คนไทยใช้พร้อมเพย์ 2 ครั้ง/วัน ผงาดผู้นำเพย์เมนต์เอเชีย กลายเป็นรากฐานสำคัญ หนุนเศรษฐกิจใหม่เติบโต

Date Time: 24 เม.ย. 2568 18:47 น.

Summary

  • ธนาคารเอชเอสบีซี (HSBC) ประเทศไทย เผยภาพรวมเทรนด์ Digital Economy รวมถึงการชำระเงินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ของเอเชียและประเทศไทย พบว่าเอเชียอาจกลายเป็นหนึ่งในผู้นำด้านการใช้จ่ายผ่านระบบดิจิทัล ขณะที่ประเทศไทยนิยมโอนเงินผ่านพร้อมเพย์ โดย 1 คนมียอดการโอนเงินสูงถึง 651 ครั้งต่อปี หรือราว 2 ครั้งต่อวัน ซึ่งนับว่าสูงขึ้นถึง 4.8 เท่าจากปี 2019 ที่มีการโอนจ่ายเพียง 135 ครั้งต่อ 1 ปีเท่านั้น

ธนาคารเอชเอสบีซี ประเทศไทย เปิดเผยแนวโน้มเศรษฐกิจดิจิทัลและการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ในเอเชียและประเทศไทย พบว่าการชำระเงินผ่านระบบดิจิทัลเติบโตอย่างก้าวกระโดด โดยมี "พร้อมเพย์" เป็นปัจจัยสำคัญที่เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภคไทยให้หันมาใช้บริการทางการเงินดิจิทัลมากขึ้น

นายนิธิ วชิรโกวิทย์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายจัดการด้านการเงินและบริหารสภาพคล่อง ธนาคารเอชเอสบีซี ประเทศไทย คาดการณ์ว่าการชำระเงินแบบเรียลไทม์ทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นถึง 575,000 ล้านครั้งภายในปี 2028 หรือเติบโต 16.7% ต่อปี (2023-2028) โดยภูมิภาคเอเชียเป็นผู้นำด้านการใช้จ่ายผ่านระบบดิจิทัล

เทรนด์การเติบโตของการชำระเงินผ่านระบบดิจิทัลในประเทศไทย

จากบทวิจัยของบอสตัน คอนซัลติ้ง กรุ๊ป พบว่าเอเชียและอาเซียนมีแนวโน้มที่ Digital Economy ซึ่งรวมถึง E-Commerce จะเติบโตจาก 300,000 ล้านดอลลาร์ สู่ 1 ล้านล้านดอลลาร์ ภายในปี 2030

อีกทั้งนายนิธิยังเผยอีกว่า ดิจิทัลวอลเลตและการโอนสู่บัญชีสู่บัญชี (A2A payment) ของการชำระเงินแบบเรียลไทม์ยังมีอัตราการเติบโตที่เพิ่มมากขึ้น โดยเอเชียเป็นหนึ่งในภูมิภาคที่ใช้ดิจิทัลวอลเลตสูงสุด ด้วยการใช้จ่ายหน้าร้าน 50% และ 70% ของการใช้จ่ายทั้งหมดในชีวิตประจำวัน ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าอัตราการใช้จ่ายด้วยระบบดิจิทัลของภาคเอเชียนั้นมีความแข็งแกร่งแค่ไหน

เช่นเดียวกับประเทศไทยที่กลายเป็นหนึ่งในผู้นำของเอเชียในด้านการใช้พร้อมเพย์ เนื่องจากคนไทย 1 คนมียอดการโอนเงินสูงถึง 651 ครั้งต่อปี หรือราว 2 ครั้งต่อวัน ซึ่งนับว่าสูงขึ้นถึง 4.8 เท่าจากปี 2019 ที่มีการโอนจ่ายเพียง 135 ครั้งต่อ 1 ปีเท่านั้น

