29 มี.ค. 67 ศาลแมนฮัตตันตัดสินโทษจำคุก 25 ปี ‘แซม แบงค์แมน ฟรียด์’ (Sam Bankman-Fried) ผู้ก่อตั้งกระดานเทรดคริปโตเคอร์เรนซี FTX ที่อดีตถูกยกให้เป็น ‘ราชาคริปโต’ บุคคลที่โดดเด่นที่สุดในอุตสาหกรรมสินทรัพย์ดิจิทัลในข้อหาฉ้อโกงครั้งใหญ่ หลังจากคดีถูกพิจารณามาอย่างยาวนานกว่าสองปี พร้อมสั่งริบเงิน 1.1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐหรือประมาณ 4 แสนล้านบาทเพื่อนำไปจ่ายคืนให้กับบรรดาผู้เสียหาย
ลูอิส แคปแลน (Lewis Kaplan) ผู้พิพากษาศาลเขตแมนฮัตตันส่งคำพิพากษาในการพิจารณาคดีโดยปฏิเสธคำกล่าวอ้างและสรุปว่า Sam Bankman-Fried ได้ "กระทำอันตรายอย่างใหญ่หลวง" แม้รู้ว่าเป็นความผิดทางอาญาแต่ไม่เคยกล่าวคำสำนึกผิดใดๆ สำหรับการก่ออาชญากรรมร้ายแรง แสดงให้เห็นการ “ขาดความสำนึกผิดอย่างแท้จริง” หลัง Sam Bankman-Fried อ้างว่าลูกค้า FTX ไม่ได้สูญเสียเงินจริงๆ และพบว่าเขาโกหกในระหว่างการให้การในการพิจารณาคดีเพื่อขออุทธรณ์
เมื่อปีที่แล้วคณะลูกขุนนิวยอร์กตัดสินว่า Sam Bankman-Fried มีความผิดฐานฉ้อโกงและการสมรู้ร่วมคิดในการฟอกเงินทั้งหมด 7 กระทง หลังจากหน่วยงานต่างๆ เริ่มเปิดโปงความผิดปกติของ FTX
สืบเนื่องจากเหตุการณ์ช็อกโลกในปี 2565 ที่สำนักข่าวต่างประเทศได้รายงานว่า FTX กระดานเทรดคริปโตฯ ชื่อดังในขณะนั้นกำลังประสบปัญหาการขาดสภาพคล่องอย่างรุนแรงจากผลกระทบของวิกฤต LUNA นำไปสู่การยื่นขอล้มละลายและนำไปสู่การล่มสลายของ FTX ภายในระยะเวลาอันรวดเร็วในปี 2565 โดยหลังจากการพิจารณาคดีที่ได้มีการรวมมูลค่าความเสียหาย ซึ่งพบว่ามีการนำเงินมากกว่า 8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐหรือราว 2.9 แสนล้านบาท จากลูกค้าและนักลงทุนไปใช้ซื้ออสังหาริมทรัพย์และนำไปลงทุนด้านอื่นๆ
Sam Bankman-Fried ก่อตั้ง 'FTX' แพลตฟอร์มซื้อขายแลกเปลี่ยนคริปโตเคอร์เรนซีในปี 2563 หลังจากปูทางมาก่อนหน้านี้สองปีในการก่อตั้ง ‘Alameda Research’ กองทุน Quantitative Trading ซึ่งเป็นกองทุนที่เน้นใช้กลยุทธ์ในการเทรด หรือลงทุนด้วยการวิเคราะห์เชิงปริมาณ เขาเริ่มสร้างระบบนิเวศเพื่อให้อาณาจักรของเขาเติบโตอย่างรวดเร็ว ด้วยการเข้าไปให้การสนับสนุนทั้ง Terra Solona โปรเจกต์ DeFi และ NFT น้อยใหญ่ต่างๆ ขยายแบรนด์ย่อยในหลากหลายประเทศทั่วโลก มีการออกโทเคน ที่ชื่อว่า ‘FTT’ ซึ่งได้รับความนิยมแพร่หลาย จนเรียกได้ว่าเป็นยุคที่เฟื่องฟูของ FTX ในขณะนั้น
จนกระทั่งต้นปี 2565 FTX ได้มีการระดมทุนเพิ่ม 400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในรอบ Series C ที่ Valuation กว่า 32,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยผู้ลงทุนส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่ม Venture Capital ขนาดใหญ่ และสถาบันการเงินต่างๆ เช่น SoftBank Temasek Paradigm Tiger Global เป็นต้น โดยมีการตั้งข้อสันนิษฐานว่า ดีลนี้อาจเป็นจุดเริ่มต้นของหายนะ เพราะว่ากองทุนใหญ่ไปทำ Due Diligence ตรวจสอบสถานะกิจการอย่างละเอียด และแกะรอยเงินทุน รายได้ กำไร โครงสร้างบริษัท ได้ทุกซอกทุกมุม
ต่อมาวงการคริปโตฯ ก็เข้าสู่ช่วงตกต่ำจากเหตุการณ์โดมิโนเอฟเฟกต์ครั้งใหญ่ที่ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมคริปโตโดยรวม โดยมีจุดเริ่มต้นจาก การล่มสลายของ ‘อาณาจักร Terra’ ช่วงเดือนพฤษภาคม โดยราคาเหรียญ Luna ตกลงอย่างรวดเร็ว นักลงทุนเริ่มเทขายเหรียญ โดย Alameda Research เองก็ได้ลงทุนใน Terra เช่นกัน ตั้งแต่ช่วงแรกๆ แค่นั้นไม่พอ ยังช่วยสร้างระบบนิเวศด้วย ย่อมส่งผลให้ได้รับบาดเจ็บอย่างหนัก
