ภาวะโลกเดือด โลกร้อน และฝุ่น PM 2.5 เป็นปัญหาใหญ่กระทบต่อสุขภาพส่วนบุคคล กระทบต่อการดำเนินธุรกิจ อย่างไรก็ตาม ได้มีความพยายามจากหลายภาคส่วนเพื่อบรรเทาปัญหาเหล่านี้
โดยหนึ่งในนั้นคือการผลักดันการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน ตามนโยบายพลังงาน 4D1E ซึ่งกระทรวงพลังงานผลักดันและมีการดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่อง
ดร.บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ ประธานคณะทำงานเพื่อขับเคลื่อนร่างกฎหมายว่าด้วยอากาศสะอาดและหนึ่งในกรรมการบริหารจัดการมลพิษทางอากาศอย่างยั่งยืน กล่าวถึงความคืบหน้าของนโยบายพลังงาน 4D1E ว่า นโยบาย 4D1E ประกอบด้วย
ดร.บัณฑูร กล่าวด้วยว่า ปัจจุบัน ตัวที่คืบหน้าไปมากที่สุดคือ Decentralization โดยมีการซื้อไฟฟ้าล็อตใหญ่มาเกือบครบ 5,000 เมกะวัตต์แล้ว และอาจจะเปิดต่ออีก 3,000 เมกะวัตต์ และภาคประชาชนให้การตอบรับที่ดี อันนี้คือความพยายามของภาครัฐในการรับมือกับปัญหาภาวะโลกร้อน
มลพิษทางอากาศ รัฐ เอกชน ประชาชน ต้องผนึกกำลังช่วยกันแก้
หากเจาะลึกลงไปที่อีกหนึ่งในผลกระทบจากมลพิษทางอากาศ รวมถึงปัญหาฝุ่น PM 2.5 แล้ว ดร.บัณฑูร กล่าวว่าทางออกที่จะช่วยแก้ปัญหานี้ได้อย่างยั่งยืนคือการแก้ที่แหล่งกำเนิดมลพิษ ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วน
“สิ่งที่อยากผลักดันเพื่อแก้ปัญหาเรื่องนี้ คือความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ซึ่งวันนี้เราก็เห็นความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรมจากหลายโครงการ โดยเฉพาะที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (Board of Investment หรือ BOI) ออกมาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อชุมชนและสังคมออกมา โดยมีทั้งหมด 6 หัวข้อ คือ สาธารณสุข การศึกษา การจัดการน้ำยั่งยืน การส่งเสริมการเกษตรยั่งยืน การจัดการสิ่งแวดล้อม และการลดการเผาในพื้นที่ป่า จะเห็นว่ามีหัวข้อที่ตอบโจทย์เรื่องปัญหามลพิษถึง 4 หัวข้อ ถ้าเราช่วยกันผลักดันมาตรการนี้ให้เป็นที่รู้จักและรับรู้ในวงกว้าง ก็จะสร้างผลลัพธ์ที่ดีให้ทุกฝ่าย
“เราเห็นผู้ประกอบการอย่างมิตรผล และคูโบต้าเข้ามาใช้กลไกนี้แล้ว ก็อยากขยายมาตรการนี้ให้มากขึ้น เพราะปัญหามลพิษทางอากาศและ PM 2.5 มันใหญ่กว่ากำลังภาครัฐฝ่ายเดียวจะดูแลได้” ดร.บัณฑูร กล่าว
ส่วนภาคประชาชนก็สามารถช่วยผลักดันการแก้ปัญหาได้หลายแบบ ตั้งแต่ทำความเข้าใจสาเหตุของมลพิษและ PM 2.5 ซึ่งจะนำไปสู่ความเข้าใจที่ถูกต้อง และนำไปสู่ความร่วมมือในเวลาที่ภาครัฐมีมาตรการออกมา
ที่สำคัญคือนำไปสู่การเปลี่ยนพฤติกรรม ซึ่งภาคประชาชนมีพลังในฐานะผู้บริโภคเยอะมาก เช่น หากรู้ว่ามีของป่าที่เกิดจากการเผา แล้วผู้บริโภคเลือกที่จะปฏิเสธ ไม่สนับสนุน ต้นทางก็จะเปลี่ยนไป
ส่วนภาคเอกชน นอกจากการช่วยส่งเสริมให้ภาคชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือวิสาหกิจชุมชนที่อยู่ในประกาศ BOI ให้เข้มแข็งขึ้นผ่านมาตรการส่งเสริมการลงทุนฯ ที่กล่าวไปก่อนหน้านี้แล้ว
อีกส่วนที่ทำได้คือการจัดการ Core Business หรือการประกอบธุรกิจที่อยู่ในกระบวนการผลิตที่ครบวงจร ตั้งแต่การใช้วัตถุดิบ การผลิต การขนส่ง บรรจุภัณฑ์ และการดูแลจัดการของเสียที่เกิดขึ้น
