ต้อนรับปีใหม่ 2025 กับการเตรียมเข้าสู่ทำเนียบขาวเพื่อรับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาคนที่ 47 ของโดนัลด์ ทรัมป์ แม้ว่าที่ผ่านมาตั้งแต่ช่วงปลายปี 2024 ประเด็นการชนะเลือกตั้งของทรัมป์จะส่งผลต่อภาพรวมของตลาดทั่วโลกแล้วก็ตาม แต่ในปีใหม่นี้ยังต้องติดตามความเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจต่อ
ปี 2024 นับว่าเป็นปีสำคัญของตลาดเทคโนโลยี ที่มีทั้งช่วงขาขึ้นและขาลง อีกทั้งยังมีความน่าตื่นเต้นให้เราได้เห็นในทุก ๆ วัน และหากมาเจาะใน “เอเชีย” เรื่องของเทคโนโลยีก็คืออีกประเด็นที่ถูกภูมิภาคอื่น ๆ จับตามอง ทั้งในจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ตลอดจนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้บ้านเรา
ในปี 2025 ที่กำลังดำเนินไปนี้ บวกกับแนวโน้มของนโยบายทรัมป์ 2.0 ทวีปเอเชียจะมีเทรนด์เทคโนโลยีอะไรให้น่าจับตามองบ้าง?
ที่ผ่านมา Bitcoin ต้องตกอยู่ในช่วงยากลำบาก หลังราคาสินทรัพย์ดิจิทัลทั่วโลกร่วงเมื่อปี 2022 แต่ในปี 2024 สกุลเงินดิจิทัลที่ใหญ่ที่สุดในโลกนี้กลับมีมูลค่าพุ่งขึ้นทุบสถิติใหม่ ทะลุเพดาน 100,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อเหรียญเป็นครั้งแรกเมื่อเดือนธันวาคม
นักวิเคราะห์ชี้ว่าเป็นเพราะการกลับมาชนะเลือกตั้งของโดนัลด์ ทรัมป์ในเดือนพฤศจิกายน มีส่วนสำคัญในการหนุนให้ราคา Bitcoin เพิ่มขึ้น เนื่องจากทรัมป์มีแนวโน้มจะผลักดันนโยบายที่เป็นการหนุนตลาดคริปโตฯ มากขึ้น หลังจากที่ช่วงก่อนหน้านี้อุตสาหกรรมต้องเจอกับการตรวจสอบเข้มข้นจากกรณีอื้อฉาว อย่างเช่น การล่มสลายของ FTX แพลตฟอร์มแลกเปลี่ยนคริปโตฯ ชื่อดังเมื่อปี 2022
การฟื้นตัวครั้งนี้จุดกระแสการพูดถึงการนำคริปโตฯ และเทคโนโลยีบล็อกเชนมาใช้ในกระแสหลักมากขึ้น โดยเฉพาะการประยุกต์ใช้ในภาคการเงิน อย่างการผสานระบบบัญชีดิจิทัลเข้ากับธนาคาร
และที่สำคัญ ผู้เชี่ยวชาญจากหลายฝ่ายเชื่อว่า Bitcoin ยังมีโอกาสเติบโตต่อไปได้อีก ทั้งจากกระแส FOMO (กลัวตกขบวน) ของนักลงทุน และการเข้ามาลงทุนจากสถาบันการเงิน มีการคาดการณ์ว่าราคาอาจจะพุ่งไปถึง 150,000 ดอลลาร์สหรัฐภายในช่วงกลางปี 2025
ชื่อของ Robotaxi หรือแท็กซี่อัตโนมัติแบบไร้คนขับกำลังถูกกล่าวถึงมากขึ้นเรื่อย ๆ หลังจากที่ปี 2024 ได้เห็นตลาดนี้ขยับขยายไปหลายทิศทาง ด้านหนึ่งอย่างฝั่งของ Tesla และหลายเจ้าในจีนกำลังขยายตลาด เพิ่มกองทัพแท็กซี่อัตโนมัติ และไปเปิดตัวในตลาดต่างประเทศมากขึ้น แต่ในอีกด้าน อย่างฝั่งของ GM กลับยกเลิกบริการ Cruise โดยมองว่าธุรกิจ Robotaxi แบบเดี่ยว ๆ อาจไม่สามารถอยู่รอดได้ท่ามกลางการแข่งขันที่ดุเดือดขึ้นเรื่อย ๆ
อนาคตของ Robotaxi ถูกผูกติดไว้กับหลายปัจจัยสำคัญที่ในปี 2025 นี้ยังต้องคอยติดตามกันต่อ ว่าธุรกิจประเภทนี้จะบูมได้จริงหรือไม่ โดยปัจจัยต่าง ๆ มีดังนี้
