หลังจากที่อดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ได้นำเสนอแนวคิดการออก Stablecoin ที่ค้ำประกันด้วยพันธบัตรรัฐบาลในงานสัมมนาพรรคเพื่อไทย พร้อมเปิดเผยว่านายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้กระทรวงการคลังศึกษาความเป็นไปได้ในการดำเนินการดังกล่าว
ประเด็นสำคัญของแนวคิดนี้คือ การออก Stablecoin ที่มีพันธบัตรรัฐบาลเป็นสินทรัพย์ค้ำประกัน และเปิดให้นักลงทุนรายย่อยสามารถซื้อได้ ซึ่งอาจเป็นกลไกสำคัญในการเพิ่มสภาพคล่องให้กับระบบเศรษฐกิจไทย นอกจากนี้ ยังมีแนวคิดที่จะใช้ภูเก็ตเป็นพื้นที่นำร่องในการรับชำระเงินด้วยสกุลเงินดิจิทัล
ท่ามกลางความสนใจจากทุกภาคส่วน คำถามสำคัญที่ต้องพิจารณาคือ แนวคิดการออก Stablecoin ของรัฐบาลไทยจะสามารถทำได้จริงหรือไม่ มีแนวทางการดำเนินการอย่างไร และจะส่งผลกระทบต่อระบบการเงินของประเทศอย่างไรบ้าง Thairath Money ชวนมาทำความเข้าใจถึงความเป็นไปได้และผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากนวัตกรรมทางการเงินครั้งสำคัญนี้
Stablecoin คือเหรียญคริปโตที่ถูกออกแบบให้มีมูลค่าคงที่ ส่วนใหญ่จะผูกมูลค่าไว้กับสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐในอัตรา 1:1 เสมอ เปรียบเสมือนการนำเงินดอลลาร์ไปฝากไว้กับบริษัท และได้รับ "ดอลลาร์ดิจิทัล" กลับมาใช้ในระบบคริปโต
เหตุผลสำคัญที่ทำให้ Stablecoin เป็นที่ต้องการในตลาดคริปโต เนื่องจากคริปโตทั่วไปอย่าง Bitcoin หรือ Ethereum มีความผันผวนสูง ทำให้การนำไปใช้ซื้อขายสินค้าจริงทำได้ยาก นักลงทุนจึงต้องการพื้นที่สำหรับเก็บเงินในรูปแบบดิจิทัลที่มีมูลค่าคงที่ นอกจากนี้ Stablecoin ยังมีข้อดีในแง่ของการโอนเงินระหว่างประเทศ เพราะสามารถทำธุรกรรมได้ตลอด 24 ชั่วโมง
สำหรับการรักษาเสถียรภาพของ Stablecoin ทำได้ผ่านกลไกการค้ำประกันด้วยสินทรัพย์ต่างๆ เช่น เงินสด พันธบัตรรัฐบาล และตราสารหนี้ระยะสั้น โดยหลักการสำคัญคือ เมื่อผู้ใช้ซื้อ Stablecoin 1 เหรียญ บริษัทผู้ออกจะต้องมีสินทรัพย์ค้ำประกันมูลค่า 1 ดอลลาร์เสมอ ซึ่งเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับผู้ถือครอง
สำหรับ Stablecoin ที่นิยมใช้อย่างแพร่หลายบนโลกนี้ คือ USDT และ USDC โดย USDT หรือ Tether เป็น stablecoin ที่มีมูลค่าตลาดใหญ่ที่สุดในโลก ออกโดยบริษัท Tether Limited โดยมีรายได้หลักจากการนำเงินที่ได้จากผู้ซื้อ USDT ไปลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำ เช่น พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ทำให้บริษัทได้รับผลตอบแทนจากดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ผู้ถือ USDT ไม่ได้รับส่วนแบ่งจากดอกเบี้ยนี้
