NIA เผย ไทย ได้เลื่อนอันดับ ประเทศที่มีระบบนิเวศทางสตาร์ทอัพดีที่สุดในโลก

Tech & Innovation

Startup

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

NIA เผย ไทย ได้เลื่อนอันดับ ประเทศที่มีระบบนิเวศทางสตาร์ทอัพดีที่สุดในโลก

Date Time: 20 มิ.ย. 2566 14:00 น.

Video

3 มาตรการใหม่ ตลาดหลักทรัพย์ฯ คุมหุ้นร้อนผิดปกติ | Money Issue

Summary

  • ไทยเลื่อนขึ้นอยู่ในอันดับ 52 ของประเทศที่มีระบบนิเวศทางสตาร์ทอัพที่ดีที่สุดในโลก สูงกว่าปีที่แล้ว 1 อันดับ และถือเป็นอันดับ 4 ของอาเซียน รองจากสิงคโปร์ โดยมี "กรุงเทพฯ" เป็นเมืองศูนย์กลางด้านสตาร์ทอัพของประเทศ ที่สามารถเติบโตได้อย่างก้าวกระโดดจากปี 2565 ขยับเป็นอันดับที่ 74 ของโลก แซงกัวลาลัมเปอร์ มาเลเซีย

Latest


สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เผย ผลการจัดอันดับดัชนีระบบนิเวศทางสตาร์ทอัพโลก ประจำปี 2566 (Global Startup Ecosystem Index 2023) จัดทำโดย StartupBlink ศูนย์กลางข้อมูลด้านระบบนิเวศสตาร์ทอัพที่ครอบคลุมทั่วโลกที่ได้มีการจัดอับดับ 100 ประเทศ และ 1,000 เมืองที่มีระบบนิเวศทางสตาร์ทอัพที่ดีที่สุด 

ระบุว่า ภาพรวมในปีนี้ประเทศไทยเลื่อนขึ้นอยู่ในอันดับ 52 ของประเทศที่มีระบบนิเวศทางสตาร์ทอัพที่ดีที่สุดในโลก สูงกว่าปีที่แล้ว 1 อันดับ และถือเป็นอันดับ 4 ของอาเซียน รองจากสิงคโปร์ (อันดับ 6) อินโดนีเซีย (อันดับ 41) มาเลเซีย (อันดับ 43) ตามมาด้วยเวียดนาม (อันดับ 58) และฟิลิปปินส์ (อันดับ 59)

โดยมี "กรุงเทพฯ" เป็นเมืองศูนย์กลางด้านสตาร์ทอัพของประเทศ ที่สามารถเติบโตได้อย่างก้าวกระโดดจากปี 2565 ขยับเป็นอันดับที่ 74 ของโลก แซงกัวลาลัมเปอร์ มาเลเซีย โดยมีความโดดเด่นด้านอุตสาหกรรมการขนส่ง (Transportation) ที่สามารถรักษาอันดับที่ 43 ของโลกด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ ยังมีอีก 3 จังหวัดที่ติดใน 1,000 อันดับแรกของเมืองที่มีระบบนิเวศสตาร์ทอัพที่ดีที่สุดด้วยเช่นกัน ได้แก่ เชียงใหม่ ที่อยู่ในอันดับ 591 ตามด้วยภูเก็ต อันดับ 640 และพัทยา อันดับที่ 849

ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า ถือเป็นเรื่องน่ายินดีสำหรับวงการนวัตกรรมและสตาร์ทอัพของไทย หลายสิบปีที่ผ่านมา ประเทศไทยได้ก้าวข้ามไปสู่การเป็นประเทศที่มีการพัฒนาทางเศรษฐกิจมากขึ้น ผ่านการปฏิรูป ผลักดันการสร้างนวัตกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างต่อเนื่อง ประเทศไทยไม่ได้ดึงดูดแค่เฉพาะนักท่องเที่ยว แต่ยังสามารถดึงดูดกลุ่มดิจิทัลนอแมด (Digital Nomad) ที่ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในเชียงใหม่ และกรุงเทพฯ ซึ่งจะทำให้เกิดการเชื่อมโยงองค์ความรู้ระดับนานาชาติ ส่งผลให้เกิดธุรกิจ และโครงการต่างๆ ตามมา

“ไม่กี่ปีที่ผ่านมาประเทศไทยมียูนิคอร์นเกิดขึ้นหลายราย ไม่ว่าจะเป็น Line Man, Wongnai, Flash Express, และ Ascend Money และเราหวังว่าจะได้เห็นยูนิคอร์นรายต่อๆ ไปในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า พร้อมก้าวสู่การเป็น Startup Nation อย่างเต็มตัว โดยสิ่งนี้ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วนเพื่อสร้างนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ และเร่งเสร้างการปรับเปลี่ยนเพื่อให้เกิดการใช้และขยายผลนวัตกรรม” 

