ปี 67 ตลาดคริปโตฯ ขาขึ้น Bitcoin มีโอกาสทำนิวไฮ แต่อะไรคือปัจจัยหนุน และความเสี่ยงที่ต้องระวัง?

Tech & Innovation

Digital Assets

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

ปี 67 ตลาดคริปโตฯ ขาขึ้น Bitcoin มีโอกาสทำนิวไฮ แต่อะไรคือปัจจัยหนุน และความเสี่ยงที่ต้องระวัง?

Date Time: 22 ม.ค. 2567 10:42 น.

Video

บรรยง พงษ์พานิช แกะปมเศรษฐกิจไทยโตต่ำ ฟื้นช้า พร้อมแนะทางออก

Summary

  • Merkle Capital มอง Spot Bitcoin ETH ดึงเม็ดเงินไหลเข้ามาในตลาดคริปโตเคอร์เรนซี เพิ่มดีมานด์การลงทุนบิตคอยน์ในระยะยาว มีความเป็นไปได้ที่บิตคอยน์ทำ New High ในปีนี้

Latest


นายพีระสิทธิ์ จิวะพงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เมอร์เคิล แคปปิตอล จำกัด เปิดเผยกับ Thairath Money ถึงแนวโน้มของตลาดคริปโตเคอร์เรนซีในปีนี้ว่า ถือเป็นปีที่มีความสดใส จากปัจจัยบวก 2 ประเด็นด้วยกัน 

1) การอนุมัติการจัดตั้งกองทุนรวม Spot Bitcoin ETF และอนุญาตให้เป็นหลักทรัพย์ที่ซื้อขายได้ในตลาดหลักทรัพย์อย่างเป็นทางการ จาก SEC หน่วยงานกำกับดูแลหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ประเทศสหรัฐอเมริกา (ก.ล.ต สหรัฐฯ) เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2567

ซึ่งมีผลให้กองทุนรวมที่จดทะเบียนกับตลาดหลักทรัพย์จำนวน 11 ราย ได้รับใบอนุญาตจัดตั้งกองทุนรวม Spot Bitcoin ETF เพื่อเสนอขายต่อนักลงทุน ทำให้นักลงทุนสามารถลงทุนในบิตคอยน์ (BTC) และถือครองได้ผ่านเครื่องมือที่เรียกว่า ETF (Exchange Traded Fund) ซึ่งเป็นตราสารทางการเงินชนิดหนึ่งในลักษณะกองทุนที่มีนโยบายลงทุนในสินทรัพย์ประเภทต่างๆ เช่น ดัชนีหุ้นทั้งในและต่างประเทศ ดัชนีตราสารหนี้ และทองคำ ที่จะเอาเงินจากผู้ถือหน่วยลงทุนไปลงทุนในสินทรัพย์นั้นๆ  

หลังการพิจารณาที่รอคอยกันมายาวนาน การอนุมัติ Spot Bitcoin ETH ของ ก.ล.ต.สหรัฐฯ จะทำให้ดีมานด์ของคริปโตเคอร์เรนซี โดยเฉพาะบิตคอยน์ (BTC) เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งหากพิจารณาจากราคาในเดือนพฤศจิกายน 66 ราคาบิตคอยน์อยู่ที่ 26,000 ดอลลาร์สหรัฐ และในวันที่ 10 มกราคม 67 หลังจากประกาศอนุมัติ ราคาบิตคอยน์พุ่งขึ้นอยู่ที่ 48,000 ดอลลาร์สหรัฐ สะท้อนให้เห็นถึงความสนใจจากตลาดอย่างมีนัยสำคัญ 

ทั้งนี้ การเพิ่มสัดส่วนบิตคอยน์เป็นสินทรัพย์หนึ่งในพอร์ตการลงทุนที่มากขึ้นโดยผู้เสนอขาย ส่งผลต่อเนื่องไปยังการเปลี่ยนแปลงของประเภทผู้ลงทุนที่ ‘ผู้ลงทุนสถาบัน’ จะเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในตลาดบิตคอยน์ และทำให้บิตคอยน์เป็น Asset Class ที่ของการลงทุนทั่วโลก ซึ่งจะส่งผลเหรียญคริปโตฯ อื่นๆ ที่จะมีแนวโน้มพุ่งสูงขึ้นด้วยเช่นกัน 

2) เหตุการณ์ Bitcoin Halving ครั้งที่ 4 ในเดือนเมษายน การลดจำนวนรางวัลบล็อกจากการขุดลงครึ่งหนึ่งที่จะเกิดขึ้นทุกๆ 4 ปี นับตั้งแต่ปีที่กำเนิดบิตคอยน์ในปี 2008 ซึ่งจะลดลงจาก 6.25 เหรียญในปี 2563 เหลือ 3.125 เหรียญในปี 2567 ทั้งนี้ เหตุการณ์ดังกล่าวจะส่งผลต่อการจำกัดปริมาณ (Supply) ของบิตคอยน์ ณ ปัจจุบัน บวกกับการเพิ่มขึ้นของความต้องการลงทุน (Demand) ในตลาดจากผู้ลงทุนสถาบัน ซึ่งจะส่งผลให้ราคาของบิตคอยน์เพิ่มสูงขึ้น

นายพีระสิทธิ์ กล่าวว่า การที่ผู้ลงทุนสถาบันเข้ามามีส่วนร่วมในการเสนอขายหลักทรัพย์สู่ท้องตลาดถือเป็นเรื่องดีสำหรับสินทรัพย์นั้นๆ ในระยะยาว ที่จะมีแนวโน้มของมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น  

