เวทีโลกคุยอะไรกัน? ท๊อป จิรายุส ชี้ คนไทยจำเป็นต้องรู้ ทางรอดเศรษฐกิจไทย ไม่ถูกมหาอำนาจกลืน

Tech & Innovation

Digital Transformation

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

เวทีโลกคุยอะไรกัน? ท๊อป จิรายุส ชี้ คนไทยจำเป็นต้องรู้ ทางรอดเศรษฐกิจไทย ไม่ถูกมหาอำนาจกลืน

Date Time: 25 ก.ค. 2567 19:14 น.

Video

“The Summer Coffee Company” มากกว่า เครื่องดื่ม คือ ความสุข | Brand Story Exclusive EP.3

Summary

  • สรุปรวมทุกประเด็นจากการเข้าร่วมประชุม Annual Meeting of the New Champions 2024 ของ World Economic Forum โดย ท๊อป จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด ณ เมืองต้าเหลียน สาธารณรัฐประชาชนจีน เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ซึ่งมีประเด็นในเวทีประชุมของผู้นำโลกและเรื่องที่คนไทยจำเป็นต้องรู้ เพื่อเตรียมพร้อมปรับตัวให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและการแข่งขันในระดับภูมิภาค

ท๊อป จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด สรุปทุกประเด็นจากการเข้าร่วมประชุม Annual Meeting of the New Champions 2024 ของ World Economic Forum ณ เมืองต้าเหลียน สาธารณรัฐประชาชนจีน เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ซึ่งมีประเด็นในเวทีประชุมของผู้นำโลกและเรื่องที่คนไทยจำเป็นต้องรู้ เพื่อเตรียมพร้อมปรับตัวให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและการแข่งขันในระดับภูมิภาค

อาเซียนเตรียมประกาศข้อตกลงเศรษฐกิจดิจิทัล DEFA ในปี 2025

ประเด็นแรกที่คนไทยทุกคนจำเป็นต้องรู้ คือ ภายในปี 2025 ทุกประเทศสมาชิกอาเซียนจะลงนามร่วมกันภายใต้ “กรอบความตกลงเศรษฐกิจดิจิทัลอาเซียน” หรือ “DEFA” (Digital Economy Framework Agreement) ที่จะร่วมกันพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลในภูมิภาคอาเซียนให้รวมเป็นหนึ่งเดียวและจะมีประชากรรวมกันกว่า 600 ล้านคน ซึ่งจะส่งผลให้อาเซียนกลายเป็นภูมิภาคที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 4 ของโลกและจะดึงดูดเม็ดเงินด้านเศรษฐกิจดิจิทัลเข้ามาในภูมิภาคจำนวนมาก โดยประเทศไทยมีบทบาทสำคัญในการเป็นประธานในการเจรจา (Negotiation Share) ของกรอบความตกลงนี้ และในปัจจุบันมีความคืบหน้าในการลงนามไปแล้วกว่า 50% ซึ่งจะเกิดการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาเปลี่ยนแปลงการซื้อขาย (Trade Digitalization) ให้เกิดการเชื่อมต่อแบบไร้พรมแดนระหว่างกันในประเทศสมาชิกอาเซียน โดยเฉพาะใน 3 ด้านหลักนี้


1.Free-flow of Payments หรือ ความลื่นไหลของการชำระเงิน คือ การชำระเงินจะสามารถเชื่อมต่อกันได้ (Cross-border Payments) ในอาเซียน โดยจะมีศักยภาพเหมือนการโอนเงินพร้อมเพย์ให้กันได้ทั่วถึงครอบคลุมทั้งภูมิภาค แต่ยังคงมีหลายประเด็นที่ประเทศสมาชิกต้องมาตกลงกันเพิ่มเติม เช่น Data Flows (กระแสข้อมูล), Cyber Security (ความปลอดภัยทางไซเบอร์), Emerging Technology (เทคโนโลยีเกิดใหม่) ฯลฯ ที่จะต้องมาหาทางออกร่วมกัน


