วิกฤติศรัทธาธนาคาร Silicon Valley ปิดตัวใน 2 วัน สั่นคลอนบัลลังก์สหรัฐฯ ในฐานะเจ้าแห่งเทค

Tech & Innovation

Startup

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

วิกฤติศรัทธาธนาคาร Silicon Valley ปิดตัวใน 2 วัน สั่นคลอนบัลลังก์สหรัฐฯ ในฐานะเจ้าแห่งเทค

Date Time: 12 มี.ค. 2566 23:11 น.

Video

บิทคอยน์ VS เงินในกระเป๋าเกี่ยวกันยังไง ? | Digital Frontiers

Summary

  • วิกฤติศรัทธาธนาคาร Silicon Valley เจอมรสุม Bank run จนต้องปิดตัวใน 2 วัน ฝันร้ายสตาร์ทอัพ เสี่ยงพังทั้งระบบนิเวศ สั่นคลอนบัลลังก์สหรัฐฯ ในฐานะเจ้าแห่งอุตสาหกรรมเทคโนโลยี

Latest


นับเป็นอีกวิกฤติครั้งใหญ่ของภาคการเงิน หลังจากที่เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ที่ Silicon Valley Bank ในสหรัฐอเมริกาได้ปิดตัวลง ถูกทางการเข้าพิทักษ์ทรัพย์ภายในระยะเวลา 48 ชั่วโมง หลังจากที่เกิด Bank run ลูกค้าพากันแห่ถอนเงิน เหตุการณ์นี้อาจไม่ได้สร้างผลกระทบกับภาคธนาคารด้วยกันเองมากนัก แต่กลับเป็นอุตสาหกรรมเทคโนโลยี ที่จะส่งผลต่อศักยภาพการแข่งขันของสหรัฐอเมริกาต่อไปในอนาคตข้างหน้า

Silicon Valley Bank (SVB) คือใคร สำคัญแค่ไหนกับเทคสตาร์ทอัพ ?

SVB ก่อตั้งขึ้นในปี 1983 เป็นธนาคารที่เน้นจัดหาเงินทุนให้กับเหล่าสตาร์ทอัพ ถือได้ว่าเป็นธนาคารที่ใหญ่ที่สุดในซิลิคอนวัลเลย์ ที่รู้จักกันดีในฐานะต้นแบบเมืองแห่งนวัตกรรมและเทคโนโลยีของโลก

และเรียกได้ว่าทั้ง Venture Capital และสตาร์ทอัพกว่าครึ่งหนึ่งในสหรัฐอเมริกา ล้วนแล้วแต่ทำธุรกรรมผ่าน SVB ทั้งสิ้น โดยสตาร์ทอัพเมื่อระดมทุน ก็มักจะนำเงินที่ได้มาฝากไว้ในธนาคารนี้

อีกทั้ง SVB ยังเป็นหนึ่งในธนาคารพาณิชย์ 20 อันดับแรกของสหรัฐอเมริกา โดยมีสินทรัพย์รวมประมาณ 2.09 แสนล้านดอลลาร์ ณ สิ้นปีที่แล้ว ตามข้อมูลของสถาบันคุ้มครองเงินฝากของรัฐบาลกลางสหรัฐอเมริกา (FDIC) และ Market Cap ล่าสุดของ SVB อยู่ที่ราว 6.28 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

วิกฤติศรัทธามาจากไหน ทำไมถึงเกิด Bank run จนต้องปิดตัวใน 2 วัน?

ย้อนกลับไปในช่วงก่อนโควิด เงินทุนของ Venture Capital สะพัดเป็นอย่างมาก ส่งผลให้เหล่าสตาร์ทอัพต่างพากันระดมทุน และสามารถปิดดีลกันอย่างรวดเร็ว เม็ดเงินไหลเข้าสู่อุตสาหกรรมเทคโนโลยี โดยเฉพาะธุรกิจเสี่ยงที่คาดหวังผลตอบแทนระดับ 10X อย่างสตาร์ทอัพ โดยในสหรัฐอเมริกานั้น เมื่อสตาร์ทอัพระดมทุนเรียบร้อย ส่วนใหญ่ก็จะนำเงินไปฝากไว้ใน Silicon Valley Bank ทำให้ธนาคารมีสภาพคล่องเข้ามาเป็นอย่างมาก

แต่ต่อมาด้วยสภาพเศรษฐกิจระดับมหภาคที่ผลพวงจากช่วงโควิด ส่งผลให้อุตสาหกรรมเทคโนโลยีเริ่มประสบปัญหา สถานการณ์การลงทุนของ Venture Capital ลดน้อยลง วงการสตาร์ทอัพเข้าสู่ภาวะ downturn ดังนั้น SVB จึงได้รับผลกระทบไปด้วย โดยที่ผ่านมาธนาคารได้ประปัญหาความสามารถในการทำกำไรลดลง รวมถึงเงินฝากของสตาร์ทอัพ ก็ลดลงตามไปด้วย จากการอัตราการเผาเงินที่สูงกว่าก่อนปี 2564 ถึง 2 เท่าตัว

