KTC คาดยอดใช้จ่ายผ่านบัตรปี 68 ทะลุ 3.2 แสนล้าน โตอีก 10% รุกลงทุนด้านไอที ยกเครื่องรอบ 12 ปี

Personal Finance

Wealth Management

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

KTC คาดยอดใช้จ่ายผ่านบัตรปี 68 ทะลุ 3.2 แสนล้าน โตอีก 10% รุกลงทุนด้านไอที ยกเครื่องรอบ 12 ปี

Date Time: 9 ธ.ค. 2567 19:26 น.

Video

โมเดลธุรกิจ Onlyfans ทำไมถึงมีแต่ได้กับได้ ? บริษัทมั่งคั่ง คนทำก็รวย | Digital Frontiers

Summary

  • KTC มั่นใจปี 2568 ตลาดสินเชื่อปรับดีขึ้นตามการฟื้นตัวเศรษฐกิจ จากมาตรการกระตุ้นภาครัฐ ทุ่มงบลงทุนเทคโนโลยี ยกเครื่องระบบรอบ 12 ปี หวังลดต้นทุน เสริมแกร่งพอร์ตสินเชื่อ จับกลุ่มลูกค้าใหม่ คาดยอดใช้จ่ายบัตรเครดิตโต 10-12%

Latest


KTC มั่นใจปี 2568 ตลาดสินเชื่อฟื้นตัวตามเศรษฐกิจ จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ จะช่วยเพิ่มรายได้ประชาชนและสร้างโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ซึ่งถือเป็นสัญญาณบวกกับธุรกิจบริการสินเชื่อผู้บริโภค 

พิทยา วรปัญญาสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร “เคทีซี” หรือ บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ที่ผ่านมาแม้ตลาดสินเชื่อจะซบเซา แต่ธุรกิจสินเชื่อ KTC ยังเติบโตอย่างต่อเนื่อง จากจุดแข็ง 3 อย่าง ได้แก่ คน กระบวนการ และเทคโนโลยี 

สำหรับทิศทางธุรกิจในปี 2568 KTC จะเดินหน้าลงทุนด้านเทคโนโลยี ทำ Digital transformation เพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน ด้วยกลยุทธ์ “Building a Sustainable Future Through Digital Transformation” ประยุกต์เทคโนโลยีเข้ากับกระบวนการทำงาน ลดค่าใช้จ่าย และพัฒนาทักษะของพนักงานให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง

“Core system ปัจจุบันใช้มา 12 ปีแล้ว ถึงเวลาต้องเปลี่ยนเพื่อรองรับจำนวนธุรกรรมที่เพิ่มขึ้น การขยายทีมไอที มี in-house development เป็นของตัวเองจะช่วยให้พัฒนานวัตกรรมได้เร็วขึ้น ด้วยต้นทุนที่ต่ำลง”

ทั้งนี้คาดว่าระบบใหม่จะเริ่มใช้งานได้ในต้นเดือนกันยายนปี 2568  การทำ Digital transformation จะทำให้บริษัทสามารถเข้าถึงลูกค้าทุกกลุ่มได้ดีขึ้น สนับสนุนการขยายตัวของพอร์ตสินเชื่อ ลดต้นทุนการดำเนินงาน เพื่อเป้าหมายการเติบโตอย่างยั่งยืน

ผลการดำเนินงานปี 2567

1.ธุรกิจบัตรเครดิต 

ประณยา นิถานานนท์ ผู้บริหารสูงสุด สายงานการตลาดบัตรเครดิต กล่าวว่า ในปีนี้ธุรกิจบัตรเครดิตต้องเผชิญกับความท้าทายจากเศรษฐกิจฟื้นตัวช้า มาตรการ Responsible lending  ของแบงก์ชาติที่ส่งผลให้ต้นทุนเพิ่มขึ้น อย่างไรตามธุรกิจบัตรเครดิตยังมีการแข่งขันเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากการเข้ามาของคู่แข่งหน้าใหม่ และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ 10,000 บาทของรัฐบาล

ทั้งนี้ปี 2567 ธุรกิจบัตรเครดิตคาดว่าจะเติบโต 10% ต่ำกว่าเป้าหมายที่เคยตั้งไว้ที่ 15% แต่ยังเป็นอัตราที่เติบโตกว่าตลาด เนื่องจากการบริหารพอร์ตสินเชื่อ เพิ่มสัดส่วนลูกค้ากลุ่มบนที่มีกำลังซื้อ แทนที่ลูกค้ากลุ่มแมสที่เดิมมีสัดส่วนมากถึง 60% และการใช้เทคโนโลยีเข้ามาเพิ่มประสบการณ์ลูกค้า โดยปัจจุบันมีลูกค้าทั้งหมด 2.2 ล้านคน และบัตรเครดิต 2.7 ล้านใบ และเป็นบัตรเดียวที่มี Active card หรืออัตราการใช้บัตรอย่างน้อย 1 ครั้งต่อปี สูงสุดในอุตสาหกรรม

