เปิดแผนยักษ์สร้าง “บิ๊กดาต้าไทย” BDI ลุยพัฒนา ThaiLLM ต้นแบบ AI คนไทย เร่งสร้างคลังข้อมูลชาติ

Tech & Innovation

Digital Transformation

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

เปิดแผนยักษ์สร้าง “บิ๊กดาต้าไทย” BDI ลุยพัฒนา ThaiLLM ต้นแบบ AI คนไทย เร่งสร้างคลังข้อมูลชาติ

Date Time: 20 ธ.ค. 2567 18:41 น.

Video

บุกโรงงาน PANDORA ช่างไทยผลิตจิวเวลรี่ แบรนด์โลกแสนล้าน | On The Rise

Summary

  • Big Data Institute (BDI) ผู้วางยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนการใช้ประโยชน์จากข้อมูลขนาดใหญ่ เผยเป้า สร้างแพลตฟอร์มฐานข้อมูลขนาดใหญ่ของประเทศไทย หรือ National Big Data Platform หวังเป็นโครงสร้างพื้นฐานทางข้อมูลให้กับทั้งภาครัฐและเอกชนนำไปใช้งานเพื่อยกระดับการดำเนินงาน ตลอดจนเพิ่มโอกาสในการแข่งขันทางธุรกิจ พร้อมผลักดันให้เกิดการพัฒนาโมเดล AI ของคนไทยเอง

Latest


สถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ (องค์การมหาชน) หรือ Big Data Institute (BDI) หน่วยงานรัฐภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นผู้วางยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนการใช้ประโยชน์จากข้อมูลขนาดใหญ่ เพื่อผลักดันให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม โดยตั้งเป้าที่จะสร้างแพลตฟอร์มฐานข้อมูลขนาดใหญ่ของประเทศไทย เพื่อให้ทั้งภาครัฐและเอกชนสามารถนำไปพัฒนาต่อได้ อีกทั้งยังต้องการผลักดันให้เกิดการพัฒนาโมเดล AI ของคนไทยเองอีกด้วย

ล่าสุด BDI ประกาศแผนยุทธศาสตร์ปี พ.ศ. 2568-2570 เร่งขับเคลื่อนการใช้ประโยชน์จากข้อมูลขนาดใหญ่ หรือ Big Data พร้อมเผยแนวทางการพัฒนาและใช้ประโยชน์จาก Big Data ของประเทศสำหรับประกอบการตัดสินใจเชิงนโยบายและเชิงธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ

โดย BDI มีแผนรุกเร่งสร้าง “National Big Data Platform” ที่จะเป็นแพลตฟอร์มข้อมูลขนาดใหญ่ของประเทศ ที่ในอนาคตจะเป็นโครงสร้างพื้นฐานทางข้อมูลให้กับทั้งภาครัฐและเอกชนนำไปใช้งานเพื่อยกระดับการดำเนินงาน ตลอดจนเพิ่มโอกาสในการแข่งขันทางธุรกิจ

National Big Data Platform คืออะไร?

National Big Data Platform หรือ โครงการแพลตฟอร์มข้อมูลขนาดใหญ่ของประเทศ ที่จะรวบรวมข้อมูลต่าง ๆ ที่สำคัญของประเทศจากแหล่งต่าง ๆ ทั้งจากข้อมูลจากหน่วยงานรัฐ ฐานข้อมูลอื่น (API) ไฟล์ บอท ตลอดจนเชื่อมต่อข้อมูลจากแหล่งต่าง ๆ อย่างเช่น ข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อม ท่องเที่ยว สาธารณสุข การเงินเข้ามารวมในคลัง และจัดการเชื่อมต่อข้อมูลต่าง ๆ เพื่อให้เป็นระบบระเบียบ