ด้านการบริหารสินทรัพย์ Tether ต้องรักษาสัดส่วนสินทรัพย์ค้ำประกันให้เพียงพอกับ USDT ที่หมุนเวียนในตลาด โดยมีการเปิดเผยรายงานสินทรัพย์ค้ำประกันเป็นระยะ ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในรูปพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ และตราสารหนี้ระยะสั้น
ส่วน USDC เป็น stablecoin ที่ออกโดยบริษัท Circle ร่วมกับ Coinbase มีจุดเด่นด้านความโปร่งใสและการกำกับดูแล แม้จะมีรายได้หลักจากดอกเบี้ยของสินทรัพย์ค้ำประกันเช่นเดียวกับ USDT แต่ USDC เน้นการตรวจสอบบัญชีโดยบริษัทชั้นนำทุกเดือน และมุ่งเน้นความปลอดภัยและการปฏิบัติตามกฎระเบียบมากกว่า
ผศ.ดร.อุดมศักดิ์ รักวงษ์วาน อาจารย์ภาควิชาคณิตศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และผู้ร่วมก่อตั้ง FWX แพลตฟอร์ม DeFi อธิบายกับ Thairath Money ถึงแนวคิดการออก stablecoin ของรัฐบาล โดยระบุว่ามีความเป็นไปได้ที่จะใช้โมเดลเดียวกับ Tether และ Circle ผู้ออก stablecoin รายใหญ่ของโลก
โดยกลไกการทำงานของระบบคือ เมื่อมีผู้ต้องการ stablecoin จะต้องนำเงินมาให้ผู้ออก จากนั้นผู้ออกจะนำเงินดังกล่าวไปลงทุนในพันธบัตร และใช้พันธบัตรนั้นเป็นสินทรัพย์ค้ำประกัน stablecoin ที่ออกมา "ตราบใดที่ประชาชนยังใช้ stablecoin อย่างต่อเนื่อง ผู้ออกก็จะได้รับผลตอบแทนจากดอกเบี้ยพันธบัตรไปเรื่อยๆ เช่นเดียวกับที่ Tether ได้รับผลตอบแทนจากการถือพันธบัตรแทนผู้ถือ USDT ในปัจจุบัน" ผศ.ดร.อุดมศักดิ์อธิบาย
สำหรับแนวทางการดำเนินการในประเทศไทย มองว่า รัฐบาลอาจไม่จำเป็นต้องออกพันธบัตรไทยใหม่เพื่อรองรับ stablecoin โดยตรง แต่สามารถใช้พันธบัตรต่างประเทศที่มีอยู่แล้วมาเป็นสินทรัพย์ค้ำประกัน หรืออาจใช้วิธีออกพันธบัตรไทยแล้วนำเงินไปซื้อพันธบัตรสหรัฐฯ ซึ่งเป็นแนวทางที่กระทรวงการคลังดำเนินการอยู่แล้วในปัจจุบัน โดยนำพันธบัตรเหล่านั้นมาเป็นสินทรัพย์สำรอง
หากมีพันธบัตรมูลค่า 1 พันล้านบาท สามารถออก Stablecoin จำนวน 1 พันล้านเหรียญ ซึ่ง Stablecoin ดังกล่าวจะหมุนเวียนอยู่ในระบบนิเวศ โดยสิ่งที่ต้องพิจารณาคือการเลือกใช้ Blockchain แบบ Private Chain หรือ Public Chain ซึ่งในมุมนี้ไม่น่าจะมาในรูปแบบ CBDC แต่จะคล้ายกับโมเดลของ Tether หรือ USDC ที่ออก Stablecoin บน Public Blockchain ซึ่งทำให้ผู้ถือ Stablecoin สามารถนำไปซื้อสินทรัพย์ดิจิทัล เช่น Bitcoin ได้ รวมถึงจะสามารถนำไปใช้ในระบบการเงินแบบกระจายศูนย์ (DeFi) เช่น การปล่อยกู้ (Lending) หรือลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลอื่น ๆ