2.Free-flow of Goods & Services หรือ ความลื่นไหลของสินค้าและบริการ คือ ระบบการเชื่อมโยงระบบอิเล็กทรอนิกส์จุดเดียว หรือ “ASEAN Single Window” ที่จะสนับสนุนให้การซื้อขายสินค้าหรือให้บริการระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนมีความไหลลื่นระหว่างกันได้ แต่จะต้องกำหนดมาตรฐานเดียวกันสำหรับการนำเข้าหรือส่งออก รวมถึงค่าธรรมเนียมและกฎหมายต่างๆ ของกรมศุลกากร ร่วมกันต่อไป


3.Free-flow of People หรือ ความลื่นไหลของทรัพยากรบุคคล คือ การเคลื่อนย้ายของประชากร ในภูมิภาคอาเซียนจะมีการแลกเปลี่ยนระหว่างกันมากขึ้นเป็นรูปแบบของ Talent Mobility ทั้งการทำงานข้ามประเทศระหว่างกันหรือการเดินทางท่องเที่ยวในภูมิภาคอาเซียน โดยมี One Passport หรือ One Visa แบบ European Zone

ทั้งนี้ ข้อตกลง DEFA ในด้านเทคโนโลยีต่างๆ ทั้ง AI, Big Data, 3D Printing, IOT ฯลฯ มีการเปลี่ยนแปลงพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งกว่าจะหาข้อตกลงกันได้ก็ใช้เวลานาน ทำให้ข้อตกลงในด้านเหล่านี้มีการเปิดช่องบางส่วนไว้เป็น Flexible Regulation ที่สามารถปรับเปลี่ยนและยืดหยุ่นได้ เผื่อรองรับการเกิดเทคโนโลยีใหม่ในอนาคต

เพียง 60% ของ DEFA คาดดึงเม็ดเงินกว่า 2 trillion USD เข้าอาเซียน

DEFA ถือเป็นข้อตกลงที่มีความสำคัญเพราะมีลักษณะ Legally Binding (ทุกฝ่ายมีผลผูกพันตามกฎหมาย) ที่มีผลบังคับใช้กับทุกฝ่ายในข้อตกลงให้เดินหน้าตามกรอบความร่วมมือเดียวกันเป็น One ASEAN ที่จะดึงดูดความสนใจของนักลงทุนและนักพัฒนาจากทั่วโลกให้เข้ามาสู่ภูมิภาคอาเซียน ซึ่งถูกประมาณการว่า เพียง 60% ของการลงนาม DEFA นี้สามารถดึงเม็ดเงินเข้าภูมิภาคได้กว่า 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 7.2 หมื่นล้านบาท) นอกจากนี้ Relative Growth Rate หรืออัตราเจริญเติบโตสัมพัทธ์ ที่เกิดขึ้นของแต่ละประเทศก็จะมีการเติบโตไม่เท่ากัน เช่น ประเทศอินโดนีเซียน่าจะโต 1.5 เท่า ในขณะที่กลุ่มประเทศแม่โขงแอเรีย อย่างประเทศลาว เมียนมา และกัมพูชา มีโอกาสโตได้ถึง 3-5 เท่าเลยทีเดียว ซึ่ง DEFA จะสร้างประโยชน์ให้กับกลุ่มประเทศเล็ก ๆ ให้มีโอกาสเติบโตสูงขึ้นมาก

โดยเหตุผลหลักที่ของการร่วมมือกันคือการเพิ่ม Scale ของกลุ่มประเทศขนาดเล็ก เพื่อให้มีเสียงที่ดังขึ้นและอำนาจต่อรองที่มากขึ้น ซึ่งสถานการณ์ภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) ในปัจจุบันที่ขยับจาก Unilateral System (ระบบที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน) ที่มีสหรัฐอเมริกาเป็นพี่ใหญ่ที่ทำให้ทุกคนปรองดองและโตไปด้วยกัน มาสู่ยุค Multilateral System (ระบบพหุภาคี) ที่มี European Zone และจีนที่ก้าวขึ้นมามีบทบาทคู่กับสหรัฐอเมริกา ทำให้ประเทศเล็กๆ จะต้องหาทางรับมือในการอยู่ร่วมกับประเทศมหาอำนาจแต่ละกลุ่ม

