Thairath OnlineThairath PlusThairath SportThairath TVMIRROR

SAAM ผนึก ปรมินทร์ FWX รุกคริปโต เตรียมออกหุ้นกู้แปลงสภาพซื้อ Bitcoin ลุยธุรกิจ Liquidity Provider

Date Time: 2 เม.ย. 2568 11:31 น.

Summary

  • SAAM ผนึก ปรมินทร์ อินโสม และ FWX รุกธุรกิจคริปโต เตรียมออกหุ้นกู้แปลงสภาพ 350 ล้านบาทซื้อ Bitcoin หวังสร้างรายได้ 300-400 ล้าน/ปี จากบริการเพิ่มสภาพคล่องในตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล พร้อมจับมือ FWX ใช้ AI เสริมประสิทธิภาพ มุ่งสู่การเป็น "Microstrategy of Thailand" ตั้งเป้าธุรกิจดิจิทัลสร้างรายได้เกิน 50% ในปี 2568

SAAM ผนึก "หนึ่ง - ปรมินทร์ อินโสม" และ FWX รุกธุรกิจคริปโต เตรียมออกหุ้นกู้แปลงสภาพ 350 ล้านบาทซื้อ Bitcoin หวังสร้างรายได้ 300-400 ล้าน/ปี จากบริการเพิ่มสภาพคล่องในตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล พร้อมจับมือ FWX ใช้ AI เสริมประสิทธิภาพ มุ่งสู่การเป็น "Microstrategy of Thailand" ตั้งเป้าธุรกิจดิจิทัลสร้างรายได้เกิน 50% ในปี 2568

นายพดด้วง คงคามี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร SAAM เปิดเผยว่า บริษัทอยู่ระหว่างการระดมทุนผ่านการออกหุ้นกู้แปลงสภาพให้กับนักลงทุน 2 กลุ่มทั้งชาวไทยและต่างชาติ มูลค่า 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว  350 ล้านบาท แบบไม่มีดอกเบี้ย เพื่อรองรับแผนการดำเนินธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล

"เราไม่ได้เข้ามาเพื่อถือเหรียญ แต่กำลังสร้างโครงสร้างพื้นฐานสำหรับสินทรัพย์ดิจิทัลในไทย ที่จะช่วยให้ตลาดเติบโต และมีรายได้กลับคืนมาอย่างยั่งยืน ซึ่งไม่ต่างจากการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ระบบไฟฟ้า หรือท่อส่งน้ำในโลกจริง มุ่งสู่การเป็น Microstrategy of Thailand" นายพดด้วงกล่าว

ธุรกิจผู้ให้บริการสภาพคล่องคืออะไร ทำเงินอย่างไร?

ธุรกิจผู้ให้บริการสภาพคล่อง หรือ Liquidity Provider (LP) คือ การนำเงินและสินทรัพย์ดิจิทัล (เช่น Bitcoin) ไปวางไว้ในกระดานซื้อขายคริปโตฯ เพื่อให้ผู้ที่ต้องการซื้อขายคริปโตสามารถทำธุรกรรมได้สะดวกรวดเร็ว คล้ายกับพ่อค้าคนกลางที่พร้อมซื้อและขายตลอดเวลา

ทั้งนี้การซื้อขายคริปโตฯในกระดานเทรดต้องอาศัยสภาพคล่องที่เพียงพอ เพื่อให้ผู้ซื้อและผู้ขายสามารถทำธุรกรรมได้อย่างราบรื่นและรวดเร็ว ซึ่ง "ธุรกิจผู้ให้บริการสภาพคล่อง" เป็นกลไกสำคัญที่ช่วยให้ตลาดมีการซื้อขายต่อเนื่อง ไม่เกิดสภาวะราคาผันผวนหนัก เนื่องจากสภาพคล่องต่ำ

โดยหน้าที่ของผู้ให้บริการสภาพคล่อง จะ 1.จัดหาสภาพคล่อง กล่าวคือ การนำสินทรัพย์ดิจิทัล เช่น Bitcoin หรือ Stablecoin เข้าไปวางในกระดานซื้อขาย 2.สร้างตลาด (Market Making) ทำให้มีทั้งออเดอร์ซื้อและขายพร้อมอยู่เสมอ ลดความเสี่ยงที่ราคาจะผันผวนเกินไป รวมถึง 3.เพิ่มความมั่นใจให้นักลงทุน ที่สามารถซื้อขายได้ทันที โดยไม่ต้องรอให้มีผู้ซื้อหรือผู้ขายคนอื่นมากดออเดอร์