มีคาดการณ์ว่า ในอีก 2 ปี เอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะเป็นศูนย์กลาง Data Center ที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก รองจากสหรัฐอเมริกาและจีน
อย่างไรก็ตาม แม้ว่า Data Center จะมีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลและการเติบโตของ AI แต่ก็เพิ่มภาระให้กับหลายประเทศ โดยเฉพาะในเรื่องระบบไฟฟ้า เนื่องจากต้องใช้พลังงานมหาศาล ต้องมีโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานที่มีประสิทธิภาพ และต้องใช้เทคโนโลยีการระบายความร้อนใหม่ ๆ เพื่อการประมวลผลข้อมูลขนาดใหญ่
ในหลายประเทศของภูมิภาคนี้ได้มีการเตรียมตัวและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ตลอดจนนโยบายเพื่อรองรับการเติบโตไปเป็นศูนย์กลางด้าน Data Center ตัวอย่างความพยายามของประเทศในภูมิภาค ไม่ว่าจะเป็น
นอกจากนี้ ความต้องการพลังงานเพื่อการพัฒนา AI ยังช่วยผลักดันให้เกิดการร่วมมือด้านพลังงานระหว่างประเทศในภูมิภาคนี้ อย่างสิงคโปร์ได้ลงทุน นำเข้าพลังงานคาร์บอนต่ำจากกัมพูชา อินโดนีเซีย และลาว ซึ่งต้องใช้สายส่งไฟฟ้าทั้งบนบกและใต้ทะเล ดังนั้นจึงต้องมีการลงทุนในระบบสายส่งไฟฟ้าเพิ่มเติมอีก
ปี 2024 การลงทุนใน Startup ในเอเชียชะลอตัวจากอัตราดอกเบี้ยที่ยังคงสูง โดยเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้รับผลกระทบหนักที่สุด เนื่องจากตลาด IPO ยังอ่อนแอ แม้ช่วงปลายปีจะเริ่มเห็นดีลลงทุนขนาดใหญ่ที่บ่งชี้การฟื้นตัว แต่อนาคตยังไม่แน่นอนเพราะดอกเบี้ยยังคงสูงต่อเนื่อง และยังคงมีความตึงเครียดทางระหว่างประเทศ
โดยมีมุมมองจากผู้เชี่ยวชาญ ระบุว่าปี 2025 นักลงทุนจะยังคงระมัดระวังในการลงทุนใน Startup ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่หากเศรษฐกิจโลกฟื้นตัว ภูมิภาคนี้จะได้รับอานิสงส์เช่นกัน ซึ่งจะช่วยให้การระดมทุนดีขึ้น
ข้อมูลจาก DealStreetAsia พบว่า ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2024 มีดีลลงทุนเพียง 474 ดีล ต่ำสุดตั้งแต่ปี 2020 มีมูลค่ารวม 3,260 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นยอดที่น้อยกว่าปี 2020 กว่าครึ่งหนึ่งเลยทีเดียว และในเดือนพฤศจิกายนนับว่าเป็นเดือนที่ 11 แล้วที่การลงทุนในภูมิภาคยังคงต่ำกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
นอกจากนี้ ยังคาดว่า Startup เอเชียอาจหันไปพึ่งตลาดที่มีสภาพคล่องสูง อย่างเช่น ตลาดหลักทรัพย์โตเกียว เพราะการเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังคงยาก และการควบรวมกิจการ (M&A) จากบริษัทเทคโนโลยีใหญ่ก็ไม่แน่นอนเนื่องจากกฎระเบียบที่เข้มงวด
ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าจากประเทศจีน ได้หันไปยังตลาดตะวันออกกลางและแอฟริกามากขึ้น เพื่อขยายตลาดและสร้างการเติบโตใหม่ ตลอดจนต้องการที่จะหลีกเลี่ยงภาษีนำเข้าของสหรัฐอเมริกาและยุโรป