3 ทางรอด ประเทศเล็กใช้รับมือประเทศมหาอำนาจ


ในที่ประชุมเวทีโลกสรุปกลยุทธ์ที่กลุ่มประเทศขนาดเล็กหรือ Small State ใช้รับมือกับประเทศมหาอำนาจเป็น 3 แนวทาง ดังนี้ 


1.การเป็นผู้ยอมรับชะตากรรม (Be a Price Taker) แนวทางนี้ใช้โดยประเทศสิงคโปร์ เปรียบเสมือนการทำตัวเป็น "กุ้งมีพิษ" ที่แม้ไม่สามารถทำร้ายใครได้ แต่หากถูกกินก็จะสร้างความเจ็บป่วยให้ผู้กิน ซึ่งคือการยอมรับว่าประเทศเล็กไม่สามารถเปลี่ยนแปลงการกระทำของมหาอำนาจได้ ทำได้แต่ยอมรับผลการตัดสินใจของประเทศมหาอำนาจ แต่ในขณะเดียวกันก็ลดความเสี่ยงจากการเผชิญหน้าโดยตรง


2.การทูตแบบจักรยาน (Bicycle Diplomacy) กลยุทธ์นี้เน้นความคล่องตัวและการปรับตัว เปรียบเสมือนจักรยานที่สามารถเลี้ยวหลบหลีกระหว่างรถบรรทุกขนาดใหญ่ที่กำลังปะทะกัน ประเทศเล็กสามารถหาช่องทางเอาตัวรอดได้ในขณะที่มหาอำนาจกำลังขัดแย้งกัน แต่ข้อเสียคืออาจไม่ส่งเสริมการพัฒนาในภาพรวม เพราะเน้นเพียงการเอาตัวรอด


3.การสร้างความน่าเชื่อถือเพื่อถ่วงดุลอำนาจ (Break the Great Locks) แนวทางนี้เน้นการสร้างความน่าเชื่อถือผ่านการมีผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ มีความรู้ และสามารถนำเสนอข้อเท็จจริงที่มีน้ำหนัก ทำให้ประเทศขนาดเล็กสามารถมีเสียงในเวทีระหว่างประเทศได้ 

อย่างไรก็ตาม แต่ละกลยุทธ์ก็มีข้อดีและข้อเสียแตกต่างกัน การเลือกใช้ขึ้นอยู่กับบริบทและสถานการณ์ของแต่ละประเทศ ประเทศขนาดเล็กอาจต้องผสมผสานกลยุทธ์เหล่านี้เพื่อรับมือกับความท้าทายในเวทีระหว่างประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ


โลกจาก Globalization สู่ Regionalization: ความท้าทายและโอกาสสำหรับประเทศเล็ก

ในช่วง 200 ปีที่ผ่านมา โลกได้พัฒนาจากการรวมกลุ่มระดับภูมิภาค (Regionalization) ไปสู่โลกาภิวัตน์ (Globalization) แต่ปัจจุบันกำลังเกิดการเปลี่ยนแปลงที่มีแนวโน้มกลับไปสู่ Regionalization อีกครั้ง ซึ่งเป็นโอกาสสำคัญสำหรับประเทศขนาดเล็กในการสร้างอำนาจต่อรองมากขึ้น โดยประเทศขนาดเล็กจำเป็นต้องรวมกลุ่มกันเพื่อสร้างอำนาจต่อรองในเวทีโลก ซึ่งอาเซียนเป็นตัวอย่างที่ดีของการรวมกลุ่มผ่านข้อตกลง DEFA ที่จะช่วยสร้าง Scale และ Movement ให้กลุ่มประเทศขนาดเล็กมีเสียงที่ดังขึ้น