“ยกตัวอย่างในภาคการเกษตร เช่น กลุ่มมิตรผลที่มีการรับซื้อใบอ้อย ซึ่งเป็นของเหลือใช้จากเกษตรกรเพื่อนำไปผลิตเป็นพลังงานไฟฟ้าชีวมวล เกษตรกรก็ไม่ต้องเผาอ้อย ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม หรือการทำข้อมูลพิกัดรายแปลงของโครงการของมิตรผลที่จังหวัดสิงห์บุรีก็ทำให้เรามีข้อมูลว่ามีพื้นที่ไร่อ้อย 15-20% ที่ยังไม่เข้าระบบไม่เผา ก็ช่วยให้ภาครัฐเข้าไปดูแลแก้ไขปัญหาได้ถูกจุด” ดร.บัณฑูรกล่าว
อย่างไรก็ตาม ดร.บัณฑูร ซึ่งปัจจุบันกำลังดำเนินงานเพื่อร่วมขับเคลื่อนการผลักดันอากาศสะอาด ด้วยการจัดพื้นที่ปฏิบัติการ Government Innovation Lab ในพื้นที่การเกษตร ระบุอีกว่าหนึ่งในอุปสรรคสำคัญในการแก้ปัญหามลพิษจากการเผาในภาคการเกษตร คือการที่พื้นที่ปฏิบัติงานของโมเดลในการแก้ปัญหาต่างๆ มีขนาดจำกัด รวมถึงประเด็นความรวดเร็วในการดำเนินงาน ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องเร่งแก้ไข หากต้องการจะแก้ปัญหาได้อย่างทันท่วงที
“ผมประเมินว่าหากสเกลปัญหาอยู่ที่ 100% สิ่งที่พวกเราทำกัน เช่น โมเดลต่างๆ ของทั้งภาครัฐและเอกชน รวมๆ แล้วเราอาจจะแก้ปัญหาได้อยู่ที่ 30% จุดใหญ่ของปัญหานี้คือความสำเร็จในระดับโมเดลมัน Scale Up หรือขยายออกไปไม่ได้ และเร่งความเร็วหรือ Speed Up ไม่ทันขนาดและความเร็วของปัญหา เพราะภาครัฐไม่มีงบประมาณและกำลังพอ
“กฎระเบียบของภาครัฐก็ทำให้เกิดความล่าช้า หากเราดำเนินงานด้วยรูปแบบและความเร็วแบบเดิม เราจะไม่สามารถแก้ปัญหาได้ทัน ผมอยากให้ความสำเร็จของโมเดลนำร่องต่างๆ สามารถสร้างอิมแพกต์ได้จริง อยากให้มันเป็นมากกว่าโมเดลนำร่องที่แก้ปัญหาได้อย่างจำกัด จึงอยากให้ทุกภาคส่วนเห็นความสำคัญของการ Scale Up และ Speed Up การทำงานเหล่านี้ และช่วยกันทำให้การแก้ปัญหาที่มีประสิทธิภาพและยั่งยืนสามารถเกิดขึ้นได้จริง”
พร้อมกับเสนอแนะว่านอกจากร่วมมือกันแก้ปัญหาแล้ว หน่วยงานต่างๆ ยังสามารถร่วมมือกันเพื่อป้องกันปัญหาฝุ่นควันได้ ด้วยการสร้างการสื่อสารสาธารณะ เพื่อให้ประชาชนในวงกว้างรับรู้ข้อมูลที่ถูกต้องและเพียงพอเกี่ยวกับปัญหามลพิษทางอากาศ ทั้งสาเหตุ ผลกระทบ และการป้องกัน ซึ่งจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมได้ในที่สุด
“สิ่งที่อยากให้เกิดคือการจัดตั้งศูนย์กลางในการออกมาให้ข้อมูลเรื่องมลพิษทางอากาศทุกวันในช่วงฤดูฝุ่น เพราะเป็นช่วงที่คนจะต้องการข้อมูลข่าวสารที่อัปเดต ถูกต้อง และยังถือเป็นการสร้างความตื่นตัวให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญของปัญหา แบบเดียวกับที่มีการจัดตั้งศูนย์บริหารจัดการสถานการณ์โควิด-19 ออกมาให้ข้อมูลในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโรค หากทำแบบนั้นประชาชนก็จะได้ข้อมูลที่ถูกต้องและไปในทิศทางเดียวกัน ลดความสับสน และจะสามารถดูแลตัวเองและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมได้”
อัปเดต พ.ร.บ.อากาศสะอาด จ่อคลอดเร็วๆ นี้