โดยความเคลื่อนไหวในปีที่ผ่านมา คือการเข้าไปลงตลาดอียิปต์ ทำให้ BYD กลายเป็นแบรนด์รถยนต์ไฟฟ้าที่ขายดีที่สุดอันดับสอง ด้าน GV Investments ก็ได้จับมือกับ FAW Group ของจีน โดยจะเริ่มผลิตรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นราคาประหยัดในประเทศในไตรมาสแรกของปี 2025 และทาง Egyptian International Motors ก็ได้ร่วมลงนามข้อตกลงกับ Zeekr แบรนด์รถยนต์หรูของ Geely เพื่อเปิดตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูในอียิปต์
ส่วนในตลาดเคนยา Chery ผู้ผลิตรถยนต์จีนเตรียมลงทุน 20 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อสร้างโรงงานประกอบรถยนต์ในไนโรบี โดยมองว่าแรงงานมีฝีมือและสถานะของเคนยาในฐานะศูนย์กลางเศรษฐกิจเหมาะสมสำหรับการขยายตลาดในแอฟริกา
แอฟริกาใต้ ในฐานะตลาดรถยนต์ใหญ่ที่สุดในทวีป ได้ตั้งเป้าที่จะผลักดันการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ด้วยนโยบายลดหย่อนภาษี 150% สำหรับการลงทุนในโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าโดยจะเริ่มปี 2026
นอกจากนี้ ทางโมร็อกโก ก็ตั้งเป้าที่จะเพิ่มการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าเป็น 100,000 คันต่อปีในปี 2025 (จากปัจจุบันประมาณ 40,000 คัน) และจะเพิ่มอัตราส่วนให้ส่งออกรถยนต์ไฟฟ้าคิดเป็น 60% ของการส่งออกรถยนต์ทั้งหมดภายในปี 2030
ซึ่งปี 2025 นี้จะเป็นบททดสอบสำคัญของผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าจีนในการดึงดูดผู้บริโภคในภูมิภาคนี้ ซึ่งยังมีสัดส่วนการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าต่ำเมื่อเทียบกับยอดขายรถยนต์ทั้งหมด
ในขณะที่การฟื้นตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรม และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สำหรับผู้บริโภคยังไม่แน่นอน หลายคนมองว่า AI เป็นความหวังสำคัญในปีข้างหน้า โดยจะมีการพัฒนาเซิร์ฟเวอร์ AI เพิ่มขึ้น ซึ่งจากการคาดการณ์ของ TrendForce ชี้ว่า เซิร์ฟเวอร์ AI จะเพิ่มขึ้น 28% ในปี 2025 และอีก 18% ในปี 2026 ซึ่งจะกระตุ้นความต้องการเทคโนโลยีขั้นสูง อย่างเช่น Chip Packaging การจัดการพลังงาน ระบบระบายความร้อน และเทคโนโลยีการประกอบเซิร์ฟเวอร์
นอกจากนี้ ผู้ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทั่วโลกกำลังเพิ่มฟีเจอร์ AI ในสินค้า ทั้งสมาร์ทโฟน คอมพิวเตอร์ Wearables อีกทั้งจะถูกนำไปใช้ทั้งในหุ่นยนต์ โดรน และเทคโนโลยีพลังงานใหม่
อย่างไรก็ตาม การผลิตเซิร์ฟเวอร์ AI ต้องใช้ชิ้นส่วนและกระบวนการประกอบที่ซับซ้อนกว่าปกติ ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการขยายการใช้งาน AI ขณะเดียวกันการแข่งขันด้าน AI ยังกลายเป็นสมรภูมิใหญ่ระหว่างสหรัฐฯ และจีน โดยบริษัทใหญ่ในสหรัฐฯ เช่น Microsoft, Alphabet และ Amazon กำลังเร่งสร้างศูนย์ข้อมูล AI และพัฒนาชิปแบบเฉพาะทางใหม่ ส่วน Huawei ของจีนกำลังพยายามรักษาความเป็นผู้นำด้านชิปและ AI พร้อมขยายอิทธิพลผ่านความสัมพันธ์ทางการทูตและเศรษฐกิจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และภูมิภาคอื่น ๆ