นอกจากนี้ AI ก็เป็นอีกอำนาจต่อรองของประเทศมหาอำนาจ เพราะการพัฒนา Fundamental Layer ของ AI จำเป็นต้องใช้เงินลงทุนมหาศาล ซึ่งประเทศขนาดเล็กจะไม่สามารถลงทุนเองได้เลยและทำให้ต้องพึ่งพาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศมหาอำนาจทั้ง 3 แห่ง คือ Open AI ของสหรัฐอเมริกา State-Led AI ของจีน และ Closed System ของยุโรป ทำให้อาจถูก Weaponized ได้ เพราะจำเป็นต้องพึ่งพาการพัฒนาและการใช้งาน AI บน One System จึงเกิดแนวคิด Regionalization ขึ้น โดยให้ประเทศในภูมิภาคควรร่วมมือกันพัฒนา Regionalized AI เช่น ASEAN AI เพื่อลดการพึ่งพามหาอำนาจและสร้างความเป็นอิสระทางเทคโนโลยีอีกด้วย

การกลับสู่ Regionalization เป็นทั้งความท้าทายและโอกาสสำหรับประเทศขนาดเล็ก การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยีในระดับภูมิภาคจะเป็นกุญแจสำคัญในการสร้างความเข้มแข็งและลดการพึ่งพามหาอำนาจ ขณะเดียวกันก็ต้องรักษาสมดุลในการมีปฏิสัมพันธ์กับประเทศมหาอำนาจอย่างจีนที่ยังคงมีอิทธิพลสูงต่อเศรษฐกิจโลก


กลยุทธ์ของจีนในการรับมือกับความท้าทายทางเศรษฐกิจโลก

การแยกตัวทางเศรษฐกิจระหว่างตะวันตกและตะวันออกส่งผลให้เกิดการกระจาย supply chain ออกจากจีนมากขึ้น เกิดแนวคิด "China plus one" แต่จีนยังคงมีบทบาทสำคัญในเศรษฐกิจโลก โดยเพียงแค่ 5% Growth ของจีนยังเยอะกว่ามูลค่าของอินเดียและญี่ปุ่นรวมกันเสียอีก ซึ่งปีนี้จีนคาดการณ์ว่าจะโตได้ถึง 5.3% ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อ GDP โลกมากถึง 18% ในขณะที่ตะวันออกกลางทั้งภูมิภาคมีผลกระทบเพียง 4% ดังนั้น เศรษฐกิจโลกก็ยังต้องพึ่งพาจีนและจีนยังคงไปต่อได้ในอนาคต

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรี Li Qiang ได้นำเสนอที่ประชุมใน 5 กลยุทธ์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจจีนและมีส่วนร่วมในการพัฒนาเศรษฐกิจโลก ซึ่งครอบคลุมทั้ง 1 มาตรการระยะสั้นและ 4 มาตรการระยะยาว ดังนี้

1.การรักษารากฐานให้แข็งแรง (Keep the Roots Healthy) เป็นกลยุทธ์ระยะสั้นที่มุ่งเน้นการสร้างความมั่นคงให้กับรากฐานเศรษฐกิจ ผ่านการใช้นโยบายทั้งระดับมหภาคและจุลภาคเพื่อกระตุ้นการใช้จ่าย โดยเน้นการ "ทำความสะอาด" (Clean up) เพื่อสร้างความยั่งยืนในระยะยาว แนวทางนี้สะท้อนให้เห็นถึงความพยายามของจีนในการสร้างพื้นฐานที่มั่นคงสำหรับการเติบโตในอนาคต

2.การปฏิวัติดิจิทัล (Digital Revolution) จีนมุ่งสู่การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 โดยให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีล้ำสมัย เช่น AI, Big Data, 3D Printing, IoT และ Blockchain เป้าหมายคือการสร้างตลาดใหม่ (Blue Oceans) และเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เพื่อปลดล็อก Productivity และ Market Opportunities ใหม่ๆ นอกจากนี้ จีนยังเปิดรับการลงทุนจากต่างชาติในด้านการวิจัยและพัฒนา (R&D) โดยมุ่งเติบโตไปด้วยกัน

