Thairath OnlineThairath PlusThairath SportThairath TVMIRROR

KBTG ประกาศความสำเร็จ อัปเกรด Core Banking กสิกรไทย รองรับลูกค้า 60 ล้านบัญชี หลังธุรกรรม K+ พุ่ง

Date Time: 7 ก.พ. 2568 09:20 น.
Content Partnership

Summary

  • บริษัท กสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป หรือ KBTG ประกาศความสำเร็จโปรเจกต์ใหญ่แห่งปี ขยายระบบ Core Banking เพื่อรองรับการทำงานของธนาคารกสิกรไทยจากการที่ยอดทำธุรกรรมโตขึ้นแบบก้าวกระโดดในทุกปี เผยยอดตัวเลขของปี 2024 พบจำนวนผู้ใช้งาน K+ อยู่ที่ 23 ล้านราย โตขึ้นจากปี 2019 กว่า 5.4 เท่า โดยมียอดการทำธุรกรรมกับธนาคารกว่า 11.6 พันล้านรายการ จนขึ้นแท่นเป็น Mobile Banking อันดับ 1 ของประเทศไทย

บริษัท กสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป หรือ KBTG ประกาศความสำเร็จโปรเจกต์ใหญ่แห่งปี ขยายระบบ Core Banking เพื่อรองรับการทำงานของธนาคารกสิกรไทยจากการที่ยอดทำธุรกรรมโตขึ้นแบบก้าวกระโดดในทุกปี เผยยอดตัวเลขของปี 2024 พบจำนวนผู้ใช้งาน K+ อยู่ที่ 23 ล้านราย โตขึ้นจากปี 2019 กว่า 5.4 เท่า โดยมียอดการทำธุรกรรมกับธนาคารกว่า 11.6 พันล้านรายการ จนขึ้นแท่นเป็น Mobile Banking อันดับ 1 ของประเทศไทย

จากการเติบโตของธนาคาร และความเปลี่ยนแปลงในโลกเทคโนโลยี KBTG จึงได้วางแผนกลยุทธ์แบบฉบับปี 2025 ด้วยการตั้งเป้าไปที่การยกระดับด้าน IT และการสนับสนุนการเติบโตของธุรกิจธนาคาร โดยมุ่งเน้น 4 แกนหลักในการสร้างคุณค่า ได้แก่

1. Sustainable Innovation – พัฒนา Value Chain ด้านนวัตกรรมที่เชื่อมโยงทุกภาคส่วน เพื่อส่งมอบคุณค่าอย่างยั่งยืนผ่านนวัตกรรม

2. Delivering Value Productively – มุ่งเน้นการดำเนินโครงการด้าน IT ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ควบคู่กับการปรับปรุงสถาปัตยกรรมแอปพลิเคชัน และการขยายโซลูชันให้รองรับระดับภูมิภาค

3. World-Class AI & Tech Capabilities – นำเทคโนโลยีระดับโลกมาใช้ ดึง AI มาใช้งานจริง เพื่อให้เกิดระบบการทำงานที่มีศักยภาพสูงสุด

4. Brilliant Basic Trust – สร้างมาตรฐาน IT ที่ยอดเยี่ยมและบริหารจัดการต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

เรืองโรจน์ พูนผล Group Chairman ของ KBTG เผยว่า ด้วยตัวเลขผู้ใช้งานที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เพื่อไม่ให้การทำธุรกรรมทางการเงินของลูกค้าต้องติดขัด KBank จึงได้ทำการขยายระบบ Core Banking ให้ระบบรองรับการดำเนินงานที่มากขึ้น ด้าน KBTG ขาธุรกิจด้านเทคโนโลยีของธนาคารกสิกรไทยจึงได้เดินหน้าโปรเจกต์ “Core Banking Horizontal Scale Project” พัฒนาโครงการติดตั้งระบบ Core Banking เพิ่มให้กับ KBank นับว่าเป็นโครงการที่ใหญ่ที่สุดของ KBTG ที่ใช้ระยะเวลาเกือบสองปีในการตระเตรียมและติดตั้งระบบ โดยมีเป้าหมายที่จะดำเนินงานให้สำเร็จผลโดยที่ธนาคารก็ยังสามารถเปิดให้ลูกค้าทำธุรกรรมได้อย่างปกติ

ทำความรู้จัก “Core Banking” คืออะไร?

