เชื่อว่าในขณะนี้ทุกคนในโลกและคนไทยส่วนใหญ่คงเคยได้ยินได้ฟัง และตระหนักถึงภัยพิบัติที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่ส่งผลกระทบต่อโลกและต่อตัวเรารุนแรงมากขึ้น ส่งผลให้แนวคิดการดูแลสิ่งแวดล้อม ลดการปล่อยคาร์บอน มลพิษ และการเติบโตอย่างยั่งยืนกลายเป็น “เทรนด์ใหม่ของโลก” โดยเป้าหมายแรกที่ต้องการไปถึง คือ “Carbon neutrality” หรือความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี 2573
ในขณะที่ “ธนาคารพาณิชย์” ถูกมอบหมายให้เป็นแหล่งเงินของกระบวนการนี้ ด้วยการปล่อย “สินเชื่อสีเขียว” เพื่อสนับสนุนการปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตที่ปล่อยมลพิษในปัจจุบัน เป็นการผลิตสีเขียวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งที่ผ่านมา ธนาคารพาณิชย์ไทยต่างตระหนักถึงเรื่องนี้ และนำเสนอ “สินเชื่อสีเขียว” ที่เหมาะสมกับลูกค้าของตัวเอง
โดยตัวอย่างที่จะเล่าวันนี้ เป็นของ “ธนาคารไทยพาณิชย์” ซึ่ง ณ สิ้นเดือน พ.ย.ปล่อยสินเชื่อสีเขียวไปแล้วสูงถึง 134,000 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นการปล่อยให้กับกลุ่มโรงแรม ซึ่งเป็นลูกค้าหลักของธนาคาร
เนื่องจากตระหนักว่าภาคการท่องเที่ยวเป็นหนึ่งในภาคหลักที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศสูงถึง 11% ของทั้งหมด โดยมีเป้าหมายเพื่อเปลี่ยนผ่านการบริหารจัดการโรงแรมสู่การเป็น “โรงแรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม” (Green Hotel) ที่สามารถใช้ทรัพยากรและพลังงานอย่างคุ้มค่า มีการจัดการมลพิษและสิ่งแวดล้อมที่ดี มีส่วนร่วมในการสืบสานศิลปวัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น และช่วยพัฒนาท้องถิ่นที่ตั้งอยู่
แต่ที่สำคัญที่สุด คือเพื่อให้ได้รับการยอมรับจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศ ซึ่งให้ความสำคัญกับ “การท่องเที่ยวแบบยั่งยืน” มากขึ้น เพราะจากผลสำรวจนักเดินทางหลังโควิด-19 พบว่ากว่า 69% มองหาทริปที่ช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดย 3 ใน 5 ของนักท่องเที่ยว เลือกวิธีเดินทางหรือที่พักที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากกว่าแบบทั่วไป
ดังนั้น ในการพาสื่อมวลชนไปพบปะกับลูกค้าโรงแรมของธนาคาร ซึ่งได้รับการปล่อยสินเชื่อสีเขียว เพื่อการเปลี่ยนผ่านจากไทยพาณิชย์ และประสบความสำเร็จอย่างมากที่ เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี ในช่วงปลายเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา นำโดย “กฤษณ์ จันทโนทก” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และ “ยรรยง ไทยเจริญ” รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส
ไทยพาณิชย์จึงได้ตั้งเป้าหมายของทริปนี้ว่าจะเป็นทริปการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน และอย่างน้อยที่สุดเมื่อหักกลบลบกันแล้ว จะต้องปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ เป็นการท่องเที่ยวแบบไม่ทำลายธรรมชาติ
โดยได้มีการคำนวณคาร์บอนในการเดินทางครั้งนี้ ทั้งการเดินทางโดยเครื่องบิน รถยนต์ การทำลายสิ่งแวดล้อม และการปล่อยคาร์บอนในส่วนอื่นๆตลอดทั้งทริปว่า ทั้งหมดปล่อยไปเท่าไร เพื่อที่จะหากิจกรรมการดูแลสิ่งแวดล้อม การเลือกที่พัก ดูแลชุมชน การลดขยะ ลดการสูญเสียของอาหารเหลือ และอื่นๆ เพื่อทดแทนคาร์บอนที่ปล่อยออกมา
ทำให้ในทริปท่องเที่ยวกับธนาคารไทยพาณิชย์ในครั้งนี้ นอกเหนือจากชมความสวยงามของเกาะสมุย ซึ่งถือเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางของการท่องเที่ยวระดับโลกแล้ว ทางไทยพาณิชย์ยังได้เลือกพักที่โรงแรมบันยันทรี เกาะสมุย ซึ่งเป็นหนึ่งในโรงแรมลูกค้าของธนาคารที่ได้รับการการันตีการดำเนินการโรงแรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และยังได้เพิ่มกิจกรรมธนาคารปูม้า ปล่อยแม่ปู และลูกปูม้า คืนสู่ธรรมชาติ เพื่อเพิ่มโอกาสการอยู่รอดของลูกปูม้า
รวมทั้งทำกิจกรรมปลูกป่า ร่วมกันปลูกต้นตะเคียน และต้นเคี่ยม เพื่อเพิ่มจำนวนต้นไม้ให้กับโลก ขณะที่ยังมีกิจกรรมลดขยะ ด้วยการทำกระเป๋าจากแหที่เลิกใช้งาน ไม่ให้ถูกทิ้งเป็นขยะ ที่สำคัญคือการกินอาหารไม่ให้เหลือทิ้ง และการเลือกวัตถุดิบการทำอาหารที่สามารถทานได้ทุกส่วน จบท้ายการเดินทางกลับบ้านจากสนามบินด้วยรถยนต์ไฟฟ้า
และหลังจากจบทริป ได้มีการคำนวณว่ามีการปล่อยคาร์บอนทั้งทริปทั้งสิ้น 5.5 ตันคาร์บอน ขณะที่การเลือกทำกิจกรรมเพื่อความยั่งยืนตลอดทั้งทริป สามารถชดเชยคาร์บอนรวมกว่า 6 ตันคาร์บอน
เท่ากับว่า “ไทยพาณิชย์” ประสบความสำเร็จในการเป็น Carbon Neutral Trip และยังแสดงให้เห็นว่า เราทุกคนก็สามารถท่องเที่ยวโดยไม่ปล่อยคาร์บอนได้ หรืออย่างน้อยที่สุดในทริปครั้งหน้าของเรา หากไม่สามารถเพิ่มกิจกรรมที่เพิ่มคาร์บอนเครดิตได้ แค่เราลดกิจกรรมที่ปล่อยคาร์บอนลง เลือกที่พักสีเขียว ไม่กินเหลือกินทิ้งกินขว้าง เดินหรือขี่จักรยานมากขึ้น ไม่ใช้พลังงาน ทรัพยากรฟุ่มเฟือย เราก็เป็นนักเดินทางที่ช่วยโลกด้วยการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนได้แล้ว.
อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่