นอกจากในประเด็นภาพรวมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีและการระดมทุนของสตาร์ทอัพแล้ว ยังมีปัจจัยจากการขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างบ้าคลั่งของธนาคารกลางสหรัฐฯ เพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อ ผลที่ตามมาเมื่ออัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น คือ ต้นทุนหนี้ที่สูงขึ้น ได้บั่นทอนโมเมนตัมของหุ้นบริษัทเทคโนโลยีที่กล่าวถึงข้างต้นไปด้วย

ขณะที่พอร์ตสินทรัพย์ของ SVB กว่า 50% เป็นการลงทุนในตราสารหนี้ โดยเฉพาะพันธบัตรรัฐบาล MBS ต่างๆ ราว 2.1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 1.79% เท่านั้น ทั้งๆ ที่ปัจจุบันอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปีอยู่ที่ประมาณ 3.9%

ดังนั้น SVB จึงได้รับผลกระทบอย่างหนัก เพราะเมื่ออัตราดอกเบี้ยพุ่งสูงขึ้น ผลตอบแทนจากการลงทุนเพิ่มขึ้นย่อมส่งผลให้มูลค่าของพันธบัตรลดลง นั่นหมายความว่า สินทรัพย์ต่างๆ ที่ SVB ถือไว้ มันมีการขาดทุนเกิดขึ้น

ทั้งหมดนำมาสู่ปัญหาการขาดสภาพคล่อง จนทำให้ธนาคารต้องมีการขายสินทรัพย์เพื่อมาชดเชย ดังนั้น SVB จำเป็นต้องแบกรับความสูญเสียที่ยังไม่เกิดขึ้นจริงในพันธบัตรอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในขณะที่อัตราการถอนเงินของลูกค้าเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

ทำให้ในวันพุธที่ผ่านมา SVB ออกมาประกาศว่าเมื่อไตรมาสที่ 4 /2565 ธนาคารได้ขาดทุน 1.8 พันล้านเหรียญสหรัฐ จากการขายพันธบัตรรัฐบาลออกมา และจะเพิ่มทุนโดยการขายหุ้นใหม่มูลค่ากว่า 2.25 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อเสริมงบดุล

ข่าวนี้ได้สร้างความตื่นตระหนกในหมู่ Venture Capital รายใหญ่เป็นอย่างมาก รวมถึงมีการแนะนำให้บริษัทต่างๆ พากันถอนเงินออกจากธนาคารด้วย

ต่อมาในวันพฤหัสบดี หุ้นของ SVB ปรับตัวลดลงอย่างหนัก กดดันหุ้นกลุ่มธนาคารร่วงลงตามไปด้วย ยกตัวอย่างเช่น JP Morgan ลดลง 5.41% Bank of Amarica ลดลง 6.20% Wells Fargo ลดลง 6.18 % เนื่องจากนักลงทุนเกิดความกังวลว่าจะเกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยวิกฤตการณ์การเงินเมื่อปี 2008

และแล้วในเช้าวันศุกร์ที่ผ่านมา หุ้นของ SVB ถูกหยุดการซื้อขาย รวมถึงล้มเลิกความพยายามในการเพิ่มทุนอย่างรวดเร็ว และถูกเข้าแทรกแซงจากหน่วยงานกำกับดูแลของรัฐแคลิฟอร์เนียสั่งปิดธนาคาร และ FDIC เข้าพิทักษ์ทรัพย์ในที่สุด

สิ่งที่จะเกิดขึ้นหลังจากนี้ สหรัฐอเมริกาอาจสูญเสียศักยภาพการแข่งขันในฝั่งเทคโนโลยี?

การปิดตัวลงของ SVB แม้ว่าจะเป็นวิกฤติครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่เกิดวิกฤตการณ์การเงินในปี 2008 ของสหรัฐอเมริกา แต่นักวิเคราะห์หลายฝ่ายมองว่า ไม่น่าจะทำให้เกิดผลกระทบแบบโดมิโน กับอุตสาหกรรมธนาคาร เนื่องจากขนาดเล็กเกินไปกว่าที่จะเป็นภัยคุกคามต่อระบบในวงกว้างได้ และภายในสัปดาห์นี้ลูกค้าที่ฝากเงินก็จะเข้าถึงเงินฝากที่มีประกันได้ จากการเข้าควบคุมดูแลโดย FDIC ที่รับประกันว่าทุกบัญชีจะได้รับเงินฝากคืนโดยเร็วตามวงเงินที่ได้รับความคุ้มครองบัญชีละ 2.5 แสนดอลลาร์สหรัฐ