หากพูดถึง Core Banking นั่นก็คือ ระบบเทคโนโลยีหลักที่ธนาคารใช้ในการดำเนินธุรกรรมพื้นฐาน อย่างเช่น การเปิดบัญชี การฝาก-ถอนเงิน ซึ่งระบบนี้เป็นแบบรวมศูนย์ (Centralized) ช่วยให้การทำธุรกรรมเป็นไปอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ โดยที่ลูกค้าไม่จำเป็นต้องไปที่สาขาธนาคารเสมอไป

เรียกได้ว่า ระบบ Core Banking เป็นหัวใจสำคัญของอุตสาหกรรมการเงินในยุคดิจิทัล โดยมีข้อดี คือ สามารถทำธุรกรรมได้รวดเร็วทุกที่ทุกเวลา ช่วยธนาคารลดต้นทุนการดำเนินงาน ลดความซ้ำซ้อนของระบบธนาคาร อีกทั้งยังรองรับการสร้างนวัตกรรมใหม่ และสนับสนุนการพัฒนา Digital Banking และ Fintech

วรนุช เดชะไกศยะ Executive Chairman ของ KBTG กล่าวว่า “ย้อนกลับไป KBTG ก่อตั้งขึ้นมาเมื่อปี 2016 และได้เดินหน้าทรานสฟอร์มองค์กรต่อเนื่อง โดยในช่วงปี 2021-2022 หลังจากการระบาดหนักของโควิด-19 ทำให้เกิดการขยายทีม และเร่งดึงคนจากต่างชาติมากยิ่งขึ้น อย่างการเปิด KBank ในเวียดนามตลอดจนเพิ่มการดำเนินงานในต่างประเทศ”

“จนต่อมาในช่วงปี 2023-2024 ที่ผ่านมา นับว่าเป็นการก้าวเข้าสู่ยุค 3.0 ที่ได้มีการดึง AI เข้ามาทำงานร่วมกับมนุษย์ ทั้งการตั้ง KBTG Labs เพิ่มพัฒนาด้าน AI โดยเฉพาะ ตลอดจน KSoft ที่พัฒนาด้านซอฟต์แวร์สำหรับระบบธนาคาร พร้อมกับเพิ่มศักยภาพการดำเนินงานของธนาคารด้วยการขยายระบบ Core Banking ให้สามารถรองรับการทำธุรกรรมที่เพิ่มขึ้นได้” วรนุช กล่าว

นอกเหนือจาก K+ แล้วทางธนาคารยังมี MAKE by KBank แอปพลิเคชันจัดการด้านการเงินอีกหนึ่งตัวที่ทำหน้าที่เป็น Mobile Banking มียอดการทำธุรกรรมเติบโตต่อเนื่องอย่างเห็นได้ชัด ด้วยยอดผู้ใช้งานในปี 2024 กว่า 2.95 ล้านบัญชี เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้ากว่า 43% และหากมองในด้านของจำนวนธุรกรรม MAKE by KBank ก็เติบโตขึ้นแล้ว 12 เท่านับตั้งแต่ปี 2021

จรุง เกียรติสุภาพพงศ์ Vice Chairman ของ KBTG อธิบายถึงเส้นทางของการปรับ Core Banking ของธนาคารกสิกรไทยว่า “ทางธนาคารได้มีการเปลี่ยนระบบมาตั้งแต่ช่วง 2005 จนในปี 2015 ที่ปรับมาใช้ระบบที่กำลังดำเนินการอยู่ในปัจจุบันนี้ ซึ่ง ณ ตอนนั้นธนาคารต้องหยุดให้บริการถึง 2 วันเพื่อทำการขึ้น Core Banking ใหม่”