การทำเงินของธุรกิจนี้มี 3 ช่องทางหลัก:

  • ส่วนต่างราคา (Spread ): LP ตั้งราคาเสนอซื้อ (Bid) และราคาขาย (Ask) ให้มีช่องว่างของกำไร เช่น ซื้อที่ 1,000 บาท และขายที่ 1,010 บาท
  • Arbitrage (เก็งกำไรระหว่างกระดานเทรด): ซื้อเหรียญจากแพลตฟอร์มที่ราคาถูก และนำไปขายในแพลตฟอร์มที่ราคาแพงกว่า
  • ค่าธรรมเนียมจากการทำธุรกรรม: ได้รับค่าธรรมเนียมประมาณ 0.1-0.2% ของมูลค่าการซื้อขายจากแพลตฟอร์ม

มูลค่าการซื้อขายคริปโตฯในประเทศไทยที่ SAAM สามารถให้บริการได้นั้นมีมูลค่ามากกว่า 3,000 ล้านบาทต่อวัน และมีแนวโน้มเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ทำให้มีโอกาสสร้างรายได้ประมาณ 300-400 ล้านบาทต่อปี

ทำไม SAAM ถึงเข้าสู่ธุรกิจนี้ ?

นายพดด้วงอธิบายว่า บริษัทไม่ได้เข้ามาเพียงเพื่อถือครอง Bitcoin ไว้เก็งกำไร แต่เป็นการสร้างโครงสร้างพื้นฐานให้กับอุตสาหกรรมสินทรัพย์ดิจิทัลในประเทศไทย เปรียบเสมือนการลงทุนในระบบไฟฟ้าหรือท่อส่งน้ำในโลกจริง โดยตั้งเป้าว่าจะเป็น "Microstrategy of Thailand" ซึ่ง Microstrategy เป็นบริษัทจดทะเบียนในสหรัฐฯ ที่ถือครอง Bitcoin มากที่สุดในโลก

ในช่วงเวลาที่บริษัทไทยหลายแห่งยังชั่งใจกับการเข้าสู่โลกสินทรัพย์ดิจิทัล SAAM กลับเดินหน้าเต็มตัว ไม่เพียงแค่ลงทุนในคริปโต แต่ก้าวสู่บทบาทการเป็นผู้วางโครงสร้างระบบที่รองรับการเติบโตของตลาดทุนแบบใหม่

ผนึก “ปรมินทร์ อินโสม” พันธมิตรคนสำคัญ ปฏิวัติวงการการเงินไทย (อีกครั้ง)

การขยายสู่ธุรกิจใหม่นี้ SAAM ไม่ได้เดินเดี่ยว แต่จับมือกับพันธมิตรสำคัญอย่าง "ปรมินทร์ อินโสม" ผู้เชี่ยวชาญด้านโครงสร้างบล็อกเชนและการกำกับดูแล เข้าร่วมทีมในฐานะกรรมการของ SAAM และผู้บริหารของบริษัทย่อย "Nakamoto Labs" ซึ่งจะรับผิดชอบพัฒนาระบบผู้ให้บริการสภาพคล่อง

นายปรมินทร์มีประสบการณ์ในวงการ เป็นผู้ก่อตั้ง FIRO และ Satang Pro ความเชี่ยวชาญของเขาจะช่วยให้ SAAM มีความได้เปรียบในการแข่งขันในตลาดใหม่นี้

"ธุรกิจการให้บริการเป็น Liquidity Provider ตลาดคริปโตฯในไทยยังมีโอกาสอีกมาก โดยประเทศไทยตอนนี้กระเทรดคริปโตฯบริการสภาพคล่องด้วยตัวเองไม่ได้ ต้องหาคนนอกเข้ามาทำ และทุกวันนี้ยังมีผู้เล่นน้อย และส่วนใหญ่เป็นรายเล็ก เพราะต้องใช้เงินลงทุนสูงในการซื้อสินทรัพย์ดิจิทัล 