ต่อมา กรกฎาคม ถึง ตุลาคม ช่วงนี้เป็นช่วงที่ FTX เริ่มขาดทุนหนัก และโดนหลายทอด นอกจากจะเจ็บเองแล้ว โบรกเกอร์ที่ FTX เข้าไปซื้ออย่าง Voyager ก็เจ็บหนักเช่นกัน ดังนั้นจึงส่งผลกระทบต่อ Balance Sheet ของ FTX ประกอบกับข่าวการลาออกของหัวเรือหลักอย่าง Sam Trabucco อดีต CEO ของ Alameda Research ตั้งแต่ปี 2017 และเป็น Keyman ที่ทำให้ธุรกิจเติบโตและทำกำไรมาโดยตลอด การลาออกของครั้งนี้เป็นการลาออกแบบไม่แจ้งล่วงหน้า ไม่ชี้แจงอะไรเลย จนทำให้ทุกคนตั้งคำถาม
หลังจากนั้น FTX เริ่มโดนข่าวลือ ซึ่งเป็นข่าวไม่ดีโหมกระหน่ำเข้ามา แบ่งเป็น 2 ส่วน ได้แก่ ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการเมือง และข้อมูลผลดำเนินการที่หลุดออกมา
FTX มีผลิตภัณฑ์ในแพลตฟอร์มมีข้อสงสัยอาจขัดแย้งกับประเด็นกฎหมายค่อนข้างมาก เช่น การปล่อยกู้ที่ผิดปกติ อย่าง stable coin บน FTX ที่ได้ผลตอบแทนถึง 19%การพยายามสร้างภาพลักษณ์ว่าได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานกำกับดูแลสหรัฐฯ แต่สุดท้ายรัฐบาลก็ออกมาเคลียร์ว่า ทั้งหมดไม่เป็นความจริง
ประเด็นการบริจาคเงินจำนวนมหาศาล ซึ่งคาดว่ามีมูลค่าสูงถึง 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ให้กับผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งของสหรัฐฯ ซึ่งนักการเมืองเหล่านี้จะเป็นบุคคลที่มีศักยภาพและมีอิทธิพลต่อการออกกฎหมายว่าด้วยการกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัลของสหรัฐฯ ในอนาคต อีกทั้งยังมีข่าวเรื่องของ การล็อบบี้นักการเมืองในเรื่องการควบคุม Defi account ให้ต้องผ่านการ KYC และการออกร่างกฎหมาย DCCPA
นอกจากนี้ Balance Sheet ของ FTX และ Alamada Research ยังเผยให้เห็นถึงทรัพย์สินที่ครอบครองอยู่ ปรากฏว่าส่วนใหญ่เป็นเหรียญ FTT เหมือนเงินที่เสกขึ้นเอง และใช้เงินพวกนั้นมา Leverage Portfolio ทั้งปล่อยกู้ และค้ำประกัน กล่าวคือ เอาโทเคนที่ไม่มีมูลค่าจริงๆ หรือสินทรัพย์จริงหนุน ไปปล่อยกู้ด้วยมูลค่าที่เกินความเป็นจริง
นั่นหมายความว่า Valuation ที่ระดมทุนบริษัทไป 32,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ อาจกล่าวได้ว่าเป็น Valuation ปลอม จุดนี้เป็นประเด็นเลยที่คนมองว่าเข้าข่าย Ponzi scheme หรือแชร์ลูกโซ่ นำไปสู่เหตุการณ์ Bankrun ที่คนพากันเทขายเหรียญ FTT หลังจาก CZ อดีตผู้ก่อตั้ง Binance ยอมรับว่าได้ทำการโอนเหรียญ FTT มูลค่าประมาณ 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เข้าไปใน Binance และตั้งใจว่าจะเทขาย
เหรียญ FTT เริ่มราคาตกลงเรื่อยๆ และจนกระทั่งโดน Liquidated หลังจากนั้นเรื่องก็เริ่มแดงเมื่อ FTX ไม่มีสินทรัพย์พอตามคนที่ถอน อีกทั้งไม่มีเงินไปชำระบัญชี ปัญหาเลยหนักกว่าเดิม จึงเริ่มมีการวิเคราะห์ว่า FTX โยกย้ายสินทรัพย์ไปชำระหนี้แทน หรือนำไปใช้ด้านอื่นๆ อีกหรือไม่นั่นเอง…. เหตุการณ์ก่อตัวขึ้นเป็นวิกฤติศรัทธา ลูกค้าแห่ถอนสินทรัพย์ออกจาก FTX จนขาดสภาพคล่อง นำไปสู่การปิดตัว
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ - https://www.facebook.com/ThairathMoney