นายวีรพัฒน์ เกียรติเฟื่องฟู ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยว่า สนพ.เป็นหน่วยงานหลักในการจัดทำแผนพลังงานชาติ (National Energy Plan) ซึ่งเป็นแผนระยะยาว ที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (ปี 2561-2580) โดยแผนจะเป็นตัวชี้นำว่านโยบายด้านพลังงานของประเทศไทยจะไปทิศทางใด และต้องสอดคล้องไปกับเวทีโลก เพราะขณะนี้ทั่วโลกกำลังมุ่งหน้าไปสู่การลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก และการลดปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์
ประเทศไทยมุ่งสู่พลังงานสะอาด
ประเทศไทยในปัจจุบันมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 70% ที่เป็นการปล่อยจากภาคพลังงาน ฉะนั้นภาคพลังงานก็ต้องมีการเปลี่ยนแปลง เพื่อหากลไกเข้ามาช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคพลังงานให้ลดลง และเทคโนโลยีที่เข้ามามีบทบาทมากขึ้น ทำให้เทคโนโลยีด้านพลังงาน เกิดการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างรวดเร็ว ซึ่งเราจะเห็นว่าพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้า การใช้พลังงานของประชาชนมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยสำคัญ
อาทิ ตอนนี้เราสามารถใช้แอปพลิเคชันในโทรศัพท์ควบคุมการเปิด-ปิดเครื่องปรับอากาศ เปิด-ปิดไฟฟ้า รวมทั้งสามารถดูค่าใช้จ่ายค่าไฟฟ้าในแต่ละเดือนว่ามีเท่าไหร่ และสามารถบริหารค่าไฟฟ้าได้ และเทคโนโลยีพลังงานได้เข้ามามีบทบาทสำคัญกับธุรกรรมโครงสร้างอุตสาหกรรมใหม่ๆ เช่น เรามีพลังงานหมุนเวียนที่เพิ่มมากขึ้น ประชาชนสามารถผลิตไฟฟ้าเองได้ บริบทของเทคโนโลยี จึงเข้ามาเปลี่ยนแปลงแนวโน้มทิศทางด้านพลังงานของประเทศ นโยบายที่ สนพ.จะทำจากนี้คือต้องดูว่าสิ่งต่างๆ เหล่านี้เข้ามาเปลี่ยนแปลง ทั้ง พฤติกรรม อุตสาหกรรม และโครงสร้างต่างๆอย่างไร เพื่อทำแผนให้เราไปสู่ทิศทางที่เราต้องการได้อย่างไร
“ประเทศไทยจึงต้องมุ่งไปสู่การผลิตพลังงานสะอาดทำให้แผนพลังงานชาติได้มีการพูดถึงว่าการบริหารจัดการ การจัดหาไฟฟ้า เพื่อรองรับกับความต้องการไฟฟ้าของประชาชน ต้องมีการวางแผนอย่างไร เรื่องการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ จะต้องมีมาตรการให้ประชาชน ประหยัดพลังงานได้อย่างไร เพื่อช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายหรือมีการใช้พลังงานในภาพรวมของประเทศให้มีประสิทธิภาพ”
ภาคขนส่ง–อุตสาหกรรมรักษ์โลก
การสนับสนุนพลังงานหมุนเวียนที่ไม่ใช่แค่ภาคไฟฟ้าอย่างเดียว ภาคขนส่ง ภาคอุตสาหกรรมก็ต้องมีการปรับตัวในการใช้พลังงานหมุนเวียน เพื่อให้เกิดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่น้อยลง โดยเฉพาะภาคขนส่งที่เกิดจากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล และภาคอุตสาหกรรมที่มีการใช้จำนวนมากที่ต้องมีการมาดูกันว่าจะให้กลุ่มผู้ใช้พลังงานเหล่านี้ทำอย่างไรในการปรับเปลี่ยนเรื่องการใช้พลังงานหมุนเวียนให้เพิ่มมากขึ้น