แต่ที่จะได้รับผลกระทบเต็มๆ หวยคงจะไปออกที่อุตสาหกรรมเทคโนโลยีของสหรัฐอเมริกามากกว่า แม้ว่า SVB จะเป็นธนาคารขนาดเล็ก ตามมาตรฐานของ Wall Street แต่กลับเป็นธนาคารที่มีความสำคัญอย่างมากต่อระบบนิเวศสตาร์ทอัพ เพราะไม่ใช่แค่การฝากเงิน หรือให้กู้ยืมกับธุรกิจเท่านั้น แต่กลับเป็นพนักงานบริษัทเทคโนโลยีที่อยู่ในซิลิคอนวัลเลย์ ที่บางคนจำนองบ้าน และสินเชื่อรถยนต์กับที่นั่นด้วย

ณ ช่วงนี้ที่เหตุการณ์เพิ่งจะเกิดขึ้น อาจจยังไม่เห็นผลกระทบที่ชัดเจนมากนัก แต่หลายบริษัทต่างต้องดิ้นรนนำเงินฝากออกมา รวมถึงการจ่ายเงินเดือนให้กับพนักงานด้วย

ด้าน Y Combinator ซึ่งเป็นหนึ่งใน Accelerator บ่มเพาะสตาร์ทอัพชื่อดังของโลก ได้เคลื่อนไหวต่อเหตุการณ์ดังกล่าว ยื่นจดหมายถึงสภาคองเกรส ถึง Janet Yellen รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และเจ้าหน้าที่กำกับดูแลรายอื่นๆ เพื่อเรียกร้องให้เข้ามาช่วยบรรเทาผลกระทบที่สำคัญต่อธุรกิจสตาร์ทอัพ และพนักงานที่ฝากเงินกับ SVB ในทันที โดยในจดหมายดังกล่าวได้ระบุว่า

SVB มีธุรกิจขนาดเล็กกว่า 37,000 แห่ง ที่มีเงินมากกว่า 2.5 แสนดอลลาร์สหรัฐ กล่าวคือ บัญชีเงินฝากกว่า 96% ของ SVB มีเงินฝากเกิน 2.5 แสนดอลลาร์สหรัฐ ขณะนี้ยอดเงินคงเหลือไม่สามารถถอนออกมาใช้ได้ และอาจไม่สามารถเข้าถึงได้อีกเป็นเวลาหลายเดือนถึงหลายปี หากไม่มีการแทรกแซงเพิ่มเติม

สำหรับคอมมูนิตี้ของ Y Combinator มีสตาร์ทอัพกว่า 1 ใน 3 ที่ใช้บริการ SVB เป็นบัญชีธนาคารเพียงบัญชีเดียว ทำให้พวกเขาไม่มีเงินสดที่จะสามารถจ่ายเงินเดือนพนักงานได้ภายในอีก 30 วันข้างหน้า และเหตุการณ์นี้จะกระทบต่อธุรกิจขนาดเล็กและสตาร์ทอัพมากกว่า 10,000 แห่ง และถ้าหากแต่ละแห่งมีพนักงานเฉลี่ย 10 ราย สิ่งนี้จะมีผลทันทีด้วยการพักงาน การเลิกจ้าง หรือการปิดตัวลง ซึ่งส่งผลกระทบต่องานกว่า 100,000 ตำแหน่ง ในภาคส่วนนวัตกรรมที่สดใสที่สุดในเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกา

และหากปล่อยให้สิ่งนี้เกิดขึ้น จะส่งผลกระทบทันทีต่ออุตสาหกรรมเทคโนโลยีของสหรัฐฯ และความสามารถในการแข่งขันของสหรัฐฯ ทั่วโลก และทำให้ความสามารถในการแข่งขันของสหรัฐฯ ถอยกลับในที่สุดภายในหนึ่งทศวรรษหรือมากกว่านั้น

นอกจากนี้ยังมีความเคลื่อนไหวจาก Venture Capital หลายรายเร่งจัดตั้งกองทุนเงินสดชั่วคราว เพื่อช่วยเหลือสตาร์ทอัพที่ได้รับผลกระทบให้สามารถจ่ายเงินเดือนพนักงานได้ในสัปดาห์หน้าด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ตามยังคงต้องติดตามกันต่อไปว่า แต่ละภาคส่วนจะมีมาตรการออกมาช่วยเหลือผู้ได้รับความเสียหายจากกรณีนี้อย่างไร ทางออกแบบไหนที่ดีที่สุด รวมถึงความท้าทายที่สหรัฐเมริกา จะเดินหมากต่อไปอย่างไรกับชะตากรรมที่แขวนอยู่บนเส้นด้ายของเหล่าสตาร์ทอัพในซิลิคอนวัลเลย์ ที่หากล้มกันหมดจะกระทบต่อศักยภาพการแข่งขันในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีระยะยาวอย่างแน่นอน

อ้างอิง CNN , NYtime , Y Combinator , Bloomberg 


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