ต่อมาในปี 2018 ที่ได้เกิดจุดเปลี่ยนสำคัญคือ ในการทำธุรกรรม จ่ายเงิน โอนเงิน ลูกค้าไม่จำเป็นจะต้องเสียค่าธรรมเนียม ในจุดนี้ทำให้ธนาคารต้องมีการ Revamp ตัวแอปฯ K+ เพื่อรองรับการทำงานที่มากขึ้น ซึ่งปัจจุบันธนาคารกสิกรไทยมียอดการทำธุรกรรมอยู่ที่กว่า 3 พันล้านธุรกรรมต่อปี มีลูกค้าใหม่เพิ่มขึ้นประมาณ 3 ล้านรายต่อปี และมีบัญชีเพิ่มขึ้นประมาณ 5 ล้านบัญชีต่อปี

“ธนาคารเล็งเห็นว่า เหตุการณ์ปิดระบบ งดให้บริการในช่วงปี 2015 ส่งผลกระทบต่อธนาคารและลูกค้าเป็นอย่างมาก ในรอบนี้ที่มีแผนจะขึ้น Core Banking ใหม่อีกตัว จึงต้องมีการวางมาตรการที่ครอบคลุม ส่งผลให้ต้องมีการพัฒนาระบบโดยคำนึงถึงความมีศักยภาพที่เพียงพอ ระบบไม่ล่ม และทำงานได้ราบรื่น” จรุง กล่าว

ภายใต้โปรเจกต์ “Core Banking Horizontal Scale Project” ทาง KBTG ได้ทุ่มทุนไปกว่า 4,500 ล้านบาทในการดำเนินงาน เพื่อให้สามารถรองรับการทำธุรกรรมที่เพิ่มขึ้นได้กว่า 50% หรือเพิ่มศักยภาพให้ธนาคารซัพพอร์ตลูกค้ากว่า 60 ล้านบัญชีได้ถึงปี 2031 และเรียกได้ว่าเป็นโปรเจกต์ที่ท้าทายมากที่สุดสำหรับองค์กร เพราะต้องพัฒนา ติดตั้งระบบ ไปพร้อม ๆ กับการที่ให้ธนาคารสามารถดำเนินการได้โดยไม่ติดขัด และไม่ต้องหยุดการดำเนินงานเพื่อติดตั้งระบบ

ทำอย่างไรให้ขยายระบบ Core Banking สำเร็จ?

KBTG ได้ออกมาเผยอินไซต์กลยุทธ์และวิธีการทำงานที่ช่วยหนุนให้โครงการนี้สำเร็จภายในระยะเวลากว่า 22 เดือนในการทดสอบและติดตั้ง โดยที่ไม่กระทบกับระบบการทำงานของธนาคารแม้แต่น้อย

นพวรรณ ปฏิภาณจำรัส Managing Director ของ KBTG ได้ยกภาพของการพัฒนาระบบ Core Banking ของ KBank ในครั้งนี้ว่าเป็นการ “เพิ่มหัวใจ” ให้กับระบบธนาคาร โดยต้องอาศัยการ “ต่อเส้นเลือด” หลายพันเส้นเพื่อช่วยลำเลียงเลือดไปเลี้ยง 183 แอปฯ ของ KBank และเพื่อ “บูสต์สมอง” ให้เกิดผลงานที่ดีที่สุดในบริการของธนาคาร

“ในการเปลี่ยนแปลงระบบขนาดใหญ่ จำเป็นต้องมีแนวทางที่แข็งแกร่งเพื่อให้การดำเนินงานราบรื่นและไม่กระทบกับธุรกิจที่กำลังดำเนินอยู่ การปรับปรุงครั้งนี้อาศัย 3 ปัจจัยหลักที่เปรียบเสมือนส่วนสำคัญของร่างกาย ได้แก่ หัวใจ เส้นเลือด และสมอง” นพวรรณ กล่าว