3.การพัฒนาสีเขียว (Green Development) จีนให้ความสำคัญกับการพัฒนาที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่มุ่งพัฒนารถยนต์ที่ Smart, Internet Based, and Energy Conserving Vehicle (ยานยนต์อัจฉริยะ ออนไลน์ และประหยัดพลังงาน) เหมือนเครื่องไอโฟนที่อัปเดตซอฟต์แวร์ใหม่ได้อยู่ตลอด ซึ่งรถไฟฟ้าถูกหยิบขึ้นมาพูดหลายเวทีมากในปีนี้ อาจจะเริ่มเป็นจุดเปลี่ยนของรถไฟฟ้า โดยจีนในตอนนี้มีการส่งออก EV Car เพียง 16% ในขณะที่เยอรมนีมีการส่งออกถึง 80% และคาดว่าจะมีความต้องการสูงถึง 45 ล้านคันภายในปี 2040 ทำให้จีนยังมีโอกาสเติบโตในตลาดนี้อีกมาก

4.การเปิดกว้างเพื่อความร่วมมือ (Open Cooperation) จีนส่งเสริมการแข่งขันที่เป็นธรรมและสร้างสถานการณ์ Win-win ในการทำธุรกิจระหว่างประเทศ แนวคิดนี้มุ่งเน้นการขยาย "พาย" เศรษฐกิจให้ใหญ่ขึ้นเพื่อประโยชน์ร่วมกันของทุกฝ่าย

5.การเติบโตแบบมีส่วนร่วม (Inclusive Growth) ภายใต้แนวคิด "ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง" จีนมุ่งพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง และส่งเสริมความหลากหลาย ความเท่าเทียม และการมีส่วนร่วมในสังคม (Diversity, Equity และ Inclusion)

แม้ว่าจะเกิดปรากฏการณ์ Decoupling ระหว่างจีนกับประเทศตะวันตก แต่บทบาทของจีนในเศรษฐกิจโลกยังคงมีความสำคัญ การลงทุนในจีนอาจชะลอตัวในระยะสั้น แต่ในระยะยาว จีนยังคงเป็นตลาดที่มีศักยภาพและมีอิทธิพลต่อเศรษฐกิจโลกอย่างมีนัยสำคัญ กลยุทธ์เหล่านี้แสดงให้เห็นถึงความพยายามของจีนในการปรับตัวและรับมือกับความท้าทายในยุคเศรษฐกิจโลกที่มีความผันผวน โดยมุ่งเน้นทั้งการพัฒนาภายในประเทศและการสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศ เพื่อรักษาบทบาทสำคัญในเวทีเศรษฐกิจโลกต่อไป

กลยุทธ์สีเขียวของเวียดนามหวั่นกระทบส่งออกข้าวไทย

เวียดนามกำลังก้าวขึ้นมาเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างโดดเด่นในภูมิภาคอาเซียน โดยในปี 2022 เติบโตถึง 8% ต่อมาในปี 2023 เติบโต 5% และคาดการณ์ว่าในปี 2024 จะเติบโตถึง 6% ซึ่งเป็นอัตราที่สูงกว่าประเทศจีน ซึ่งในระยะสั้นนั้น เวียดนามมีการควบคุมหนี้สินครัวเรือนอยู่ในอัตราที่ต่ำมากและสามารถคุมเงินเฟ้อได้แล้ว รวมถึงมีข้าวสำรองของประเทศ (Rice Reserve) อยู่ถึง 4 ล้านตัน และลดดอกเบี้ยให้กับ Entreprise เพื่อให้เข้าถึงต้นทุนการทำธุรกิจที่ต่ำอีกด้วย ด้วยกลยุทธ์ระยะสั้นเหล่านี้ทำให้ประเทศเวียดนามมีรากฐานที่แข็งแรง

ส่วนในระยะยาวเวียดนามก็มีวิสัยทัศน์เหมือนกันกับจีนใน 4 ด้าน คือ Digital, Green, Open และ Inclusive โดยเวียดนามเน้นการปรับกฎระเบียบและนโยบายให้สอดคล้องไปกับทิศทางเดียวกับโลก รวมถึงให้ความสำคัญกับการลงทุนในกลุ่ม New Infrastructure เช่น AI, Big Data, 3D Printing, Internet from the sky, IoT และ Blockchain ซึ่งจะช่วยให้เวียดนามสามารถเติบโตได้เร็ว โดยเฉพาะการผลิตและพัฒนากำลังคนของเวียดนามที่สามารถผลิตนักศึกษาในสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้ถึง 500,000 คนต่อปี สอดรับกับการเติบโตของเวียดนามในปีนี้ที่ 16% มาจากธุรกิจ Digital Economy

