นับเป็นความเคลื่อนไหวครั้งสำคัญของสิงคโปร์อีกครั้ง กับความพยายามในการทวงคืนตำแหน่ง ‘ศูนย์กลางของสินทรัพย์ดิจิทัล’ หลังทั่วโลกได้เห็นตัวอย่างของความเสี่ยงของการลงทุนในสกุลเงินดิจิทัลอย่างเป็นที่ประจักษ์ จากการล่มสลายของ TerraUSD (UST) และอาณาจักร Luna ที่ต่อเนื่องมายังความรับผิดชอบและการถูกตั้งคำถามถึงกลไกการควบคุมดูแลของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในสิงคโปร์ตลอดช่วงปีที่ผ่านมา
Stablecoin สกุลเงินดิจิทัลหรือคริปโตเคอร์เรนซีที่มีกลไกสำหรับการคงมูลค่า โดยการตรึงมูลค่ากับสินทรัพย์ที่มีความมั่นคง เช่น สกุลเงินของประเทศต่างๆ ทองคำ พันธบัตร โดสปัจจุบันตลาด Stablecoin ทั่วโลกมีมูลค่าราว 1.25 แสนล้านเหรียญโดยมี USDT ของ Tether และ USDC ของ Circle ครองส่วนแบ่งประมาณ 90% ของมูลค่าตามราคาตลาด
กรอบกำกับดูแลดังกล่าว อนุญาตให้ ‘ผู้ที่ไม่ใช่ธนาคาร’ (Non-bank issuers) ที่เป็นผู้ออกเหรียญ Stablecoin ซึ่งได้ตรึงไว้กับ 'สกุลเงินดอลลาร์สิงคโปร์หรือสกุลเงินในกลุ่ม G10' เช่น ดอลลาร์สหรัฐ เป็นต้น สามารถให้บริการได้ในสิงคโปร์ ภายใต้การข้อกำหนด ดังนี้
- Stablecoins ที่ปฏิบัติตามข้อกำหนดทั้งหมดจะได้รับการยอมรับจากหน่วยงานกำกับดูแลว่าเป็น “MAS-regulated stablecoins” หรือ “Stablecoins ที่ควบคุมโดย MAS”
- เสถียรภาพของมูลค่า (Value stability) สินทรัพย์สำรอง หรือ Reserve assets จะต้องอยู่ภายใต้ข้อกำหนดที่เกี่ยวข้อง ทั้งด้านองค์ประกอบ การประเมินมูลค่า การดูแล และการตรวจสอบ เพื่อให้มั่นใจในความมั่นคงของมูลค่า
- ผู้ออกเหรียญต้องบาลานซ์พอร์ต ‘สินทรัพย์สำรองที่มีความเสี่ยงต่ำมาก’ อย่างน้อย 100% ของ Stablecoin สกุลเงินเดียวที่หมุนเวียนอยู่ รวมถึงการรักษาทุนพื้นฐานขั้นต่ำที่สูงกว่า 1 ล้านเหรียญสิงคโปร์หรือครึ่งหนึ่งของค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานประจำปี ตลอดจนการรักษาสภาพคล่องเพื่อลดความเสี่ยงของการล้มละลายหรือการเลิกกิจการตามระเบียบหากจำเป็น
- การไถ่ถอนคืนเป็นเงินสกุลเดียว ให้กับผู้ถือเหรียญตามราคาพาร์ หรือมูลค่าที่ตราไว้ภายใน 5 วันทำการ นับจากวันที่ขอไถ่ถอน
- จัดให้มีการเปิดเผยข้อมูลที่เหมาะสมของผู้ใช้ ข้อมูลเกี่ยวกับกลไกการรักษามูลค่า ผลการตรวจสอบของทุนสำรอง
MAS เปิดเผยว่า “สิงคโปร์มีเป้าหมายที่จะสร้างความชัดเจนมากขึ้นให้กับอุตสาหกรรมนี้ และเพื่ออำนวยความสะดวกในการใช้ Stablecoins เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนดิจิทัลที่น่าเชื่อถือ”
พร้อมทั้งสนับสนุนนวัตกรรมทางการเงิน รวมถึงการซื้อและขายสินทรัพย์ดิจิทัลแบบ 'on-chain' โดยเฉพาะการแก้ปัญหาการเกิดขึ้นของสกุลเงินที่อ้างว่ามีการตรึงมูลค่าโดยที่ปราศจากสินทรัพย์ในโลกแห่งความเป็นจริง แต่มีเพียงการควบคุมโดยระบบอัลกอริทึม
กรอบดังกล่าวแสดงถึงการรับประกันความโปร่งใสและความรับผิดชอบที่ชัดเจนยิ่งขึ้น สร้างเส้นทางที่ชัดเจนสำหรับการดำเนินงานของ Stablecoin ในสิงคโปร์ นับเป็นหนึ่งในเขตอำนาจศาลแรกๆ ที่มีกฎดังกล่าว หลังจากก่อนหน้านี้ EU และสหราชอาณาจักรก็ได้ผ่านร่างการกฎหมายกำกับดูแล Stablecoin รวมถึงฮ่องกงก็อยู่ระหว่างการปรึกษาหารือและพยายามที่จะออกกฎระเบียบในปีหน้าด้วยเช่นกัน
อ้างอิง MAS , CNBC , BeinCrypto