ดร.พันธุ์อาจ กล่าวว่า NIA มุ่งมั่นพัฒนาให้ไทยเป็นพื้นที่สำหรับสตาร์ทอัพและนักลงทุนจากทั่วโลก ผ่านการจัดตั้งศูนย์กลางสตาร์ทอัพระดับโลก (Global Startup Hub) ใน 3 พื้นที่ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ และเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกหรือ EEC เพื่อรองรับสตาร์ทอัพและนักลงทุนทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ

สำหรับเมืองทั้ง 4 ที่ติดอันดับนั้น NIA ได้มีการลงพื้นที่ส่งเสริมการพัฒนาด้านนวัตกรรมตลอดมา กรุงเทพฯ มีการพัฒนาย่านนวัตกรรม 4 แห่ง ได้แก่ ย่านนวัตกรรมการแพทย์โยธี (YMID) ย่านนวัตกรรมไซเบอร์เทค ย่านนวัตกรรมอารีย์ และย่านนวัตกรรมกล้วยน้ำไท (KIID) เชียงใหม่ มีการพัฒนาย่านนวัตกรรม 2 ย่าน ได้แก่ ย่านนวัตกรรมการแพทย์สวนดอก (SMID) และย่านนวัตกรรมเกษตรและอาหารแม่โจ้ (MAID) 

นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาย่านนวัตกรรมใกล้เคียงในพื้นที่ EEC ได้แก่ ย่านนวัตกรรมบ้านฉาง จังหวัดระยอง แม้ใน ภูเก็ต จะยังไม่มีการพัฒนาย่านนวัตกรรมในพื้นที่ แต่มีการสนับสนุนด้านนวัตกรรม ได้แก่ การจัดกิจกรรม Open Innovation Road Show ภาคใต้ เพื่อสนับสนุนด้านเงินทุนแก่ผู้ประกอบการนวัตกรรมในพื้นที่ และการสร้างเครือข่ายนวัตกรรุ่นใหม่และผู้สนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมในส่วนภูมิภาค (PIN) 

มีนโยบายดึงดูดต่างชาติให้เข้ามาทำธุรกิจและลงทุนในไทย ผ่านโครงการ Smart Visa ซึ่งเป็นวีซ่าประเภทพิเศษที่ NIA ร่วมกับ BOI ออกแบบมาเพื่อกระตุ้นให้เกิดการลงทุนในกิจการฐานความรู้ซึ่งจะเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรม และนโยบายยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับกำไรจากการขายหุ้นของสตาร์ทอัพ โดยมี NIA เป็นหนึ่งในหน่วยงานที่ให้บริการการรับรองธุรกิจนวัตกรรมสตาร์ทอัพเป้าหมายที่ต้องการใช้สิทธิประโยชน์นี้ 

ปัจจัยหลักที่ใช้ในการประเมิน

  1. ปัจจัยเชิงปริมาณ ประกอบด้วย จำนวนสตาร์ทอัพ จำนวนนักลงทุน จำนวนโค-เวิร์กกิ้ง สเปซ (Co-Working Space) จำนวนโปรแกรมเร่งการเติบโต (Accelerator) และจำนวนกิจกรรมพบปะของสตาร์ทอัพ 
  2. คุณภาพของสตาร์ทอัพ และสิ่งอำนวยความสะดวก ประกอบด้วย ปริมาณการลงทุนในสตาร์ทอัพของภาคเอกชน จำนวนศูนย์วิจัยและพัฒนา จำนวนผู้ใช้งานสตาร์ทอัพ (Traction) จำนวนสาขาของบริษัทข้ามชาติ จำนวนลูกจ้าง จำนวนและผลกระทบของสตาร์ทอัพระดับ Unicorns, Exits และ Pantheon จำนวนสตาร์ทอัพที่เป็นอินฟลูเอนเซอร์ระดับโลก จำนวนกิจกรรมเกี่ยวกับสตาร์ทอัพระดับโลก และจำนวนและมูลค่าหลักทรัพย์ในภาคเทคโนโลยี
  3. สภาพแวดล้อมทางธุรกิจ ประกอบด้วย ดัชนีความหลากหลาย ความเร็ว ราคา และความอิสระในการใช้อินเทอร์เน็ต การลงทุนด้านงานวิจัย ความพร้อมของเทคโนโลยีด้านการบริการ ความเชี่ยวชาญด้านภาษาอังกฤษ ความมีอิทธิพลของหนังสือเดินทาง การให้วีซ่าแก่สตาร์ทอัพต่างชาติ อัตราภาษีนิติบุคคล กฎหมายแรงงานที่เป็นมิตรต่อธุรกิจสตาร์ทอัพ ดัชนีการรับรู้การทุจริต และจำนวนมหาวิทยาลัยชั้นนำ

Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