อง และความสามารถในการทำกำไรจากการดำเนินงาน อาจต้องพิจารณาปรับโครงสร้างหนี้ รวมถึงชะลอกิจกรรมทางธุรกิจ หรือขายสินทรัพย์ ตลอดจนรับการผ่อนปรนตามกฎหมายล้มละลายของสหรัฐฯ 

และตั้งแต่ช่วงกลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมา หุ้นของ WeWork มีราคาซื้อขายต่ำกว่า 1 ดอลลาร์ โดยร่วงลง 26% เหลือ 15 เซนต์ หลังปิดตลาด และปัจจุบันมีมูลค่าตลาด (Market Cap) ต่ำกว่า 500 ล้านดอลลาร์ (หรือประมาณ 1.74 หมื่นล้านบาท)

และมีผลขาดทุนสุทธิช่วงครึ่งแรกของปีอยู่ที่ 700 ล้านดอลลาร์ (หรือประมาณ 2.44 หมื่นล้านบาท) หลังขาดทุน 2.3 พันล้านดอลลาร์ (หรือประมาณ 8.04 หมื่นล้านบาท) เมื่อปี 2022 

โดย ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2566 มีเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดอยู่ที่ 205 ล้านดอลลาร์ (หรือประมาณ 7.16 พันล้านบาท) และมีสภาพคล่องรวม 680 ล้านดอลลาร์ (หรือประมาณ 2.37 หมื่นล้านบาท) และมีหนี้ระยะยาว 2.91 พันล้านดอลลาร์ (หรือประมาณ 7.65 หมื่นล้านบาท)

นอกจากนี้ WeWork ยังประสบปัญหาการลาออกของกรรมการบริษัท เนื่องจากความไม่ลงรอยเกี่ยวกับกรอบการบริหารและทิศทางกลยุทธ์ ซึ่งปัจจุบันบริษัทก็ยังคงมองหาผู้นำหลังจากซีอีโอ Sandeep Mathrani ลงจากตำแหน่งไปเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา และแต่งตั้งผู้บริหารชั่วคราวขึ้นมาแทน 

ทั้งนี้ ฝ่ายบริหารของ WeWork ได้สรุปแผนในการปรับปรุงสถานะทางการเงินของบริษัท โดยระบุว่าความสามารถในการดำเนินธุรกิจขึ้นอยู่กับความสำเร็จในการดำเนินธุรกิจในอีก 12 เดือนถัดไป

อ้างอิง


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