Thairath OnlineThairath PlusThairath SportThairath TVMIRROR

กลุ่มศรีตรังเปิดตัว “ยาง GPS” ตรวจแหล่งที่มา ไม่ทำร้ายป่า ส่งออกยุโรปได้

Date Time: 7 มี.ค. 2567 18:40 น.

Summary

  • กลุ่มบริษัทศรีตรัง เปิดตัว “ยางมีพิกัด” หรือ “ยาง GPS” ที่สามารถตรวจสอบย้อนกลับแหล่งที่มา (Traceability) ของยางได้ สอดรับกฎหมายสินค้าปลอดการตัดไม้ทำลายป่า (EUDR) ของยุโรป ที่เตรียมบังคับใช้สิ้นปีนี้ พร้อมเผยแผนการดำเนินงานปี 2567 ขยายกำลังการผลิตจากเดิม 3.66 ล้านตัน เพิ่มขึ้นเป็น 3.86 ล้านตัน

กลุ่มบริษัทศรีตรัง เปิดตัว “ยางมีพิกัด” หรือ “ยาง GPS” ที่สามารถตรวจสอบย้อนกลับแหล่งที่มา (Traceability) ของยางได้ 100% สอดรับกฎหมายสินค้าปลอดการตัดไม้ทำลายป่า (EUDR) ของยุโรปที่เตรียมบังคับใช้สิ้นปีนี้ พร้อมเพิ่มความสามารถการแข่งขันให้กับอุตสาหกรรมยางพาราไทย

สำหรับมาตรการ EUDR เพื่อควบคุมสินค้าที่มาจากการตัดไม้ทำลายป่าจะมีผลครอบคลุมสินค้า 7 กลุ่ม ได้แก่ โกโก้ กาแฟ ถั่วเหลือง ยางพารา ปาล์มน้ำมัน โค และไม้ ซึ่งรวมไปถึงผลิตภัณฑ์แปรรูปจากสินค้าเหล่านี้ด้วย 

และข้อมูลจากเว็บไซต์กระทรวงพาณิชย์ระบุ ในปี 2566 ไทยได้ส่งออกสินค้าภายใต้มาตรการ EUDR ไปยังสหภาพยุโรปรวมเป็นมูลค่า 455.58 ล้านดอลลาร์ (หรือประมาณ 1.62 หมื่นล้านบาท) โดยยางพารามีมูลค่าการส่งออกสูงสุดที่ 386.55 ล้านดอลลาร์ (หรือประมาณ 1.37 หมื่นล้านบาท) คิดเป็นสัดสัดส่วน 84.85% ของมูลค่าการส่งออกสินค้าภายใต้มาตรการ EUDR ทั้งหมด

ซึ่งยางมีพิกัดจะสามารถตรวจสอบแหล่งที่มาของยางว่าไม่ได้เป็นผลผลิตจากการตัดไม้ทำลายป่า และทำให้ไทยมีข้อได้เปรียบในการส่งออกยางไปยังสหภาพยุโรปรวมถึงตลาดทั่วโลก เพราะเป็นไปตามกฎหมายสากล ขณะเดียวกันก็สอดรับกับพันธกิจของศรีตรังในการรักษาส่วนแบ่งตลาดในสหภาพยุโรป ตลอดจนกลยุทธ์ 4 Green เพื่อขับเคลื่อนบริษัทสู่ความยั่งยืน

วีรสิทธิ์ สินเจริญกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่และกรรมการบริหาร บริษัท ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) หรือ STA ได้ระบุถึงแนวโน้มราคาของยางมีพิกัดว่า ตามทฤษฎีแล้วยางที่มีการตรวจสอบย้อนกลับได้จะมีการลงทุนที่ค่อนข้างสูง ดังนั้นแล้วราคายางมีพิกัดจึงควรจะมีราคาสูงกว่ายางปกติ แต่ปัจจุบันยังอยู่ระหว่างการพิจารณาเรื่องต้นทุน และยังไม่ได้มีการประกาศราคายางมีพิกัดออกมา ซึ่งต้องรอติดตามกันต่อไป