หลังจากนั้นเมื่อมีข้อมูลเข้ามา ก็จะมีการจัดการทำเป็น Data Catalogue คลังข้อมูลที่พร้อมจะให้หน่วยงานต่าง ๆ ดึงไปใช้งาน โดยจะมีประเภทข้อมูลเปิด (Open Data) ที่ทุกคนดึงไปใช้งานได้ผ่าน “data.go.th” มี Dashboard และ Model สำหรับภาครัฐและเอกชนให้นำข้อมูลไปวิเคราะห์ต่อ หรือเทรน AI ต่อ นอกจากนี้ ยังมีบริการข้อมูลดิบที่จะให้กับภาครัฐเท่านั้น

รศ.ดร.ธีรณี อจลากุล ผู้อำนวยการสถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ กล่าวว่า “ถ้าประเทศไทยเราจะสามารถใช้ Data แบบที่รัฐเชื่อมข้อมูลต่าง ๆ ได้จริง จนสามารถสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อเศรษฐกิจและสังคมในวงกว้างได้ รัฐบาลจะต้องวางแผนยุทธศาสตร์เพื่อจัดให้มีองค์ประกอบต่าง ๆ ที่เป็นปัจจัยพื้นฐานในการผลักดันประเทศไทยให้เป็น Data-Driven Nation”

โดย รศ.ดร.ธีรณี เผยต่อว่า ประเทศไทยจะต้องสร้าง 3 แกนหลัก เพื่อให้สามารถผลักดันประเทศด้วย Big Data ได้จริง ได้แก่

  • โครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) ทั้งด้านคลาวด์ Big Data ตลอดจนเรื่องความปลอดภัยทางไซเบอร์
  • เครื่องมือและมาตรฐานการดำเนินงาน (Tools and Standards) เครื่องมือตลอดจนแนวทางที่แน่ชัดในการทำงาน โดยจะต้องคำนึงถึงการเข้าถึงข้อมูลต่าง ๆ ได้อย่างถูกต้องเป็นมาตรฐาน
  • เกิดเป็นระบบนิเวศ (Ecosystem) และเมื่อมีโครงสร้างพื้นฐานที่เหมาะสม มีเครื่องมือและมาตรการที่เป็นมาตรฐาน ก็จะเกิดเป็นระบบนิเวศของประเทศ ที่พร้อมจะขับเคลื่อนด้วย Big Data

ปัจจุบัน ได้มีการดำเนินงานเพื่อส่งเสริมให้เกิด National Big Data Platform อย่างต่อเนื่อง มุ่งเน้นไปที่การพัฒนาโครงการเดิมด้านข้อมูล ไม่ว่าจะเป็น

  • Health Link โครงการแพลตฟอร์มข้อมูลสุขภาพทั่วประเทศ ที่มุ่งเน้นการขยายเครือข่ายเชื่อมโยงระบบข้อมูลกระทรวงสาธารณสุข
  • Travel Link โครงการแพลตฟอร์มข้อมูลอัจฉริยะด้านท่องเที่ยวแห่งชาติ ที่รวบรวมข้อมูลด้านการท่องเที่ยวจากภาครัฐและเอกชน
  • Envi Link โครงการแพลตฟอร์มบริการข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมสำหรับพื้นที่เมืองอัจฉริยะ
  • Provincial Data Platform โครงการข้อมูลสำคัญของจังหวัดต่าง ๆ ในหลากหลายด้าน

อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยยังมีข้อจำกัดอีกหลายอย่าง ทั้งเรื่องของการทำงานแบบแยกสัดส่วน มีการเก็บข้อมูลเดียวกันแต่ใช้กันคนละรูปแบบ ตลอดจนบางหน่วยงานไม่ได้จัดการกับข้อมูลอย่างเป็นระบบ และยังต้องใช้เวลาในการจัดการให้เป็นขั้นเป็นตอนเพื่อให้เกิดแพลตฟอร์ม National Big Data Platform ขึ้นมาได้จริง

