UNESCO เลือกปักหมุดไทย ผนึก 3 กระทรวง เจ้าภาพร่วมจัดฟอรัมจริยธรรม AI ครั้งแรกในเอเชียแปซิฟิก

Tech & Innovation

Digital Transformation

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

UNESCO เลือกปักหมุดไทย ผนึก 3 กระทรวง เจ้าภาพร่วมจัดฟอรัมจริยธรรม AI ครั้งแรกในเอเชียแปซิฟิก

Date Time: 4 ธ.ค. 2567 17:38 น.

Video

บรรยง พงษ์พานิช แกะปมเศรษฐกิจไทยโตต่ำ ฟื้นช้า พร้อมแนะทางออก

Summary

  • UNESCO จับมือ 3 กระทรวง ดีอี อว. และศธ. เตรียมจัดงาน “UNESCO Global Forum on the Ethics of AI 2025” โดยมีประเทศไทยเป็นเจ้าภาพครั้งแรกของเอเชียแปซิฟิก ชูแนวคิด “Ethical Governance of AI in Motion” สนับสนุนการพัฒนาและใช้งาน AI อย่างรับผิดชอบ โปร่งใส เป็นธรรม ตามมาตรฐานสากล

Latest


องค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ UNESCO ประกาศความร่วมมือกับ 3 กระทรวงของไทย กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) แถลงแผนเตรียมจัดงาน “The 3rd UNESCO Global Forum on the Ethics of AI 2025” โดยมีประเทศไทยเป็นเจ้าภาพครั้งแรกของเอเชียแปซิฟิก ชูแนวคิด “Ethical Governance of AI in Motion” ตามกรอบของ UNESCO ในการสนับสนุนการพัฒนาและใช้งาน AI อย่างรับผิดชอบ โปร่งใส เป็นธรรม ตามมาตรฐานสากล

สำหรับงาน UNESCO Global Forum on the Ethics of AI 2025 ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 3 ของโลก และเป็นครั้งแรกในเอเชียแปซิฟิก โดยจะจัดในวันที่ 24-27 มิถุนายน 2025 ณ กรุงเทพมหานคร จะเป็นงานที่รวมผู้นำและผู้เชี่ยวชาญจากประเทศสมาชิก UNESCO กว่า 194 ประเทศมาร่วมแลกเปลี่ยนในงานเสวนาเพื่อขับเคลื่อนการใช้งาน AI อย่างมีจริยธรรม

ทำไมถึงเลือกปักหมุดประเทศไทย?

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ประเทศไทยมีการพัฒนาทั้งทางด้านดิจิทัล ตลอดจนโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยี และตามความมุ่งมั่นของรัฐบาลไทยในการส่งเสริมและสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อเพิ่มขีดความสามารถของประเทศ โดยเฉพาะการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี AI ที่ควรต้องเป็นไปตามหลักการสำคัญ ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่าองค์กรต่าง ๆ ในประเทศไทยมีแผนและการเตรียมการในการนำ AI มาใช้ในองค์กรเพิ่มมากขึ้น โดยในปี 2567 สูงถึง 73.3% ซึ่งสูงกว่าปีที่ผ่านมาเกือบ 20%

บวกกับความก้าวหน้าของเทคโนโลยี AI ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจดิจิทัลก็มีการเติบโตอย่างน่าสนใจ อีกทั้งยังมีการลงทุนอย่างมีนัยสำคัญในโครงสร้างพื้นฐาน AI อย่างต่อเนื่อง

และความร่วมมือกับ UNESCO ครั้งนี้ ยังสะท้อนให้เห็นความพร้อมและความมุ่งมั่นของประเทศไทยในการสนับสนุนการพัฒนาและประยุกต์ใช้ AI โดยยึดหลักจริยธรรม และธรรมาภิบาลเป็นหัวใจสำคัญ

ประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวว่า “รัฐบาลไทยมีนโยบายในการร่วมพัฒนาด้านดิจิทัลที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นนโยบาย Cloud First Policy เพื่อเร่งเสริมทักษะด้านดิจิทัลให้ทุกคนในสังคมไทย รวมถึงขยายความร่วมมือไปทุกภาคส่วน เพื่อดำเนินตามแผนปฏิบัติการปัญญาประดิษฐ์ (AI) ของประเทศในปี 2565-2570”

นอกจากนโยบายที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว ประเทศไทยยังมีแนวปฏิบัติด้านจริยธรรมปัญญาประดิษฐ์ โดยให้ความสำคัญในการประยุกต์ใช้ AI ให้เป็นไปตามความสำคัญ ดังนี้

  • ต้องมีความสามารถในการแข่งขันและการพัฒนาอย่างยั่งยืน
  • ต้องมีความสอดคล้องกับกฎหมาย จริยธรรม และเป็นไปตามมาตรฐานสากล
  • ต้องมีความโปร่งใส และมีความรับผิดชอบต่อสังคม
  • ต้องมีความมั่นคง ปลอดภัย และรักษาความเป็นส่วนตัว
  • ต้องให้เกิดความเท่าเทียม ทุกคนเข้าถึงการใช้งานได้อย่างครอบคลุม
  • ต้องมีความน่าเชื่อถือ