แต่สำหรับ SAAM จะใช้เงินจากการระดมทุนผ่านการออกหุ้นกู้แปลงสภาพให้กับนักลงทุนรายใหญ่ที่มีความเข้าใจและลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับคริปโตอยู่แล้ว และธุรกิจนี้ถ้ามีทุนมากพอก็จะมีโอกาสทำเงินจากบริการนี้ได้มาก" นายปรมินทร์ กล่าว  

ทั้งนี้เขายังกล่าวอีกว่า การออกหุ้นกู้แปลงสภาพครั้งนี้ไม่ใช่แค่การระดมทุน แต่คือจุดเริ่มต้นของโครงสร้างใหม่ ที่เปิดให้ทั้งนักลงทุนและพันธมิตรระดับสถาบันเข้ามามีส่วนร่วมในระบบการเงินดิจิทัลที่ยั่งยืน

FWX พันธมิตรเทคโนโลยี ร่วมขับเคลื่อนให้กับ SAAM

นายชานน จรัสสุทธิกุล ผู้ร่วมก่อตั้งและซีอีโอของบริษัท เอฟดับบลิวเอ็กซ์ จำกัด (FWX) เปิดเผยว่า FWX ไม่ได้เป็นเพียงแพลตฟอร์ม DeFi ทั่วไป แต่เรากำลังสร้างโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลที่สามารถเชื่อมโยงกับนักลงทุนสถาบันทั่วโลกได้อย่างแท้จริง" นายชานนกล่าว พร้อมเน้นว่า AI จะถูกนำมาใช้ในการบริหารความเสี่ยงและเพิ่มประสิทธิภาพการซื้อขาย ภายใต้ระบบไร้ตัวกลาง ซึ่งถือเป็นแกนหลักของ DeFi ยุคใหม่

สำหรับแพลตฟอร์ม FWX ถูกออกแบบมาเพื่อลดความซับซ้อนทางเทคนิคสำหรับนักลงทุนสถาบัน พร้อมยกระดับกลไกการจัดหาสภาพคล่อง (Liquidity Provision) และระบบ Market Making ของสินทรัพย์ดิจิทัลให้มีความแข็งแกร่งและต่อเนื่องในระดับโครงสร้าง

ทั้งนี้ FWX มีโทเคนประจำแพลตฟอร์ม ชื่อว่า B4FWX ซึ่งสามารถซื้อขายได้ทั้งบนกระดานเทรดแบบรวมศูนย์ (CEX) และกระดานเทรดแบบไร้ศูนย์กลาง (DEX) โดยทาง SAAM จะใช้ B4FWX เป็นสินทรัพย์สำหรับบริหารสภาพคล่องในกระดานเทรดที่มีการลิสต์โทเคนนี้ด้วย 

ด้าน ผศ.ดร.อุดมศักดิ์ รักษ์วงวาร ผู้ร่วมก่อตั้งและที่ปรึกษาของ FWX กล่าวเสริมว่า "การพัฒนา Web3 อย่างยั่งยืนต้องเริ่มจากโครงสร้างสภาพคล่องที่แข็งแรง และการออกแบบที่รองรับการเติบโตในระดับสถาบัน" โดย SAAM และ Nakamoto Labs กำลังวางรากฐานนี้อย่างเป็นระบบ ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนตลาดการเงินไทยในระยะยาว

แผนธุรกิจอนาคตของ SAAM

SAAM ย้ำว่าแผนธุรกิจใหม่นี้ไม่เพียงช่วยกระจายความเสี่ยงจากธุรกิจดั้งเดิม แต่ยังสร้างแนวทางการเติบโตใหม่ที่เชื่อมโยงทั้ง "ทุน - เทคโนโลยี - โครงสร้าง" เข้าไว้ด้วยกัน

บริษัทวางแผนที่จะเริ่มรับรู้รายได้จากธุรกิจใหม่ตั้งแต่ไตรมาส 2 ปี 2568 เป็นต้นไป โดยคาดว่ารายได้จากธุรกิจดิจิทัลจะกลายเป็นรายได้หลักกว่า 50% ของรายได้ทั้งหมดภายในปีเดียวกัน และมีแผนจะย้ายหมวดจดทะเบียนจากหมวดทรัพยากร (พลังงาน) เป็นหมวดบริการ ภายในเดือนมิถุนายน 2568


เราใช้คุ้กกี้

เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น

อ่านเพิ่มเติมคลิก(Privacy Policy) และ (Cookie Policy)