การดำเนินการครั้งนี้ไม่ใช่เพียงแค่การเปลี่ยนแปลงระบบ แต่เป็นการสร้างรากฐานใหม่ที่แข็งแกร่งให้กับธนาคาร เพื่อให้พร้อมรองรับความท้าทายในอนาคตได้อย่างมั่นคง โดยอาศัย 4 แนวทางสำคัญของการดำเนินโครงการ ได้แก่

1. Team Collaboration: สร้าง Core Team Agents เพื่อทำงานร่วมกันกับกลุ่มอื่น ๆ กว่า 50 หน่วยงานในองค์กร โดยมีหน้าที่รับผิดชอบดูแลระบบใน 183 แอปพลิเคชัน ทำให้สามารถบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

2. Change Management: ในการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้มีความแตกต่างไปจากเดิม เพราะแม้ว่าจะมีการพัฒนาระบบ แต่ทุกกระบวนการทางธุรกิจของธนาคารยังคงดำเนินไปตามปกติ นั่นหมายความว่า ได้มีการวางแผนอย่างรอบคอบเพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการให้บริการ

3. Test Strategy: การทดสอบระบบถือเป็นหัวใจสำคัญ โดยใช้เวลากว่า 1 ปี เพื่อให้มั่นใจว่าระบบสามารถรองรับการใช้งานทำธุรกรรมได้อย่างไม่มีข้อผิดพลาด

4. Deployment Strategy: มีการทดสอบจำลองสถานการณ์จริงเพื่อเตรียมความพร้อมถึง 21 รอบ และทำการ Deploy ระบบถึง 8 ครั้ง ใช้เวลารวมประมาณ 5-6 เดือน โดยมีการทดสอบอย่างเข้มข้นในทุกช่วงเวลา แม้กระทั่งกลางดึก เพื่อให้มั่นใจว่าระบบสามารถทำงานได้อย่างเสถียรในทุกสภาวะ

นอกจากนี้ ทีม KBTG ยังมีการบริหารจัดการ Core Incident ในกรณีที่การติดตั้งระบบอาจเกิดปัญหาที่อาจจะส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของธนาคาร ตามแนวคิด “Prepare for the Worst, Work for the Best.” จึงมีแนวทางที่ว่า การจัดทีมที่ดีช่วยให้สามารถรับมือกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็วและเป็นระบบ โดยทีมงานจะรับผิดชอบแต่ละส่วนให้ชัดเจน มีการแบ่งทั้งทีมดูแลปัญหาเฉพาะหน้า ทีมวิเคราะห์ปัญหา และทีมพัฒนาระบบ

แก้วกานต์ ปิ่นจินดา Deputy Managing Director ของ KBTG อธิบายว่า “เรื่องนี้เป็นหัวใจสำคัญในการดูแลระบบ IT ขององค์กร โดยมีแนวทางหลักคือการแบ่งทีมให้เหมาะสม พร้อมใช้กระบวนการและเครื่องมือที่ช่วยให้การจัดการปัญหาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ”

โดยการจัดการเหตุการณ์และปัญหาแบ่งออกเป็น 3 ระดับหลัก ได้แก่ (1) Incident to Problem Management ที่ปรับเปลี่ยนเหตุการณ์เฉพาะไปเป็นการวิเคราะห์ปัญหาเชิงลึก ตามมาด้วย (2) Problem Analysis and Initiatives วิเคราะห์หาสาเหตุที่แท้จริง และริเริ่มแนวทางแก้ไข และ (3) Proactive Problem Handling ลงมือป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นล่วงหน้า เพื่อลดความเสี่ยงและผลกระทบ

นอกจากนี้ ในขั้นตอนระหว่างทางที่จะ Deploy ระบบจนสำเร็จ ทาง KBTG ยังกำหนดแผนงานและตาราง Freeze (ช่วงเวลาห้ามเปลี่ยนแปลงระบบ) อย่างชัดเจน ตลอดจนปรับปรุงเครื่องมือ ITSM เพื่อควบคุมความเสี่ยงและลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงระบบ

ต้นแบบกลยุทธ์ 3Cs บริหารจัดการโครงการอย่างมีประสิทธิภาพ

ในการดำเนินการเพื่อ “เพิ่มหัวใจ” อีกดวงให้กับธนาคาร ได้มีการทดสอบระบบแบบเสมือนจริงไป 21 ครั้ง และติดตั้งระบบไป 8 อย่าง จนประสบความสำเร็จไม่ทำให้ธนาคารต้องหยุดชะงักการให้บริการ (No Downtime) และไม่กระทบต่อการใช้งานของลูกค้าธนาคาร

ภูวดล ทรงวุฒิชโลธร Assistant Managing Director ของ KBTG เผยว่า “ในโลกของธนาคารที่จะต้องรองรับธุรกรรมจำนวนมหาศาล ดังนั้นการจะบริหารโครงการให้เกิดขึ้นได้จริงและเสร็จสมบูรณ์ตามกำหนดเวลา (Right Shape, Right Timing) เป็นเรื่องที่ท้าทาย โครงการนี้จึงได้ริเริ่มใช้แนวคิด 3Cs Strategies ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของความสำเร็จ”

โดยกลยุทธ์ “3Cs Strategies” ประกอบไปด้วย

1. Communication: การสื่อสารที่เป็นระบบ เนื่องจากโปรเจกต์นี้ต้องอาศัยความร่วมมือของบุคลากรกว่า 1,000 คน พร้อมกับต้องมีการบริหารโครงการย่อยอีกกว่า 200 โครงการไปพร้อม ๆ กัน เพราะฉะนั้น การสร้าง Communication ที่ดีจะช่วยให้เกิดการบาลานซ์องค์ประกอบทั้งหมดให้ทำงานไปในทิศทางเดียวกันได้อย่างราบรื่น

2. Collaboration: ความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน เพราะการขยายระบบ Core Banking ของธนาคาร คือ การยกระดับระบบทั้งหมดขององค์กร จึงเกิดการทำงานร่วมกันกับกว่า 50 หน่วยงานภายในของธนาคาร และยังต้องร่วมมือกับบริษัทภายนอกเพื่อให้การทดสอบเป็นไปตามเวลาจริง ซึ่งความร่วมมือที่แข็งแกร่งจากทุกฝ่ายช่วยให้โครงการดำเนินไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ

3. Commitment: ความมุ่งมั่นสู่เป้าหมายเดียวกัน ตามแนวคิดที่ว่า ความทุ่มเทและความมุ่งมั่นเป็นปัจจัยที่ช่วยให้ทุกคนเดินไปในทิศทางเดียวกัน KBTG จึงมีการสร้าง Mindset ให้ทุกคนมีทัศนคติแบบเดียวกัน คือการมุ่งสู่ความสำเร็จ (Achievement-Driven Mindset) ส่งผลให้ทุกขั้นตอน ทุกแนวทางการแก้ปัญหาเกิดขึ้นจริง ทุกคนทำงานร่วมกันได้

“โปรเจกต์นี้ถือว่าเป็นหนึ่งในความท้าทายครั้งใหญ่ของ KBank และ KBTG ที่ต้องขยายขีดความสามารถของ Core Banking เพื่อรองรับจำนวนลูกค้าและปริมาณธุรกรรมที่เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว นี่ไม่ใช่แค่การอัปเกรดระบบ IT แต่เปรียบเสมือน ‘การผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจ’ ให้ธนาคารยังคงเดินหน้าให้บริการลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ และพร้อมรับมือกับอนาคตของโลกการเงินที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว” เรืองโรจน์ กล่าว


Author

Content Partnership

Content Partnership


เราใช้คุ้กกี้

เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น

อ่านเพิ่มเติมคลิก(Privacy Policy) และ (Cookie Policy)