ข้อมูลของ สสส. ปี 2566 พบว่า คนวัยทำงานใช้เวลาถึง 1 ใน 3 ของแต่ละวันไปกับการทำงาน และจากข้อมูลโดยมหาวิทยาลัยมหิดล พบว่า คนกรุงเทพฯ 7 ใน 10 มีอาการหมดไฟในการทำงาน และจากข้อมูลของสายด่วน 1323 ของกรมสุขภาพจิต ปี 2566 พบว่า วัยแรงงานขอรับบริการเรื่องความเครียด วิตกกังวล ไม่มีความสุขในการทำงานมากถึง 5,989 สาย จากทั้งหมด 8,009 สาย และมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้น
สอดคล้องกับข้อมูลระดับโลก โดย Mercer บริษัทที่ปรึกษาด้านทรัพยากรบุคคลระดับโลก พบว่า มากกว่า 8 ใน 10 ของพนักงานทั่วโลกมีความเสี่ยงที่จะหมดไฟ โดยระบุถึงสาเหตุว่า 43% เกิดจาก ‘ความตึงเครียดทางการเงิน’ 40% ระบุว่าเกิดจาก ‘ความเหนื่อยล้า’ และ 37% ระบุว่าต้องเผชิญกับ ‘ภาระงานที่มากเกินไป’
ด้าน ETDA หรือสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์หน่วยงานที่มุ่งส่งเสริมให้คนไทยชีวิตดีเมื่อมีดิจิทัล เผยแพร่ บทความชวนคนไทยเช็กอาการ ‘Burnout Syndrome’ พร้อมเจาะ 4 สาเหตุใหญ่ที่ทำคนทำงานในประเทศไทยหมดไฟในยุคดิจิทัล
รายได้ถือเป็นปัญหาใหญ่ที่สุดสำหรับคนทำงาน เพราะในปัจจุบันสัดส่วนภาระงานต่อคนทำงานหนึ่งคนมีมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกันรายได้ที่ได้รับกลับไม่ได้มากเพียงพอ เมื่อเทียบกับปริมาณงานและค่าครองชีพในปัจจุบันอาจทำให้คนทำงานเริ่มตั้งคำถามถึงความคุ้มค่าสำหรับรายได้ที่ได้รับกับการลงแรงทำงานที่เสียไปจนทำให้เกิดความเฉยชาต่องานมากขึ้น
เวลาการทำงานที่จำกัดส่งผลให้เกิดความกดดันและความเครียดมากขึ้น ซึ่งเป็นสาเหตุต่อเนื่องมาจากภาระงานต่อคนที่มีมากขึ้น ทำให้คนทำงานต้องบริหารจัดการงานให้เสร็จได้ทันตามกำหนดเวลาที่มีอยู่อย่างจำกัดจนเกิดความเครียด กดดัน และกระทบต่อความคิดสร้างสรรค์ในการทำงาน ไม่สามารถจัดการงานให้เสร็จตามกรอบเวลาที่กำหนด ขณะที่งานใหม่ก็เข้ามาเพิ่มเรื่อยๆ จนทำให้ภาวะความเครียดสะสมมากขึ้นตามมา
การติดต่อสื่อสาร การเปิดรับข้อมูลข่าวสารต่างๆ รวมถึงการประชุมทางออนไลน์ผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัลติดต่อกันเป็นเวลายาวนานมากๆ โดยไม่เว้นแม้แต่ตอนพัก หรือช่วงที่ใช้ชีวิตส่วนตัว จนทำให้เกิดภาวะความเหนื่อยล้าทางร่างกาย ลุกลามไปถึงทางจิตใจที่ไม่สามารถแยกชีวิตส่วนตัวกับชีวิตการทำงานออกจากกันได้ จนทำให้เกิดความเครียดสะสมโดยไม่รู้ตัว และนำไปสู่ภาวะหมดไฟในที่สุด
การมองเห็นชีวิตของคนอื่นที่อยู่ในวัยใกล้เคียงกันผ่านโลกโซเชียล ทั้งคนใกล้ตัวหรือคนมีชื่อเสียงที่ประสบความสำเร็จ อาจทำให้เกิดการเปรียบเทียบกับตัวเองจนทำให้รู้สึกเครียดและกดดันว่าทำไมตัวเองถึงทำไม่ได้เท่าเขา มีไม่เท่าเขาจนเกิดความรู้สึกไม่ภูมิใจในตนเอง อีกทั้งคนในโซเชียลมีเดียก็ยังนิยมสร้างคอนเทนต์โชว์ความสำเร็จ ก็ยิ่งเพิ่มโอกาสให้เราเห็นความสำเร็จของชีวิตคนอื่นมากขึ้น ตัวเองก็ยิ่งกดดันมากขึ้นจนบางครั้งเราอาจจะลืมนึกไปว่า ชีวิตอีกด้านหลังโลกโซเชียลของคนเหล่านั้น ก็อาจจะเครียดไม่ต่างไปกับเราก็ได้
มากไปกว่านั้น ETDA ชี้ให้เห็นว่า เมื่อรู้ถึงสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะหมดไฟในการทำงานแล้ว วิธีที่จะตั้งรับก่อนภาวะนี้จะเกิดจึงเป็นสิ่งสำคัญ
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ - https://www.facebook.com/ThairathMoney