ย้อนกลับไปในปี 1950 เพียง 2 ปี หลังจากการสถาปนารัฐอิสราเอลขึ้นในปี 1948 คณะผู้แทนการค้าชุดแรกก็ได้เดินทางไปอเมริกาใต้ ในตอนนั้นอิสราเอลต้องการคู่ค้าเป็นอย่างมาก ไม่มีแม้กระทั่งทรัพยากรธรรมชาติ ที่จะดึงดูดทุนสนับสนุนเศรษฐกิจ โดยในช่วงแรกพยายามที่จะขายสินค้าอย่าง ส้ม เตาน้ำมันก๊าด และฟันปลอม แต่ตอนนั้นก็ได้กลับมาเพียงแค่เสียงหัวเราะ เพราะประเทศที่ไปทำการค้าด้วยอย่างอาร์เจนตินาปลูกส้มเองและมีไฟฟ้าอยู่แล้ว ดังนั้นสินค้าเหล่านั้นจึงไม่จำเป็น
แต่เวลาผ่านไป 75 ปี อิสราเอลกลายเป็นมหาอำนาจด้านเทคโนโลยีขั้นสูง และเป็นหนึ่งในผู้ส่งออกอาวุธอันดับต้นๆ ของโลก ยอดขายประมาณ 6,500 ล้านดอลลาร์ต่อปี ด้วยระยะเวลาเพียงเท่านี้ และมีประชากรแค่ 9.4 ล้านคน อิสราเอลทำได้อย่างไร?
หากมองความเป็นจริงทางภูมิรัฐศาสตร์ อิสราเอลรายล้อมไปด้วยประเทศเพื่อนบ้านอย่าง อียิปต์ จอร์แดน ซีเรีย และเลบานอน ที่ไม่ค่อยจะเป็นมิตรสักเท่าไรนัก รวมถึงยังเป็นทำเลที่ตั้งที่เรียกได้ว่าต้องอยู่ท่ามกลางความขัดแย้งตลอดกาล ซึ่งปัจจัยที่เลี่ยงไม่ได้เหล่านี้ได้กลายเป็นแรงผลักดันที่อยู่เบื้องหลังความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ที่ทำให้อิสราเอลพัฒนาโซลูชันและอาวุธที่เป็นนวัตกรรมเพื่อความอยู่รอด
และในแต่ละปีอิสราเอลได้จัดสรรงบกว่า 4.5% ของ GDP ทุ่มให้กับการวิจัยและพัฒนา ซึ่งสูงเกือบ 2 เท่าจากค่าเฉลี่ยขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) และในงบประมาณก้อนใหญ่นี้ได้มีการทุ่มเทให้กับโครงการที่เกี่ยวข้องกับการทหารกว่า 30%
ดังนั้นความเข้มแข็งทางทหารของอิสราเอล ได้รับการสนันสนุนจากการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา โดยทั้งภาครัฐและเอกชนได้จัดสรรทรัพยากรจำนวนมากในการพัฒนาเทคโนโลยีที่ล้ำสมัยเพื่อป้องกันประเทศ ซึ่งครอบคลุมในทุกๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็น ความปลอดภัยทางไซเบอร์ ปัญญาประดิษฐ์ ระบบป้องกันขีปนาวุธ และอาวุธขั้นสูง
ด้วยสภาพแวดล้อมทางความมั่นคงของอิสราเอล ก็ได้นำไปสู่ระบบการเกณฑ์ทหารที่แข็งแกร่ง โดยชาวอิสราเอลทุกคนไม่ว่าชายหรือหญิงจะต้องผ่านการเกณฑ์ทหารโดยไม่มีข้อยกเว้น จะต้องไปปฏิบัติหน้าที่ในกองกำลังป้องกันอิสราเอล (The Israel Defense Forces-IDF) ซึ่งเป็นหน่วยงานสร้างบุคลากรที่ผ่านการฝึกอบรมจำนวนมาก ระบบนี้ทำให้ IDF มีความสามารถอย่างกว้างขวาง และช่วยให้มีการระดมพลอย่างรวดเร็วในช่วงเวลาที่เกิดความขัดแย้ง ทำให้มั่นใจได้ว่าประเทศจะสามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีขั้นสูงด้วยกำลังคนที่มีทักษะได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นอกจากเรื่องการรบแล้ว กองทัพอิสราเอลขึ้นชื่อว่าเป็นหน่วยงานด้านการทหารที่มีความสามารถในการปรับตัว และชื่อเสียงในด้านการแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ โดยมักจะคิดค้นวิธีแก้ปัญหาและยุทธวิธีที่เป็นนวัตกรรมใหม่ที่สามารถเอาชนะศัตรูได้ เหล่านี้ล้วนมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งในการรักษาความได้เปรียบทางเทคโนโลยี จึงนำมาสู่การเติบโตของอุตสาหกรรมการป้องกันประเทศ
โดยบริษัทต่างๆ ของอิสราเอล เช่น Israel Aerospace Industries (IAI), Rafael Advanced Defense Systems และ Elbit Systems ต่างก็อยู่ในระดับแนวหน้าของความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น โดรน หน่วยข่าวกรอง การเฝ้าระวัง และการลาดตระเวน (ISR) รวมถึงอาวุธนำวิถีที่มีความแม่นยำ ที่ได้มีการส่งออกไปทั่วโลก ผ่านความร่วมมือกับประเทศอื่นๆ ในการร่วมกันพัฒนาเทคโลยีทางการทหาร และการแลกเปลี่ยนทั้งความรู้และเทคโนโลยีเหล่านี้เองนำไปสู่ความสัมพันธ์ใกล้ชิด โดยเฉพาะอิสราเอลและสหรัฐอเมริกา ส่งผลให้เกิดความพยายามในการวิจัยและพัฒนาร่วมกัน โดยเฉพาะการป้องกันขีปนาวุธ
นอกจากนี้ด้วยพัฒนาการของยุคดิจิทัล ที่ทำสงครามด้วยเทคโนโลยี ทำให้การปฏิบัติการทางทหารของอิสราเอล ให้ความสำคัญกับความปลอดภัยทางไซเบอร์ทำให้เป็นผู้นำระดับโลกในด้านนี้ด้วย ซึ่งทั้งรัฐบาลและเอกชนของอิสราเอลได้ทุ่มเม็ดเงินลงทุนอย่างมากในการวิจัยด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ ที่ไม่ใช่แค่ป้องกันโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญเท่านั้น แต่ยังมีความสามารถในการโจมตีเมื่อจำเป็นอีกด้วย