อย่างไรก็ตาม ปัญหามลพิษทางอากาศและฝุ่นควันเป็นเพียงปรากฏการณ์บนยอดภูเขาน้ำแข็ง แต่รากฐานปัญหานั้นประกอบด้วย 3 ปัจจัยที่ต้องแก้ไข คือ การทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานราชการ ปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านที่ดินและความยากจนที่ทำให้เกษตรกรต้องปลูกข้าวโพดบนที่สูงที่ต้องมีการเผา และการขาดกติกาและกลไกกำกับควบคุมระบบตลาดเสรีได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจำเป็นต้องเร่งแก้ไขโดยเร็ว
ขณะที่ ในเดือนมกราคมที่ผ่านมา สภาผู้แทนราษฎรมีมติเอกฉันท์รับหลักการใน ร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาดฯ ทั้ง 7 ฉบับ ในวาระแรก พร้อมตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาวาระที่ 2 จำนวน 39 คน โดยในจำนวนนี้เป็นสัดส่วนของคณะรัฐมนตรี จำนวน 6 คน ได้แก่ นางสาวปรีญาพร สุวรรณเกษ นายเธียรชัย ชูกิตตีวิบูลย์ นายวิชิต จรัสสุขสวัสดิ์ นายไพฑูรย์ มหาพัณณาภรณ์ นายบัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ และนายจักรพล ตั้งสุทธิธรรม ที่เหลือแบ่งเป็นสัดส่วนประชาชนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งจำนวน 13 คน พรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกล พรรคละ 6 คน พรรคภูมิใจไทย 3 คน พรรคพลังประชารัฐและพรรครวมไทยสร้างชาติ พรรคละ 2 คน รวมทั้งพรรคประชาธิปัตย์ 1 คน โดยกำหนดกรอบระยะเวลาแปรญัตติภายใน 15 วัน และใช้ร่างฯ ของรัฐบาลเป็นหลักในการพิจารณา
ส่วนร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาดฯ ทั้ง 7 ฉบับประกอบด้วย
1. ร่าง พ.ร.บ.บริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ. .… ที่สำนักงานขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (สำนักงาน ป.ย.ป.) เป็นผู้จัดทำและนำเสนอโดยคณะรัฐมนตรี ในวาระเร่งด่วน
2. ร่าง พ.ร.บ.กำกับดูแลการจัดการอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพแบบบูรณการ พ.ศ. .... นำเสนอโดย น.ส.คนึงนิจ ศรีบัวเอี่ยม กับผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวน 22,251 คน
3. ร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาดเพื่อประชาชน พ.ศ. .... นำเสนอโดย นายอนุทิน ชาญวีรกูล กับคณะจากพรรคภูมิใจไทย
4. ร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาดเพื่อสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน พ.ศ. .... นำเสนอโดย นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ กับคณะจากพรรคเพื่อไทย
5. ร่าง พ.ร.บ. ส่งเสริมและรักษาอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพ พ.ศ. .... นำเสนอโดย น.ส.วทันยา บุนนาค สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์
6. ร่าง พ.ร.บ.บริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ. .... นำเสนอโดย น.ส.ตรีนุช เทียนทอง สส.สระแก้ว และคณะจากพรรคพลังประชารัฐ
7. ร่าง พ.ร.บ.ฝุ่นพิษและการก่อมลพิษข้ามพรมแดน พ.ศ. .… ที่นำเสนอโดยพรรคก้าวไกล ซึ่งคณะกรรมาธิการจะได้นำร่างทั้ง 7 ไปพิจารณานำข้อดีของแต่ละฉบับมาจัดทำเป็นร่างหลักที่จะเสนอต่อรัฐสภาในวาระต่อไป
โดยต้องติดตามต่อไปว่า ในวาระ 2-3 ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวจะมีการปรับไปจากเดิมหรือไม่ อย่างไร และถึงเวลาบังคับใช้ตามกฎหมายได้เมื่อไร