ในภาคขนส่งเชื่อว่าในอนาคตมีการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) มากขึ้น ดังนั้นเรื่องแผนด้านน้ำมันจะเป็นอย่างไร สนพ.ก็ต้องดูภาพรวมของอุตสาหกรรมน้ำมัน รวมทั้งนโยบายที่จะส่งเสริมเรื่องเชื้อเพลิงชีวภาพ (Biofuel) เช่น เอทานอลกับน้ำมันเบนซิน และไบโอดีเซลกับน้ำมันดีเซล รวมทั้งเรื่องแผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ เพราะก๊าซธรรมชาติที่ผลิตได้ในประเทศของเราก็กำลังลดลง จะต้องมีการจัดหาเพิ่มจำนวนเท่าใด การจัดหาเพิ่มจะทำอย่างไร เช่น ต้องมีการจัดหาก๊าซธรรมชาติจากพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลบริเวณไหล่ทวีประหว่างไทยและกัมพูชา (OCA) หรือว่าเราจะต้องมีการนำเข้าในรูปแบบก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) เพิ่มขึ้นหรือไม่
ทั้งหมดนี้เป็นแผนระยะยาวทั้ง 5 แผนที่ประกอบเป็นแผนพลังงานชาติ ที่ต้องผลักดันให้เกิดให้ได้ในปีนี้
แผนพลังงานชาติเสร็จในปีนี้
นายวีรพัฒน์กล่าวว่า คนของ สนพ.ต้องก้าวให้ทันโลกทันต่อการเปลี่ยนแปลง ต้องรู้ว่าตอนนี้มันมีอะไรใหม่ๆเกิดขึ้น แต่ละประเทศมีแนวทางพลังงานไปทางไหน เวทีโลกด้านพลังงานเน้นไปด้านใด สิ่งที่สนพ.กำลังเดินอยู่ เดินอยู่ในเส้นทางเดียวกับเขา หรือนอกเส้นทางของเขา แล้วนอกเส้นทางนี้ มันสอดคล้องกันไหม หรือ สนพ.จะต้องรีบกลับตัวมาอยู่ในเส้นทางเดียวกับเขา
เป้าหมายสำคัญคือจะผลักดันแผนพลังงานชาติให้สำเร็จ เพื่อชี้ให้เห็นว่าประเทศไทยจะเดินไปในทิศทางไหน ซึ่งทุกองค์กรทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็รอแผนพลังงานชาติให้เกิดขึ้นจริงๆ แผนพลังงานชาติได้เริ่มมาตั้งแต่ 2 ปีที่แล้ว แต่ถึงตอนนี้ยังไม่สำเร็จ เนื่องจากช่วงที่ผ่านมา มีทั้งสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครนที่เกิดขึ้น รวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลของไทย จึงทำให้การจัดทำแผนพลังงานชาติมีการหยุดชะงักไป ซึ่งปัจจุบันได้รับทราบนโยบายพลังงานจากรัฐบาลชุดใหม่แล้ว ก็ได้นำนโยบายมาปรับปรุง ทบทวนให้สอดคล้อง
“การจัดทำโครงสร้างราคาพลังงานใหม่ของกระทรวงพลังงาน สนพ.ได้ช่วยสนับสนุนแนวทางการที่จะปรับโครงสร้างราคาให้มีความเหมาะสมและเป็นธรรมให้แล้วเสร็จในปีนี้”
ราคาพลังงานเป็นธรรม–เหมาะสม
“ผมจะทำงานตามนโยบายของกระทรวงพลังงานภายใต้ยุทธศาสตร์ประเทศไทยต้องมีความมั่นคงด้านพลังงาน และต้องมีเพียงพอ เช่น ไฟฟ้าห้ามดับ น้ำมันต้องมีเพียงพอกับความต้องการของผู้บริโภค แม้หากเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินมีปัญหาสงคราม หรือเหตุการณ์วิกฤติน้ำท่วม หรือมีภัยธรรมชาติ แต่สิ่งเหล่านี้ต้องพร้อมมีสำรองไว้สำหรับให้ใช้ได้ตลอดเวลา, ราคาพลังงานที่เป็นธรรมต้องมีความเหมาะสมเป็นธรรม และมีความสมดุลทั้งประชาชนและผู้ประกอบการ ไม่ใช่ ว่าประชาชนได้ใช้ราคาถูก แต่ผู้ประกอบการรับภาระมากเกินไป หรือประชาชนใช้ของแพงแต่ผู้ประกอบการมีกำไรมากเกินไป ผมจะเน้นดูแลเรื่องนี้เป็นกรณีพิเศษ”
นอกจากนี้ เมื่อมีการใช้พลังงานปัญหาสิ่งแวดล้อมจากการใช้ก็จะต้องไม่ก่อให้เกิดมลพิษ เพราะนโยบายพลังงานของประเทศก็ได้มีการทบทวนและปรับปรุงใหม่ เพื่อขับเคลื่อนประเทศเข้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี 2593 และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net Zero emissions) ในปี 2608 ทั้งหมดนี้เป็นปัจจัยหลักของ สนพ. ที่ใช้ในการวางแผนพลังงาน เพื่อทำให้ประเทศไทยมีความยั่งยืนด้านพลังงาน
“ใน 4 ปีข้างหน้าจะเป็นช่วงที่ สนพ. ต้องมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานที่มุ่งสู่เป้าหมายหรือผลลัพธ์ที่ตั้งไว้เป็นสำคัญ ผ่านการติดตามและการประเมินผลสำเร็จในแต่ละช่วงเวลา”.
อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่