อีกหนึ่งเรื่องที่คนไทยต้องรู้คือ นายกรัฐมนตรีของเวียดนามประกาศในที่ประชุมว่า ตอนนี้เวียดนามสามารถที่จะผลิตข้าว High Quality Low-Methane Rice เป็นการผลิตข้าวคุณภาพดีที่ลดการปลดปล่อยมีเทนได้สำเร็จแล้ว ซึ่งหากมาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป หรือ CBAM (Carbon Border Adjustment Mechanism) ถูกบังคับใช้จริงจังเมื่อไหร่ จะส่งผลให้ข้าวของเวียดนามสามารถส่งออกไปยังโซนยุโรปและอเมริกาได้ง่ายมาก ในขณะที่ข้าวหอมมะลิไทยอาจจะส่งออกไปกลุ่มประเทศเหล่านี้ไม่ได้หรืออาจโดนกำแพงภาษีนำเข้ามหาศาล ทำให้การส่งออกข้าวไทยอาจแพ้ประเทศเวียดนามทันที นับเป็นเรื่องที่ประเทศไทยจะต้องรีบทบทวนอย่างเร่งด่วน

ประเทศไทยกับการเตรียมพร้อมสู่อนาคต

สิ่งแรกคือคนไทยจะต้องรู้และเตรียมพร้อมสู่ข้อตกลง DEFA ที่กำลังจะเกิดขึ้น ภายใต้แนวคิด "One ASEAN Strong People" อาเซียนจะต้องรวมตัวกันเป็นพลังที่แข็งแกร่ง เนื่องจากในอนาคต แนวโน้มจะเปลี่ยนจาก Globalization เป็น Regionalization ประเทศไทยควรเตรียมพร้อมเข้าร่วม DEFA และเจรจาเพื่อผลประโยชน์สูงสุด เพื่อสร้างอำนาจต่อรองของภูมิภาคอาเซียน

รวมถึงการสร้างรากฐานที่แข็งแรงให้กับประเทศไทยโดยพิจารณาจากกลยุทธ์ของจีนและเวียดนามมาปรับใช้อย่างเร่งด่วน พร้อมเร่งแก้ไขปัญหาหนี้สินครัวเรือนและหนี้สินรัฐบาล การเตรียมความพร้อมสำหรับสังคมผู้สูงอายุ (Ageing Population) และเศรษฐกิจผู้สูงวัย (Silver Economy) เพื่อมุ่งสร้างการเติบโตแบบมีส่วนร่วม (Inclusive Growth) และไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

อีกเรื่องที่สำคัญ คือ การพัฒนาศักยภาพของมนุษย์ (Human Capital) ซึ่งประเทศไทยต้องส่งเสริมให้ประชาชนมีทักษะ (Skill Set) ที่สอดคล้องกับทิศทางของโลก เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงและโอกาสใหม่ ๆ ที่จะเกิดขึ้น รวมถึงการยกระดับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DES) ให้เป็นกระทรวงเกรด A เพื่อผลักดันด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (Scientech) อย่างจริงจัง เพื่อเตรียมพร้อมคนไทยให้สามารถแข่งขันในตลาด Digital Economy ได้ อีกทั้งยกระดับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้เป็นกระทรวงเกรด A เช่นกัน เพื่อจัดการเรื่องการพัฒนาสีเขียว (Green Development) อย่างจริงจัง โดยให้ความสำคัญกับประเด็นต่างๆ เช่น Carbon Pricing, Carbon Tax, Net Zero, Climate Tech, Green Loan, Green Transition และ Green Finance เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการไทยสามารถปรับตัวให้ทันกับแนวโน้มของโลก โดยเฉพาะในเรื่องของการผลิตข้าวไทย

การเตรียมความพร้อมในด้านต่างๆ เหล่านี้จะช่วยให้ประเทศไทยสามารถรับมือกับความท้าทายในอนาคตและก้าวสู่การเป็นประเทศที่มีความเข้มแข็งทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม พร้อมที่จะแข่งขันในเวทีโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพ


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