สำหรับภาพรวมอุตสาหกรรมยางธรรมชาติปี 2567 วีรสิทธิ์ เผยว่า มีแนวโน้มเติบโตจากปีก่อน โดยมีปัจจัยส่งเสริมจากดีมานด์ยางในยุโรปและสหรัฐอเมริกาที่เริ่มฟื้นตัว นอกจากนี้หากสถานการณ์เศรษฐกิจประเทศจีนเริ่มฟื้นตัวก็จะเป็นปัจจัยที่ส่งผลดีต่อภาพรวมดีมานด์อุตสาหกรรมยางธรรมชาติ เนื่องจากจีนเป็นผู้บริโภคยางรายใหญ่ของโลก 

และสถานการณ์ราคายางธรรมชาติก็เริ่มทยอยเพิ่มขึ้นตั้งแต่ช่วงปลายปีที่ผ่านมา โดยราคาเฉลี่ยยาง TSR 20 ณ ตลาด SICOM ในเดือนมกราคม-เดือนกุมภาพันธ์ 2567 อยู่ที่ 152.7-155.1 เซนต์ต่อกิโลกรัม เพิ่มขึ้นจากจากราคาเฉลี่ยเดือนธันวาคมอยู่ที่ 145.4 เซนต์ต่อกิโลกรัม หรือราว 5-7%

พร้อมกันนี้ วีรสิทธิ์ ได้เสริมว่า “ไทยทำอุตสาหกรรมยางมาหลายร้อยปี ถ้าทุกวันนี้ยังทำแบบเดิม กรีดยาง ขายยางแบบเดิมไม่มีการเพิ่มมูลค่า การเรียกราคาขึ้นนั้นก็จะยาก ดังนั้นถ้าเราสามารถทำยางมีพิกัด เพื่อตอบสนอง EUDR ผมเชื่อว่าประเทศไทยจะเป็นประเทศที่ได้เปรียบ และน่าจะสามารถเรียกราคาจากการเพิ่มมูลค่าตรงนี้ได้”

ด้าน ปภาวี ศรีสุทธิพงศ์ Business Development and Partnership Manager บริษัท ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทวางเป้าหมายตัวเลขเกษตรกร และผู้ค้ายาง ที่จะทำยางมีพิกัดกับศรีตรังจำนวน 100,000 ราย ภายในสิ้นปี 2567 และตั้งเป้าที่จะขยายเพิ่มขึ้นเป็น 220,000 ราย ภายในสิ้นปี 2568 

นอกจากนี้ ศรีตรัง ยังได้เปิดแผนการดำเนินงานปี 2567 โดยเตรียมขยายกำลังการผลิตจากเดิม 3.66 ล้านตัน เพิ่มเป็น 3.86 ล้านตัน ตั้งเป้าปริมาณการขายยางทุกประเภทในปี 2567 รวมทั้งสิ้น 1.5 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 15% จากปีก่อนที่ 1.3 ล้านตัน โดยเน้นการบริหารสต๊อกยางพาราให้สอดคล้องกับความต้องการ และเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตผ่านการใช้ระบบ Automation ภายในโรงงานเพิ่มมากขึ้น

พร้อมเปิดศูนย์รับซื้อวัตถุดิบที่ประเทศไอวอรี่โคสต์ ในแถบแอฟริกาตะวันตก ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพในการเติบโตของผลผลิตยางพารา พร้อมกับการเตรียมความพร้อมเรื่องการตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability) แบบรอบด้านทุกส่วนสำหรับรองรับ EUDR หรือกฎมาตรการอื่นๆ ของตลาดทั่วโลก

ซึ่งการเตรียมการของศรีตรังจะเริ่มตั้งแต่การจัดหายางที่ต้องมาจากแหล่งที่ไม่ได้มีการบุกรุกป่า ฝั่งโรงงานเองก็ต้องเก็บข้อมูลเพื่อการตรวจสอบย้อนกลับ และลงทุนในแอปพลิเคชัน ‘Sri Trang Friends’ และ ‘Sri Trang Friends Station’ เพื่อใช้เป็นแหล่งข้อมูลในการตรวจสอบ ตลอดจนการสื่อสารเพื่อสร้างความเข้าใจถึงเรื่องการตรวจสอบย้อนกลับ สู่การสร้างมิติใหม่ให้แก่อุตสาหกรรมยางพาราของประเทศไทย และเป็นไปตามการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมยางพาราในตลาดโลก.

ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ - https://www.facebook.com/ThairathMoney


เราใช้คุ้กกี้

เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น

อ่านเพิ่มเติมคลิก(Privacy Policy) และ (Cookie Policy)