อุตสาหกรรมการเงิน เปรียบเหมือนเส้นเลือดใหญ่ที่หล่อเลี้ยงเศรษฐกิจของฮ่องกงให้เติบโตมาอย่างยาวนาน ในฐานะศูนย์กลางทางการเงินชั้นนำของโลก ซึ่งได้รับการวางรากฐานมาจากโมเดลการพัฒนาตลาดทุนของอังกฤษ ต่อมาแม้ว่าจะกลับคืนสู่อ้อมอกของจีนแล้ว ด้วยศักยภาพของจีนก็ทำให้ฮ่องกงยังสามารถคงสถานะการเป็นฮับการเงินของเอเชียไว้ได้ ด้วยการเป็นพื้นที่ที่มีความปลอดภัย และความเสี่ยงต่ำ รวมถึงมีเครื่องมือในการลงทุนที่หลากหลาย โดยตลาดหุ้นฮ่องกงถือว่าใหญ่เป็นอันดับ 7 ของโลก และมีส่วนสำคัญอย่างมากต่อการเชื่อมโยงจีนกับตลาดโลกด้วยเช่นกัน
จากแนวทางการปกครองแบบ 1 ประเทศ 2 ระบบ ที่ฮ่องกงมองว่าเป็นเอกลักษณ์และเป็นจุดแข็ง โดยเฉพาะในมิติของการพัฒนาตลาดทุน ที่ฮ่องกงเองถือเป็นส่วนสำคัญในการสนับสนุนให้จีนแผ่นดินใหญ่ก้าวสู่ระดับโลก พร้อมทั้งส่งเสริมการใช้เงินหยวนในระดับสากล
โดยพันธมิตรของ HKEX ในจีนแผ่นดินใหญ่ ได้แก่ ตลาดหลักทรัพย์เซี่ยงไฮ้ ตลาดหลักทรัพย์เสินเจิ้น China Foreign Exchange Trading System (CFETS) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ก่อตั้งโดยผู้มีส่วนร่วมสำคัญในตลาดปริวรรตเงินตราจีน China Securities Depository and Clearing Corporation Limited (CSDC) ซึ่งเป็นหน่วยงานกลางของจีนในการทำธุรกรรมการเปิดบัญชี และรับชำระหลักทรัพย์ China Emissions Exchange (CEEX) ซึ่งเป็นตลาดขายแลกเปลี่ยนก๊าซเรือนกระจกของจีน บริษัทการหักบัญชีเซี่ยงไฮ้ (Shanghai Clearing House)
ส่วนบริษัทร่วมทุน (Joint Venture) ได้แก่ China Exchange Services ฟิวเจอร์สกวางโจว (Guangzhou Futures Exchange: GFEX) Bond Connect และ Qianhai Mercantile Exchange (QME) แพลตฟอร์มซื้อขายสินค้าโภคภัณฑ์
สำหรับผลประกอบการของตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง ครึ่งปีที่ผ่านมารายได้อยู่ 1.06 หมื่นล้านดอลลาร์ฮ่องกง และกำไร EBITDA อยู่ที่ 7.9 พันล้านดอลลาร์ฮ่องกง ขณะที่มูลค่าตลาด (Market Cap) ข้อมูลสิ้นสุด ณ 30 มิ.ย. 2023 อยู่ที่ประมาณ 4.35 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีจำนวนบริษัทที่จดทะเบียนรวมทั้งสิ้น 2,604 บริษัท
ด้านแผนงานการยกประสิทธิภาพในการเชื่อมโยงกับตลาดหุ้นในจีนแผ่นดินใหญ่ ในปีนี้มี 2 แนวทางด้วยกัน โดยเรื่องแรกคือ ขยาย Connect Schemes ให้ครอบคลุมถึงผลิตภัณฑ์กลุ่มอนุพันธ์มากขึ้น เพื่อให้เพียงพอต่อการบริหารความเสี่ยงของนักลงทุน โดยสรุปคือ โครงการเชื่อมโยงฮ่องกงและจีนนั้นมีทั้งหุ้นพันธบัตร ETF และผลิตภัณฑ์บริหารความเสี่ยงอย่าง สัญญาแลกเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ย สัญญาซื้อขายล่วงหน้าดัชนี China A50
นอกจากนี้ ตลาดหุ้นฮ่องกง ยังมีแผนในการเพิ่มบทบาทของเงินหยวน โดยจะรวม RMB counter ไว้ใน Southbound Connect เพื่ออำนวยความสะดวกให้นักลงทุนในจีนสามารถเข้าถึงหุ้นใน HKEX และทำการซื้อขายได้อย่างคล่องมือมากขึ้น จากเดิมที่มีเพียง 24 หุ้นเท่านั้นที่สามารถซื้อขายได้ทั้งเงินสกุลดอลลาร์ฮ่องกง และเงินหยวนในเวลาเดียวกัน
