นับเป็นเรื่องที่น่ายินดีกับอุตสาหกรรมสินทรัพย์ดิจิทัลประเทศไทย จากการที่ล่าสุดกระทรวงการคลัง ออกมาตรการเพิ่มในการประกาศยกเว้นเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) สำหรับการโอน (ขาย) สินทรัพย์ดิจิทัล ในส่วนของ คริปโตเคอร์เรนซี (Cryptocurrency) และโทเคนดิจิทัลเพื่อการใช้ประโยชน์ (Utility token) ที่ซื้อขายตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป “แบบไม่กำหนดเวลาสิ้นสุด”
จากเดิมที่มีเพียงแค่การยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มกับกลุ่มโทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุน (Investment token) เท่านั้น อีกทั้งยังขยายครอบคลุมการซื้อขายผ่านช่องทางนายหน้าซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (Broker) และ 3) ผู้ค้าสินทรัพย์ดิจิทัล (Dealer) ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงาน ก.ล.ต. จากเดิมที่ได้ยกเว้นเฉพาะ Exchange เท่านั้น
โดยในการประกาศมาตรการเพิ่มเติมสำหรับสินทรัพย์ดิจิทัลในครั้งนี้ ความน่าสนใจ คือ รัฐบาลประกาศชัดเจนถึงเป้าหมายในการผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset Hub) ของภูมิภาค
นายนเรศ เหล่าพรรณราย นายกสมาคมสินทรัพย์ดิจิทัลไทย กล่าวกับ Thairath Money ว่า ก่อนหน้านี้โทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุน (Investment token) ได้รับการยกเว้นไปก่อนแล้ว แต่ว่าโทเคนดิจิทัลเพื่อการใช้ประโยชน์ (Utility token) มันเป็นตัวที่ภาคธุรกิจออกมาเพื่อเป็นตัวแทนการใช้สิทธิ์สินค้าและบริการในระบบนิเวศของตัวเอง เช่น การให้รีวอร์ด เป็นต้น ซึ่งเดิมทีพอเป็นสินค้าพวกสินค้ามันก็เสีย VAT อยู่แล้ว แล้วโทเคนดิจิทัลก็ยังเสีย VAT ไปด้วย เท่ากับว่าก่อนหน้านี้เป็นการเสียซ้ำซ้อน
ส่วนเรื่องที่ใหม่และน่าตกใจอยู่เหมือนกัน คือ การยกเว้น VAT คริปโตเคอร์เรนซี เพราะคริปโตเคอร์เรนซีและโทเคนดิจิทัล จริงๆ แล้วมันมีความก้ำกึ่งกันในเชิงนิยามมาก ดังนั้นตนจึงมองว่า การที่รัฐบาลตัดสินใจยกเว้นทั้งหมดไปรวดเร็วเลย เนื่องจากอาจจะไม่ต้องมาติดปัญหาเรื่องของการตีความในภายหลัง อีกทั้งยังต้องการผลักดันให้เกิดประโยชน์ในวงกว้างด้วย
แต่อย่างไรก็ตาม หากรัฐบาลต้องการผลักดันให้ประเทศไททยก้าวขึ้นสู่ฮับสินทรัพย์ดิจิทัลของภูมิภาคได้นั้น สิ่งที่ควรทำมากกว่าการยกเว้น VAT อย่างแรกเลย คือ การทำให้กฎเกณฑ์ในเรื่องของการระดมทุนโทเคนดิจิทัล มีความชัดเจนมากขึ้น ต้องมีการกำจัดกฎหมายที่มันคลุมเครือออกไป
แม้ประเทศไทยจะเป็นประเทศแรกๆ ของโลกที่มี พ.ร.ก.สินทรัพย์ดิจิทัล แต่การเกิดขึ้น ณ ตอนนั้น มันเต็มไปด้วยความเร่งรีบ เพราะไม่ได้มีความชัดเจนในการปฏิบัติ ดังนั้นจึงเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ผ่านมาแล้ว 6-7 ปี แม้จะเปิดกว้างมากขึ้นแค่ไหน แค่เรายังมีโทเคนดิจิทัลที่ซื้อขายกันเพียงแค่ 3 เหรียญเท่านั้น
