Thairath OnlineThairath PlusThairath SportThairath TVMIRROR

เมื่อนวัตกรรมล้ำหน้ากว่ากฎเกณฑ์ การ์ทเนอร์เตือน 40% ของข้อมูลรั่วไหล มาจาก GenAI ที่ใช้ข้ามพรมแดน

Date Time: 6 มี.ค. 2568 13:37 น.

Summary

  • การ์ทเนอร์คาด ภายในปี 2030 ปัญหาการรั่วไหลของข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ AI จะเพิ่มขึ้นกว่า 40% โดยมีสาเหตุหลักจากการใช้งาน GenAI ข้ามประเทศอย่างไม่เหมาะสม สร้างแรงกดดันต่อองค์กรที่ต้องรับมือ ผลักดันให้ตลาดโซลูชันด้านความปลอดภัย AI และการกำกับดูแลเติบโตขึ้นอย่างมหาศาล จนกลายเป็นตลาดที่องค์กรไม่สามารถละเลยได้

ปัญหาความปลอดภัยของข้อมูลกลายเป็นความท้าทายสำคัญของยุค AI เมื่อ Generative AI (GenAI) กำลังถูกใช้งานอย่างแพร่หลายทั้งในระดับองค์กรและบุคคลทั่วไป การ์ทเนอร์คาดการณ์ว่า ภายในปี 2030 ปัญหาการรั่วไหลของข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ AI จะเพิ่มขึ้นกว่า 40% โดยมีสาเหตุหลักจากการใช้งาน GenAI ข้ามประเทศอย่างไม่เหมาะสม สร้างแรงกดดันต่อองค์กรที่ต้องรับมือกับข้อกำหนดด้าน Data Localization และความปลอดภัยของข้อมูลที่ซับซ้อนขึ้น

GenAI โตเร็วเกินกว่ามาตรการคุ้มครองข้อมูลจะตามทัน

เนื่องจากความนิยมของ GenAI โตขึ้นอย่างรวดเร็ว และกำลังแซงหน้ามาตรการกำกับดูแลและความปลอดภัยของข้อมูล ส่งผลให้หลายองค์กรต้องเผชิญกับความเสี่ยงจากการถ่ายโอนข้อมูลระหว่างประเทศแบบไม่ตั้งใจ โดยเฉพาะในกรณีที่เครื่องมือ AI ถูกฝังเข้าไปในแอปพลิเคชันหรือซอฟต์แวร์โดยไม่มีการแจ้งให้ทราบ

Joerg Fritsch รองประธานนักวิเคราะห์จากการ์ทเนอร์ เตือนว่า “องค์กรอาจไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่าข้อมูลสำคัญกำลังถูกประมวลผลในต่างประเทศ” นำไปสู่ความเสี่ยงที่ข้อมูลสำคัญของบริษัทหรือผู้ใช้จะรั่วไหลสู่ระบบนิเวศ AI ระดับโลก โดยไม่มีการควบคุมที่เพียงพอ

ซึ่งหนึ่งในปัญหาใหญ่คือการขาดมาตรฐานกลางสำหรับการกำกับดูแล AI ทำให้องค์กรต้องปรับกลยุทธ์ด้านข้อมูลให้สอดคล้องกับแต่ละประเทศ ซึ่งอาจจำกัดการขยายธุรกิจไปสู่ระดับโลก และเพิ่มต้นทุนด้านการปฏิบัติตามกฎระเบียบ (Compliance)

การ์ทเนอร์ยังได้ระบุอีกว่า ความซับซ้อนของนโยบาย AI ระดับประเทศ กำลังผลักดันให้ตลาดโซลูชันด้านความปลอดภัย AI และการกำกับดูแลเติบโตขึ้นอย่างมหาศาล โดยคาดว่าในอนาคตอุตสาหกรรมนี้จะเป็น “ตลาดที่องค์กรไม่สามารถละเลยได้”

โดยการ์ทเนอร์คาดการณ์ว่า ภายในปี 2030 หลายประเทศจะมีข้อบังคับเกี่ยวกับการกำกับดูแล AI (AI Governance) ที่มีผลบังคับใช้ ซึ่งอาจทำให้องค์กรที่ไม่พร้อมเผชิญกับต้นทุนที่สูงขึ้นและความเสี่ยงทางกฎหมายอาจต้องเผชิญกับความท้าทาย

“บริษัทที่ไม่สามารถปรับใช้ AI Governance ได้อย่างมีประสิทธิภาพ อาจเสียเปรียบด้านการแข่งขัน” Fritsch กล่าว

4 กลยุทธ์สำคัญสำหรับองค์กรรับมือการใช้ AI ข้ามพรมแดน

องค์กรที่ต้องการขยายการใช้ GenAI จำเป็นต้องเร่งปรับกลยุทธ์การบริหารจัดการข้อมูลและความปลอดภัย AI ก่อนที่กฎหมายจะบังคับใช้ทั่วโลก การเตรียมตัวตั้งแต่วันนี้ ไม่เพียงช่วยลดความเสี่ยง แต่ยังเพิ่มโอกาสให้ธุรกิจสามารถแข่งขันในยุค AI ได้อย่างมั่นคง

โดยการ์ทเนอร์ได้แนะนำให้ธุรกิจเริ่มเตรียมความพร้อมตั้งแต่วันนี้ด้วย 4 แนวทางหลัก ได้แก่

  1. ยกระดับนโยบายการกำกับดูแลข้อมูล: องค์กรต้องขยายกรอบการกำกับดูแลข้อมูลให้ครอบคลุม พร้อมกับมีมาตรการตรวจสอบเส้นทางการถ่ายโอนข้อมูลข้ามประเทศ และประเมินผลกระทบต่อความเป็นส่วนตัวอย่างสม่ำเสมอ
  2. ตั้งคณะกรรมการกำกับดูแล AI: เพื่อควบคุมความเสี่ยงและตรวจสอบให้มีการใช้งาน AI อย่างโปร่งใส และลดโอกาสในการเกิดข้อผิดพลาดด้านความปลอดภัยและด้านกฎหมาย
  3. เสริมความปลอดภัยของข้อมูล: องค์กรต้องปรับใช้เทคโนโลยีการเข้ารหัส การปกปิดตัวตน และ Trusted Execution Environment (TEE) เพื่อปกป้องข้อมูลที่ละเอียดอ่อน
  4. ลงทุนในระบบ AI ช่วยจัดการความเสี่ยง: อย่างเช่นระบบ Trust, Risk & Security Management (TRiSM) จะช่วยลดความเสี่ยงจากข้อมูลที่ไม่ถูกต้องและการตัดสินใจผิดพลาดได้มากกว่า 50%

ติดตามเพจ Facebook: Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ - https://www.facebook.com/ThairathMoney


เราใช้คุ้กกี้

เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น

อ่านเพิ่มเติมคลิก(Privacy Policy) และ (Cookie Policy)