อาชญากรรมทางไซเบอร์อีกหนึ่งปัญหาที่พบมากขึ้นในปัจจุบัน ด้วยกลโกงของมิจฉาชีพที่มาในรูปแบบต่างๆ ตั้งแต่การหลอกให้ลงทุน การหลอกขายสินค้าออนไลน์ การหลอกให้โอนเงิน การแฮกบัญชีโซเชียลมีเดียเพื่อหลอกยืมเงินคนรู้จัก ไปจนถึงการหลอกให้ติดตั้งโปรแกรมหรือแอปพลิเคชันเพื่อควบคุมทางไกล
ซึ่งผู้ถูกหลอกส่วนมากมักเป็นกลุ่มผู้สูงวัยที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปเนื่องจากคนกลุ่มนี้ยังขาดความเข้าใจและความเท่าทันต่อเหตุการณ์ความปลอดภัยทางไซเบอร์ แม้แต่เด็ก วัยรุ่น หรือคนวัยทำงานเองก็มีความเสี่ยงต่อการตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพทั้งสิ้น
และจากรายงานของ Cybersecurity Ventures ที่คาดการณ์ว่าปี 2023 จะมีมูลค่าความเสียหายทั่วโลกราว 8 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และเพิ่มขึ้น 15% ในทุกปี ซึ่งสอดคล้องกับรายงานของ World Economic Forum ปีล่าสุด ที่เผยว่า 95% ของผู้นำองค์กรยอมรับว่าความปลอดภัยทางไซเบอร์มีความสำคัญมากและจะนำไปพิจารณาเป็นส่วนหนึ่งของแผนกลยุทธ์ในการจัดการความเสี่ยงระดับองค์กร
ในขณะที่สถานการณ์มิจฉาชีพยังคงมีอย่างต่อเนื่องโดยคนไทยต้องรับสายมิจฉาชีพกว่า 17 ล้านครั้งในปี 2022 และกว่า 73% ของข้อความที่ได้รับเป็นข้อความสแปมและข้อความหลอกลวง และยังคนเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่สถาบันการเงินหรือผู้ให้บริการการเงิน จำเป็นต้องมีการพัฒนา ยกระดับ อัปเดต และเพิ่มเทคโนโลยีป้องกันมิจฉาชีพในรูปแบบต่างๆ อย่างสม่ำเสมอ เพื่อเป็นอีกหนึ่งเกราะป้องกันมิจฉาชีพได้อย่างรัดกุม และปกป้องผู้ใช้บริการของตนเอง
ชวัล เหล่าสุนทร นักวิจัยอิสระ และผู้เชี่ยวชาญด้านอาชญากรรมออนไลน์ เล่าถึงปัญหาที่พบในปัจจุบันว่า ทุกวันนี้ผู้ให้บริการส่วนใหญ่มักจะออกมาให้ความรู้เกี่ยวกับความปลอดภัยบนโลกออนไลน์พร้อมผลักภาระไปให้ผู้ใช้งานด้วยความคาดหวังว่าประชาชนจะสามารถปกป้องตัวเองได้ ซึ่งผู้ให้บริการแอปพลิเคชันทางการเงินเหล่านี้มักคิดค้นในส่วนของเทคโนโลยีการยืนยันตัวตนเพื่อเข้าถึงบัญชีเท่านั้น แต่สุดท้ายเมื่อผู้บริโภคมีหลายบัญชีก็มักจะใช้รหัสผ่านซ้ำในทุกบัญชี ดังนั้นเมื่อถูกหลอกจึงเกิดความเสียหายสูง
พร้อมเสริมว่าโอกาสที่เห็นอยู่ในขณะนี้คือเรื่องของการนำ AI มาประยุกต์ใช้ในการให้บริการ เพราะนอกเหนือจากการที่ผู้ใช้งานต้องทำความเข้าใจเทคโนโลยีและรู้เท่าทันมิจฉาชีพแล้ว ผู้ให้บริการทางการเงินที่มีข้อมูลลูกค้าอยู่ในมือก็ควรจะสามารถใช้ข้อมูลเหล่านั้นร่วมกับการพัฒนาเทคโนโลยีในการปกป้องลูกค้าเพื่อยับยั้งความเสี่ยงหรือความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น
และในการร่วมจัดการปัญหาอาชญากรรมไซเบอร์อย่างยั่งยืนควรเป็นการทำงานร่วมกันแบบบูรณาการจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องตั้งแต่ฝั่งตำรวจในการทลายวงจรอาชญากรรมไซเบอร์ รวมไปถึงผู้ให้บริการทางการเงินที่อำนวยความสะดวกในด้านข้อมูลในกระบวนการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ตำรวจรวมไปถึงองค์กรอื่นๆ
ด้าน อธิปัตย์ พลอยพรายแก้ว ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารความเสี่ยงและตรวจสอบทุจริต บริษัท ทรูมันนี่ จำกัด ระบุว่า ทรูมันนี่ในฐานะผู้ให้บริการทางการเงินแบบดิจิทัลชั้นนำในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการทำงานแบบบูรณาการร่วมกับภาคส่วนต่างๆ รวมไปถึงการมองหาแนวทางในการเสริมเกราะป้องกันเพื่อแก้ปัญหาอาชญากรรมไซเบอร์อย่างยั่งยืน
ซึ่งนอกจากการป้องกันเมื่อเกิดเหตุแล้วยังเล็งเห็นว่าผู้ให้บริการทางการเงินควรปรับแนวทางในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการโดยคำนึงถึงความเป็นไปได้ของเหตุการณ์ความปลอดภัยทางไซเบอร์ที่มีแนวโน้มจะเกิดขึ้นเพื่ออุดรอยรั่วก่อนจะเกิดเหตุ ผ่านการประยุกต์ใช้นวัตกรรมปัญญาประดิษฐ์อัจฉริยะเพื่อเป็นเกราะคุ้มกันผู้ใช้บริการให้ปลอดภัยห่างไกลจากอาชญากรรมไซเบอร์ที่พร้อมจะจู่โจมในรูปแบบใหม่ๆ และไม่ทันตั้งตัว
นอกจากนี้ทางทรูมันนี่ยังมองว่าปัญหาอาชญากรรมไซเบอร์มีความสำคัญอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งจัดการโดยเร็วเพื่อลดผลกระทบต่อสังคมจากความเสียหายทางทรัพย์สิน โดยเน้นการป้องกันการเกิดเหตุเป็นสำคัญ เร่งตัดวงจรการเกิดเหตุได้ก่อนการถูกหลอกและร่วมสร้างอีโคซิสเต็มการเงินดิจิทัลที่ปลอดภัยให้แก่ผู้ใช้บริการอย่างยั่งยืน