แผน 3 ปีข้างหน้าของ BDI

ในช่วงแรกของการพัฒนา National Big Data Platform ทาง BDI มีแผนที่จะเริ่มต้นทำการศึกษาปัจจัยที่สำคัญเบื้องต้น ทั้งด้านเทคโนโลยี ปูพื้นฐานสถาปัตยกรรมเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง ออกแบบโครงสร้างต้นแบบระบบคลาวด์ การศึกษาและทดสอบกลไกการเชื่อมโยงข้อมูล ต้นแบบด้านการรักษาความปลอดภัยและการให้บริการข้อมูล ด้านข้อมูล/ชุดข้อมูล นำเข้าตัวอย่างข้อมูล/ชุดข้อมูลที่มาจากโครงการรายอุตสาหกรรม และต้นแบบการปรับปรุงคุณภาพข้อมูล

ด้านการใช้ประโยชน์ข้อมูล จะมีการพัฒนาแดชบอร์ด โมเดลต้นแบบการวิเคราะห์ และโมเดล Machine Learning รวมถึงการจัดกิจกรรม Data Hackathon และการอบรมการใช้ประโยชน์ข้อมูลจากชุดข้อมูลที่จัดเก็บ เป้าหมายของโครงการนี้เพื่อให้รัฐบาลมีระบบกลางด้านข้อมูลขนาดใหญ่ที่มีความมั่นคงปลอดภัย และสามารถใช้งานสำหรับการบริหารจัดการภาครัฐ เกิดการบูรณาการข้อมูลขนาดใหญ่ข้ามหน่วยงานที่ทำงานร่วมกันภายใต้หัวข้อปัญหาเดียวกันได้โดยสะดวกและปลอดภัย นำไปสู่การต่อยอดการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อการใช้ประโยชน์จากข้อมูลในวงกว้างในอนาคต

พร้อมกันนี้ ยังมีการเดินหน้าพัฒนา “โครงการ Thai Large Language Model (ThaiLLM)” ที่ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เพื่อพัฒนาและต่อยอดโมเดลด้วยข้อมูลภาษาไทยจำนวนมหาศาล ให้โมเดลมีความสามารถในการเข้าใจภาษาไทยได้ดี

ปัจจุบัน BDI และเครือข่ายพันธมิตร ได้แก่ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) สถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) สมาคมผู้ประกอบการปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย (AIEAT) สมาคมปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย (AIAT) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยมหิดล ได้ร่วมมือกันพัฒนา ThaiLLM V.1 โดยระยะแรกจะมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาโมเดลพื้นฐานสำหรับต่อยอด (Foundation Model) และโมเดลเฉพาะทางด้านการแพทย์ ถือเป็นก้าวแรกที่สำคัญของการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม AI ที่มีศักยภาพและเพิ่มประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคมไทยมากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ BDI ยังมีแผนยกระดับการดำเนินชีวิตของประชาชนให้เข้ากับยุคดิจิทัล ซึ่งตอนนี้อยู่ในขั้นตอนนำเสนอการพิจารณาแก่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ โดย (ร่าง) แผนยุทธศาสตร์ฯ ดังกล่าวประกอบด้วยทั้งสิ้น 4 ยุทธศาสตร์ ได้แก่

  • พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการใช้ประโยชน์จากข้อมูลขนาดใหญ่ (Developing Required Infrastructure for Big Data Utilization)
  • ส่งเสริมการใช้ประโยชน์โครงสร้างพื้นฐานเพื่อตอบโจทย์ประเด็นการพัฒนาสำคัญของประเทศ (Promote the utilization of infrastructure to address key development issues of the country)
  • พัฒนาและใช้ประโยชน์จาก AI ในการบริการ (AI Development and Utilization)
  • พัฒนาสร้างขีดความสามารถด้านข้อมูลและปัญญาประดิษฐ์ (Manpower in Big Data and AI)

ทั้งนี้ BDI พร้อมขับเคลื่อนการใช้ประโยชน์จากข้อมูลขนาดใหญ่ไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจและสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่ประชาชนอย่างครอบคลุม ตามวิสัยทัศน์ของแผนฯ


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