ในขณะที่อัตราการถอนเงินสดในไทยลดลง 12% และมีการใช้เช็คลดลง 35% ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (ปี 2019 - 2024) แต่ยอดการใช้จ่ายผ่านพร้อมเพย์กลับเพิ่มมากขึ้นจาก 480 บาทในปี 2019 กลายเป็น 990 บาทต่อครั้งในปี 2024 สะท้อนให้เห็นว่าคนไทยใช้พร้อมเพย์ในชีวิตประจำวันมากขึ้น และใช้การโอนจ่ายเงินในจำนวนที่น้อยลงเรื่อยๆ แต่โอนบ่อยมากขึ้น

ปัจจัยความสำเร็จของพร้อมเพย์ในไทย

โดย HSBC ประเทศไทย เผยว่าปัจจัยที่ทำให้การใช้พร้อมเพย์และการชำระเงินผ่านช่องทางดิจิทัลได้รับความแพร่หลายในไทย คือ

  • ความสะดวกและง่ายในการใช้งาน ผ่านเบอร์โทรศัพท์หรือเลขบัตรประชาชน
  • ค่าใช้จ่ายน้อยหรือแทบไม่มีค่าใช้จ่ายสำหรับผู้บริโภค
  • การรองรับการใช้งานชำระเงินระหว่างประเทศ เช่น การใช้พร้อมเพย์ในการชำระสินค้าในฮ่องกง ที่ธนาคารเอชเอสบีซีเป็นธนาคารหลักในฮ่องกง

ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย

ภาคธุรกิจที่ HSBC เห็นการเติบโตของการชำระเงินผ่านช่องทางดิจิทัลในประเทศไทย คือธุรกิจในเศรษฐกิจใหม่ (New Economy) และเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) เช่น อีคอมเมิร์ซ, Last-mile delivery (ธุรกิจการจัดส่งขั้นสุดท้ายก่อนที่ลูกค้าจะได้รับสินค้า) และธุรกิจจัดส่งอาหาร เนื่องจากธุรกิจเหล่านี้ต้องการการชำระเงินแบบเรียลไทม์ทั้งการรับและการจ่ายเงิน

รวมถึงในระยะ 5 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยยังเติบโตเป็นอันดับ 2 ของอาเซียนในธุรกิจอีคอมเมิร์ซ และธุรกิจประกันเองก็เป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่มีความต้องการการชำระเงินแบบเรียลไทม์สูง เพื่อใช้ในการรับและจ่ายค่าเบี้ยประกัน ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่การชำระเงินผ่านช่องทางดิจิทัลถูกใช้อย่างแพร่หลายในประเทศ

การชำระเงินผ่านระบบดิจิทัลช่วยเศรษฐกิจไทยใน 3 ด้านหลัก:

  • เพิ่มประสิทธิภาพของการดำเนินธุรกิจของภาคเอกชนผ่านการชำระเงินแบบเรียลไทม์
  • ทำให้ค่าใช้จ่ายในการชำระเงินเพื่อดำเนินธุรกิจลดลง
  • สนับสนุน financial inclusion ทำให้ผู้บริโภคและภาคธุรกิจเข้าถึงบริการทางการเงินได้ง่ายขึ้น ตลอดจนทำให้ภาคธุรกิจสามารถดำเนินธุรกิจระหว่างประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ผลกระทบจากนโยบาย “ภาษีทรัมป์”

นายนิธิ แสดงความเห็นว่า นี่คือสถานการณ์สำคัญที่ต้องจับตามองต่อว่าจะเดินไปในทิศทางไหน เพราะมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา และแม้ว่าการโอนเงินข้ามพรมแดนหลังทรัมป์ประกาศขึ้นภาษีนั้นอาจสร้างผลกระทบต่อธุรกิจบางอย่าง แต่ในฐานะธนาคาร เรามีหน้าที่ในการสนับสนุนลูกค้าให้ไปในทิศทางที่กระทบธุรกิจของพวกเขาให้ได้น้อยที่สุด

ติดตามเพจ Facebook: Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ - https://www.facebook.com/ThairathMoney


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