อย่างที่สอง คือ ต้องมองให้ถูกจุด ถ้าอยากดันให้ไทยเป็นฮับของสินทรัพย์ดิจิทัลได้นั้น เราจะต้องสร้างจุดแข็งของตัวเอง อย่าไปตามคนอื่น ที่เห็นประเทศที่โดดเด่นอย่างสิงคโปร์ ฮ่องกง ต่างคนต่างแนวทาง อย่างสิงคโปร์เขาเน้นปรับใช้กับระบบการเงิน ฮ่องกง ส่งเสริมเรื่องการลงทุน ดูไบ เขาวางตัวว่าอยากมาแทนประเทศที่เป็น Tax Haven ดังนั้นไทยเองต้องไปในทิศทางที่เราแข่งขันได้
ถ้าถามว่านักลงทุนต่างชาติเขาคาดหวังอะไรจากอุตสาหกรรมสินทรัพย์ดิจิทัลในไทย อย่างที่ทราบว่าเราโดดเด่นเรื่องของการมีโทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุน โดยเฉพาะในรูปแบบของ Asset-Backed โดยเสียงสะท้อนจากผู้ประกอบการมองกันว่า ควรเปิดให้นักลงทุนต่างชาติลงทุนได้ ตอนนี้ยังจำกัดแค่คนไทย บล็อกเชนเป็นโลกไร้พรมแดน ไม่ควรมีข้อจำกัด มิเช่นนั้นผลิตภัณฑ์การลงทุนมันก็ทับซ้อนไปหมด
ด้านนายมานะ คานิโยว หัวหน้าฝ่ายงานพัฒนาธุรกิจและบริหารงานขาย บริษัท เมอร์เคิลแคปปิตอล จำกัด ให้มุมมองกับ Thairath Money ว่า ในการยกเว้นยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มครั้งนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการผลักดันประเทศไทยให้สามารถก้าวสู่การเป็นฮับสินทรัพย์ดิจิทัลได้ โดยทำให้ภาพลักษณ์ของเมืองไทยดูเป็นมิตรกับอุตสาหกรรมนี้มากขึ้น
แต่การยกเว้น VAT ซึ่งครอบคลุมถึงการซื้อขายผ่าน นายหน้าซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (Broker) และ ผู้ค้าสินทรัพย์ดิจิทัล (Dealer) เพิ่มขึ้นมานั้น มองว่าคนที่ได้ประโยชน์จากเรื่องนี้จริงๆ อาจจะเป็นทางฝั่งผู้ประกอบการมากกว่านักลงทุน
ส่วนการที่จะผลักดันให้ประเทศไทยขึ้นเป็นฮับสินทรัพย์ดิจิทัลนั้น ถ้าอยากให้มีความโดดเด่นขึ้นมาจริงๆ คือ การที่ให้ธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลในต่างประเทศมาเปิดที่ไทย แล้วทางสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีบางอย่าง เหมือนกับธุรกิจเทคโนโลยีประเภทอื่นๆ ซึ่งมันจะกลายเป็นภาพใหญ่มาก ที่ส่งผลไปถึงการจ้างงานด้วย
ยกตัวอย่างอินเดีย มีประชากรพันกว่าล้าน และเขาก็มีแพลตฟอร์มเทรดในประเทศเยอะมาก แต่ในทางกลับกันธุรกิจเหล่านี้ไม่ค่อยได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีจากรัฐบาลเขาเท่าไร กลายเป็นว่าแพลตฟอร์มใหญ่ๆ ที่คนในประเทศเขาใช้กันพากันปิดและย้ายไปที่ดูไบแทน ซึ่งตนมองว่า ถ้าภาครัฐไม่ได้มามองว่าตลาดนี้มันสามารถเติบโตได้จริงๆ สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ธุรกิจจะพากันย้ายออกจากประเทศ และท้ายที่สุดแทนที่จะมี S-Curve ที่สามารถสร้างงาน สร้างเทคโนโลยี เพิ่มการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศมันก็จะหายไป
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ - https://www.facebook.com/ThairathMoney