ซึ่งประเด็นด้านจริยธรรมเป็นเรื่องที่ทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญ ในส่วนของประเทศไทยได้มีการออกแบบคู่มือเพื่อการใช้ AI อย่างมีธรรมาภิบาลสำหรับผู้บริหาร และการใช้งาน GenAI สำหรับองค์กร เพื่อให้ทุกภาคส่วนได้นำไปปรับใช้ต่อไป

ด้าน ซิง ฉวี่ รองผู้อำนวยการใหญ่ UNESCO กล่าวบนเวทีผ่านระบบวิดีโอว่า “ประเทศไทยมีความเป็นผู้นำด้านการส่งเสริมธรรมาภิบาลจริยธรรม AI และการผลักดันความร่วมมือระดับนานาชาติ อีกทั้งยังมีการนำกรอบแนวทางการประเมินความพร้อมด้าน AI ของ UNESCO หรือ AI Readiness Assessment (RAM) มาใช้นั้น ถือเป็นก้าวสำคัญของกรอบการทำงานในการประเมินความพร้อมด้านการประยุกต์ใช้ AI ของไทยที่มีความแข็งแกร่งและพร้อมส่งเสริมการใช้ AI ด้วยโปร่งใสตามกรอบธรรมาภิบาล และจริยธรรมตามมาตรฐานสากล”

Global Forum ครั้งนี้จะส่งผลดีต่อไทยอย่างไร?

สำหรับงาน “UNESCO Global Forum on the Ethics of AI 2025” ถือได้ว่าเป็นเวทีสำคัญสำหรับการเจรจาระดับโลกในการร่วมพัฒนา AI ตามกรอบด้านจริยธรรม และการประยุกต์ใช้ AI ที่เคารพสิทธิมนุษยชน โปร่งใส และเป็นธรรม พร้อมผลักดันให้ประเทศไทยก้าวขึ้นเป็นผู้นำระดับภูมิภาคด้านธรรมาภิบาลจริยธรรม AI อย่างแท้จริง

ประเสริฐ จันทรรวงทอง กล่าวถึงการร่วมจัดงานกับ UNESCO ในครั้งนี้ว่าจะช่วยให้ประเทศไทยได้รับประโยชน์ในหลายมิติ ได้แก่

  • ได้พัฒนาองค์ความรู้และเพิ่มขีดความสามารถของบุคลากรในประเทศ
  • สร้างความเชื่อมั่นในระดับนานาชาติ พร้อมกับยกระดับบทบาทประเทศไทยในภูมิภาค
  • ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว และเพิ่มโอกาสทางธุรกิจ
  • ยกระดับการพัฒนามาตรฐานการพัฒนา AI ที่เหมาะสม
  • สร้างเครือข่ายความร่วมมือกับประเทศต่าง ๆ

ทั้งหมดนี้จะช่วยให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นผู้นำในภูมิภาคเอเชียด้านการพัฒนา AI ที่มีความสมดุลระหว่างนวัตกรรม จริยธรรม และธรรมาภิบาล อีกทั้งยังเป็นโอกาสสำคัญที่แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยให้ความสำคัญกับการนำ AI Governance มาปฏิบัติใช้จริง และพร้อมจะร่วมมือกับ UNESCO ในการแบ่งปันประสบการณ์ให้กับประเทศต่าง ๆ เพื่อขับเคลื่อนประเทศสมาชิกให้สามารถประยุกต์ใช้แนวทางได้อย่างมีจริยธรรม

ศุภชัย ใจสมุทร ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่า “การทำงานร่วมกันของทั้ง 3 กระทรวงและ UNESCO ในครั้งนี้สะท้อนให้เห็นถึงความพร้อมของประเทศไทย กับการนำเทคโนโลยี AI ไปประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ โดยไม่เพียงเน้นสร้างนวัตกรรมเท่านั้น ยังให้ความสำคัญกับจริยธรรมและความรับผิดชอบต่อสังคม”

พร้อมกับเล่าต่อถึงโอกาสที่ประเทศไทยจะได้รับจากการปรับใช้ UNESCO RAM ที่จะดึงความเข้าใจและเพิ่มความพร้อมในการใช้งาน AI อย่างมีจริยธรรม เพื่อมาต่อยอดสู่การใช้งานที่ยั่งยืน และมุ่งยกระดับประเทศสู่การเป็นกลุ่มรายได้สูงผ่านเทคโนโลยี

นอกจากนี้ ความร่วมมือกับ UNESCO ยังช่วยสนับสนุนคนไทยตั้งแต่ระดับสถานศึกษาในการสร้างทักษะด้านเทคโนโลยีและ AI โดยทาง อว. ตั้งเป้าที่จะผลิตบุคลากรที่มีทักษะเฉพาะทางระดับสูงกว่า 30,000 คนภายใน 2 ปีนี้ และสร้าง 100 นวัตกรรมที่สร้างผลกระทบทางบวกต่อประเทศอีกด้วย

ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ - https://www.facebook.com/ThairathMoney


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