การบริหารของทรัมป์จะมีผลอย่างไรต่อความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีของจีนยังคงต้องติดตาม โดยในสมัยแรก ทรัมป์ได้ทำการเปิดฉากสงครามเทคโนโลยี ด้วยการขึ้นบัญชีดำ Huawei จนต่อมาในสมัยของรัฐบาลไบเดน ก็ได้เพิ่มลิสต์บริษัทเทคโนโลยีจีนลงในบัญชีดำอีก และยังทำการจำกัดการส่งออกอุปกรณ์และบุคลากร เพื่อสกัดการพัฒนาชิปและ AI ของจีน
Chris Hung จาก Market Intelligence and Consulting Institute ระบุว่า ไบเดนเน้นการ “ลดความเสี่ยง” ด้วยการจับมือทำงานร่วมกับพันธมิตร อย่างเช่น ญี่ปุ่นและเนเธอร์แลนด์ แต่ภายใต้ทรัมป์ การดำเนินการอาจเปลี่ยนกลับไปสู่แนวทาง “แยกขาด” จากจีน ซึ่งเข้มงวดกว่าเดิม
Long Le ศาสตราจารย์จาก Santa Clara University คาดว่า ทรัมป์อาจดำเนินการแยกขาดจากจีนในวงกว้างกว่าไบเดน ทั้งในเรื่องของเทคโนโลยี และด้านอื่น ๆ ที่ไม่ใช่เชิงกลยุทธ์
อย่างไรก็ตาม ภายในการนำของทรัมป์ อาจมีการใช้แนวทางพิจารณาเป็นรายกรณีไป ยกตัวอย่างเช่น อาจยอมให้ TikTok ดำเนินการในสหรัฐฯ ต่อ หรือไม่ดำเนินการต่อบริษัทจีนบางราย เช่น Lenovo และ Temu ซึ่งแนวทางนี้อาจช่วยลดความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ได้บางส่วน ขณะที่การแบ่งขั้วในภาพรวมยังคงดำเนินต่อไป
ในเอเชีย ความร้อนแรงของศึกผู้ผลิตชิประหว่าง Samsung Electronics และ SK Hynix จะยังคงเข้มข้นต่อเนื่องในปี 2025
SK Hynix ปิดปี 2024 ด้วยการครองตลาดเป็นผู้นำด้านชิป โดยส่งมอบชิป High Bandwidth Memory หรือ HBM ให้กับ Nvidia เกือบทั้งหมด ซึ่ง HBM เป็นเทคโนโลยีสำคัญที่ช่วยเพิ่มพลังการประมวลผลของโปรเซสเซอร์ AI โดยทาง Jensen Huang ซีอีโอของ Nvidia เคยยกย่องว่าชิป HBM เป็นความมหัศจรรย์ทางเทคโนโลยี
ทาง SK Hynix วางแผนเสริมแกร่งความเป็นผู้นำในตลาด ด้วยการจับมือกับ Taiwan Semiconductor Manufacturing Co. หรือ TSMC อีกหนึ่งผู้ผลิตชิปรายใหญ่ของโลก โดยทั้งสองบริษัทตกลงที่จะพัฒนาชิป HBM รุ่นใหม่ร่วมกัน เพื่อเพิ่มพลังการประมวลผลให้กับชิป AI ของลูกค้า
ขณะที่ Samsung พยายามไล่ตาม SK อย่างเต็มที่ โดยบริษัทได้เปลี่ยนหัวหน้าหน่วยธุรกิจเซมิคอนดักเตอร์ด้านหน่วยความจำในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ด้วยหวังจะพลิกสถานการณ์ธุรกิจที่กำลังประสบปัญหา นอกจากนี้ Samsung ยังมีแผนพัฒนาชิป HBM ร่วมกับหน่วยผลิตชิปภายในบริษัท โดยใช้ประโยชน์จากความหลากหลายของธุรกิจในเครือ
แม้สองยักษ์ใหญ่จะแข่งขันกันอย่างดุเดือด แต่นักวิเคราะห์คาดว่าตลาดชิปหน่วยความจำ HBM โดยรวมจะเติบโตขึ้นอีกในปี 2025 จากความต้องการที่เพิ่มขึ้นสำหรับโซลูชันการจัดเก็บข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ AI
ที่มา: Nikkei Asia
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ - https://www.facebook.com/ThairathMoney