โดยหากเปรียบเทียบกับสินทรัพย์อื่น อาทิ กองทุนรวมทองคำ Gold ETF ที่เกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 2547 ในสหรัฐอเมริกา ขณะนั้นราคาทองคำอยู่ที่ 400 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งปัจจุบันในปี 2567 ราคาทองคำอยู่ที่ 2,000 ดอลลาร์สหรัฐ และหากพิจารณาถึงมูลค่าโดยรวมตลาดทองคำทั้งโลก พบว่ามีอัตราการเติบโตถึง 13 เท่า โดยในปี 2547 อยู่ที่ 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ 13 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ 

โอกาสที่ราคาของบิตคอยน์จะทำ New High 

ทั้งนี้ ยังมีการคาดการณ์จากกูรูทั่วโลกถึงความเป็นไปได้ที่จะทำนิวไฮในปีนี้ สืบเนื่องจากเม็ดเงินที่จะไหลเข้าตลาดหลักๆ จากผู้ลงทุนสถาบันที่ได้รับการอนุมัติ Spot Bitcoin ETF ทั้ง 11 ราย รวมทั้งสิ้นประมาณ 23 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งหนึ่งในกองทุนที่ได้รับการอนุมัติอย่าง BlackRock คือ บริษัทจัดการหลักทรัพย์กองทุนที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยมีสินทรัพย์ภายใต้การจัดการ (AUM) ประมาณ 9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ 

ธนาคาร Standard Chartered ที่ได้ทำราคาเป้าหมายไว้ที่ 50,000-100,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือกองทุน ARK ที่มีการคาดการณ์ราคาบิตคอยน์ภายใน 6 ปีไว้ว่าจะเพิ่มสูงขึ้นแตะ 1.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หากตลาดมีแนวโน้มอยู่ในช่วงขาขึ้น หรือหากตลาดมีแนวโน้มอยู่ในช่วงขาลง ราคาจะอยู่ที่ 3.5 แสนดอลลาร์สหรัฐ 

ทั้งนี้ ปัจจัยเสี่ยงต่อสินทรัพย์ดิจิทัลที่นักลงทุนทั่วไปต้องพิจาณาหลัก มีอยู่  2 ประการ ได้แก่ 

1) กฎเกณฑ์กำกับดูแลสินทรัพย์ใหม่ อันดับแรก นักลงทุนต้องเผชิญกับความเสี่ยงกับการถูกหลอกลวง เพราะกฎระเบียบจากหน่วยงานที่ทำหน้าที่กำกับดูแลยังไม่ชัดเจนสมบูรณ์มากพอ หรือกระบวนการปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องในระดับสากลยังไม่ครบถ้วน ทำให้ยังไม่สามารถสร้างความมั่นใจแก่นักลงทุนได้ อย่างไรก็ดี เมื่อกฎเกณฑ์หรือข้อบังคับใดๆ ผ่านการอนุมัติที่มีความชัดเจนต่อแนวการลงทุนมากขึ้น ก็อาจส่งผลให้เกิดภาพลบต่อสินทรัพย์ดิจิทัลที่ส่งผลต่อมูลค่าเช่นเดียวกัน  

2) ความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ นอกเหนือจากภาวะเงินเฟ้อและการปรับลดอัตราดอกเบี้ย ความเสี่ยงจากสงครามและความขัดแย้งระหว่างประเทศที่ส่งผลกระทบต่อสินทรัพย์ทั่วโลก รวมถึงคริปโตเคอร์เรนซีด้วย

ด้านปัจจัยของตัวเลขเศรษฐกิจ การพิจารณาช่วงเวลาของการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของ FED ที่จะส่งผลต่อความคาดหวังของผู้ลงทุน หากการปรับลดดอกเบี้ยเกิดขึ้นช้ากว่าที่ตลาดคาดการณ์ ก็อาจส่งผลต่อราคาของสินทรัพย์เสี่ยงจะปรับลดลงตาม 

สำหรับแนวทางในการลงทุน นายพีระสิทธิ์ ระบุ ผู้ลงทุนต้องศึกษาและติดตามข้อมูลข่าวสารเศรษฐกิจในระดับโลกมากยิ่งขึ้น เพราะผู้ลงทุนสถาบันจะมีแนวการลงทุนที่พิจาราณาจากปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจในระดับมหภาค ที่คล้ายกับการบริหารกองทุนหุ้นหรือตราสารหนี้ ซึ่งจะแตกต่างกับผู้ลงทุนรายย่อยที่มีแนวทางการซื้อขายที่พิจารณาตาม Market sentiment

ยกตัวอย่าง การปรับลดอัตราเงินเฟ้อของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ช่วงเวลาที่จะประกาศยกเลิกแผน QT การติดตามภาวะเศรษฐกิจถดถอยของสหรัฐฯ ภาพรวมการเปลี่ยนแปลงค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ และการคาดการณ์เลือกตั้งครั้งต่อไปของสหรัฐฯ ที่จะส่งผลต่อตลาดการเงินการลงทุน ซึ่งปัจจัยเหล่านี้มีแนวโน้มส่งผลต่อราคาบิตคอยน์และตลาดคริปโตฯ มากยิ่งขึ้นด้วยเช่นเดียวกัน    


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