พร้อมกันนี้ยังรวมถึงบริษัทต่างประเทศที่มีจดทะเบียนในตลาดหุ้นฮ่องกง ให้นักลงทุนจีนสามารถเข้ามาซื้อขายได้ใน Southbound Connect ด้วยเช่นกัน และที่สำคัญทางตลาดหุ้นฮ่องกงกำลังพิจารณาให้บริษัทจากตะวันออกกลางที่มาจดทะเบียน สามารถเข้าถึงเงินทุนระหว่างประเทศและจีนได้ ซึ่งจะช่วยเพิ่มสภาพคล่องของหุ้นอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งจะสะท้อนให้เห็นในการประเมินมูลค่าด้วย
นอกจากประเด็นการขยายผลิตภัณฑ์ด้านการเงินการลงทุนให้มีความครอบคลุมหลากหลายขึ้นแล้ว ฮ่องกง ยังน่าจับตาในเรื่องของการเปิดกว้างต่อธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลมากขึ้นด้วย โดยฮ่องกงได้ตั้งเป้าเป็นศูนย์กลางสินทรัพย์ดิจิทัล เพื่อหวังที่จะเป็นหนึ่งในกลยุทธ์ในการดึงดูดเงินทุนใหม่ และทวงคืนทาเลนต์กลับสู่ประเทศ รวมถึงพยายามฟื้นฟูสถานะการเป็นศูนย์กลางทางการเงินเพื่อก้าวไปสู่อุตสาหกรรมการเงินสมัยใหม่ หลังเผชิญกับเหตุการณ์สมองไหลจากความไม่แน่นอนในประเทศเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา
โดยเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาทาง Securities and Futures Commission (SFC) ซึ่งเป็นสำนักงาน ก.ล.ต.ของฮ่องกง เริ่มเปิดให้ยื่นขอใบอนุญาตแพลตฟอร์มซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลที่ให้บริการนักลงทุนรายย่อยอย่างเป็นทางการ
Jeffrey NG กรรมการผู้จัดการฝ่ายสื่อสารองค์กร Hong Kong Exchanges and Clearing Limited (HKEX) ให้มุมมองเกี่ยวกับเรื่องสินทรัพย์ดิจิทัลกับ Thairath Money ในการเยี่ยมชมตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกงว่า เมื่อเร็วๆ นี้มีการเปลี่ยนแปลงมีกฎระเบียบใหม่เพื่ออนุญาตให้รายย่อยสามารถซื้อขายคริปโตได้ผ่านแพลตฟอร์มที่ได้รับใบอนุญาตจาก SFC
สำหรับ HKEX เราเข้าใจสภาพแวดล้อมของตลาดที่กำลังพัฒนาอย่างรวดเร็ว ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการควบคุมอย่างระมัดระวัง โดยจะเห็นตัวอย่างที่ชัดเจนของสิ่งที่เราได้ทำไปแล้ว เช่น การอนุญาตให้เปิดตัว ETF ที่เชื่อมโยงกับคริปโตฯ ซึ่งปัจจุบันยังให้ใช้เป็น Futures ETF สิ่งนี้สามารถเปิดโอกาสให้นักลงทุนได้ และมีความเสี่ยงต่ำต่อตลาด
“ไม่ใช่ว่าเราไม่รู้ว่าสิ่งนี้จะพัฒนาไปอย่างไรในอนาคต แต่ตอนนี้เรากำลังจับตาดูท่าทีของสหรัฐฯ อย่างใกล้ชิด” Jeffrey NG กล่าว
ขณะที่เรื่องของโทเคนดิจิทัล Jeffrey มองว่าเป็นแนวโน้มที่สำคัญ แต่ก็เป็นสิ่งหนึ่งที่ต้องมีการกำกับดูแลอย่างรอบคอบ ซึ่งเราได้ทำงานร่วมกับหน่วยงานกำกับดูแล เพื่อหาวิธีที่ดีที่สุดในการอนุญาตให้นักลงทุนได้สัมผัสกับตลาดนี้ โดยที่ไม่เพิ่มความเสี่ยงอย่างมีนัยสำคัญ สุดท้ายแล้วสิ่งเหล่านี้มันก็ยังมีความเสี่ยงมากอยู่ เพราะเรามองว่ามันเป็นความเสี่ยงเชิงระบบที่อาจเกิดขึ้นในตลาด ดังนั้นเป็นสิ่งที่ต้องต้องจับตาดูความผันผวนของมันต่อไป.