Stablecoin นี้จะถูกค้ำมูลค่าไว้ด้วยพันธบัตร เช่น พันธบัตรสหรัฐฯ ที่รัฐบาลถืออยู่ ทำให้เกิดลักษณะการ “Bypass” ธนาคารกลาง โดยไม่จำเป็นต้องเป็นรัฐบาลเท่านั้นที่จะดำเนินการ แม้แต่บริษัทเอกชนก็สามารถทำได้ ซึ่งไม่มีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับเงินบาท และคล้ายคลึงกับ USDT, USDC หรือ FDUSD ซึ่งเป็นดอลลาร์ดิจิทัลของฮ่องกง
ส่วนเรื่องผลกระทบต่อปริมาณเงินในระบบ แบ่งเป็น 2 กรณี
1. กรณีการดำเนินการอย่างมีวินัย
หากรัฐบาลประกาศว่าจะออก Stablecoin โดยเปิดให้ผู้ที่ต้องการ Stablecoin นำเงินบาทหรือเงินทุนอื่น ๆ มาแลกก่อน เงินในระบบจะไม่เพิ่มขึ้น เพราะ Stablecoin ที่ออกมานั้นจะถูกหนุนหลังด้วยสินทรัพย์ที่มีอยู่จริง เช่น พันธบัตรต่างประเทศ การหมุนเวียนจะเป็นการแปลงสภาพจากเงินบาทไปเป็น Stablecoin ซึ่งสามารถใช้งานได้เหมือนเดิมในลักษณะดิจิทัล
2. กรณีขาดวินัยทางการเงิน
หากรัฐบาลหรือผู้ออก Stablecoin ใช้พันธบัตรที่ถืออยู่เป็นหลักประกันโดยตรง โดยไม่รับเงินทุนเข้ามาก่อน แล้ว Mint Stablecoin ออกไป จะเท่ากับการสร้างเงินใหม่เข้าสู่ระบบ ซึ่งจะทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อ เพราะปริมาณเงินในระบบเพิ่มขึ้นโดยไม่มีเงินทุนใหม่รองรับ
ทั้งนี้ หากรัฐบาลไทยทำให้ Stablecoin นี้ถูกยอมรับและนำไปซื้อขายบนตลาดโลก โดยมีพันธบัตรค้ำมูลค่าไว้ จะทำให้รัฐบาลสามารถ “Mint” เงินดิจิทัลที่ใช้ได้ทั่วโลก โดยไม่สร้างภาวะเงินเฟ้อภายในประเทศ เท่ากับว่ารัฐบาลสามารถแปลงพันธบัตรที่ถืออยู่เฉย ๆ ให้กลายเป็นสินทรัพย์ที่สร้างรายได้และสภาพคล่องได้ทั่วโลก ซึ่งเป็นแนวทางที่น่าสนใจ
แต่ถ้าจะทำให้เกิดการใช้งานเฉพาะภายในประเทศ โดยไม่เชื่อมต่อกับตลาดโลก จะทำให้เกิดปริมาณเงินใหม่ที่ไม่เคยอยู่ในระบบหมุนเวียนอยู่ภายในประเทศ ซึ่งมีความเสี่ยง ทั้งเงินเฟ้อ และเสถียรภาพทางการเงิน ที่จะทำให้การควบคุมด้านนโยบายการเงินและการคลังจะทำได้ยากขึ้น เนื่องจากมีเงินหมุนเวียนในระบบมากกว่าที่ธนาคารกลางสามารถกำกับได้
โดยสรุปแล้ว หากรัฐบาลหรือผู้ออก Stablecoin สามารถควบคุมกระบวนการอย่างมีวินัย โดยมีการค้ำประกันที่ชัดเจนและโปร่งใส เช่น การแลก Stablecoin โดยให้ประชาชนนำเงินบาทมาซื้อก่อน ปริมาณเงินในระบบจะไม่เพิ่มขึ้นผิดปกติ และจะไม่ส่งผลกระทบต่อค่าเงินโดยตรง แต่ในทางกลับกันถ้าไม่มีการควบคุมที่ดี หรือมีการออก Stablecoin โดยไม่ผ่านการแลกเงินทุนก่อน จะมีความเสี่ยงสูงต่อเงินเฟ้อและเสถียรภาพทางการเงินของประเทศ ซึ่งจะต้องดำเนินการด้วยความระมัดระวังเป็นพิเศษ