สำหรับปี 2568  คาดการเติบโตที่ประมาณ 10-12% ด้วยยอดใช้จ่ายผ่านบัตรที่ไม่ต่ำกว่า 320,000 ล้านบาท เพิ่มจำนวนสมาชิกใหม่ 250,000 บัตร เน้นกลุ่มผู้มีรายได้ 50,000 บาทขึ้นไป รวมถึงกลุ่มคนเริ่มทำงาน (First Jobber)

สร้างความแตกต่างในด้านการทำกิจกรรมทางการตลาดและส่งเสริมการขายโดยใช้จุดแข็งด้านคะแนนสะสม KTC FOREVER ในการเพิ่มมูลค่าให้สมาชิกโดยร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจทุกหมวดสำคัญ เช่น หมวดอาหาร ช้อปปิ้ง เติมน้ำมัน และท่องเที่ยว เพื่อตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์สมาชิกทุกกลุ่มเซ็กเมนต์

2.ธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคล

พิชามน จิตเป็นธรรม ผู้บริหารสูงสุด สายงานสินเชื่อบุคคล กล่าวว่า สถานการณ์ครัวเรือนสูง คุณภาพหนี้ด้อยลง เป็นความท้าทายสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจสินเชื่อ อย่างไรก็ตามธุรกิจยังเติบโตต่อเนื่องแม้ตลาดสินเชื่อจะหดตัว ซึ่งเป็นผลมาจากการรักษาการเติบโตและคุณภาพพอร์ตสินเชื่อไปพร้อมกัน สะท้อนจากอัตราหนี้เสีย(NPL) ที่ 2.8% ต่ำกว่าอุตสาหกรรมที่ระดับ 3.3% 

ในปี 2568 บัตรกดเงินสด “เคทีซี พราว” ตั้งเป้าเติบโตที่ 3% เน้นขยายฐานสมาชิกใหม่ผ่านพันธมิตรธุรกิจต่างๆ เพื่อเพิ่มโอกาสเข้าถึงสินเชื่อผ่านช่องทางสมัครสินเชื่อออนไลน์ E-Application ที่ลูกค้าสามารถทำรายการได้ด้วยตนเอง รู้ผลอนุมัติพร้อมรับเงินโอนเข้าบัญชีภายใน 30 นาที   พร้อมสร้างประสบการณ์การใช้งานให้กับสมาชิกผ่านฟังก์ชัน “รูด โอน กด ผ่อน” ครบจบในบัตรเดียว และสานต่อโครงการ “เคลียร์หนี้” เพื่อเสริมวินัยทางการเงินแก่สมาชิก

3.ธุรกิจสินเชื่อรถยนต์

เรือนแก้ว เกษมสวัสดิ์ศรี ผู้บริหารสูงสุด สายงานสินเชื่อรถยนต์ ยอมรับว่า ธุรกิจสินเชื่อรถยนต์ซบเซาตามอุตสาหกรรม แต่ KTC ยังเน้นการเติบโตอย่างยั่งยืน เพื่อรักษาคุณภาพของพอร์ตสินเชื่อ สะท้อนจากการมีอัตราหนี้เสียต่ำ(NPL) โดยในปี 2568 จะต่อยอดกลยุทธ์ดังกล่าว ตั้งเป้าสินเชื่อ "เคทีซี พี่เบิ้ม รถแลกเงิน" เติบโตที่ 3,000 ล้านบาท เน้นขยายพอร์ตสินเชื่อคุณภาพผ่านสาขาธนาคารกรุงไทยตัวแทนจำหน่าย และพันธมิตรธุรกิจต่างๆ โดยรักษาคุณภาพลูกหนี้ เจาะกลุ่มลูกค้าที่มีรายได้ประจำและเจ้าของกิจการขนาดเล็กที่เป็นเจ้าของรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ และกำลังมองหาสินเชื่อให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบได้ง่ายและปลอดภัย อีกทั้งในช่วงที่ผ่านมาธนาคารและ non-banks ได้ปรับลดวงเงินต่อมูลค่าหลักประกัน (LTV) จึงเป็นโอกาสในการเข้าถึงลูกค้าที่ต้องการวงเงินขนาดใหญ่แบบเร่งด่วน โดย KTC ให้วงเงินสูงสุด 100% ของราคาประเมิน อนุมัติไวภายใน 1 ชั่วโมง รับเงินทันที โดยไม่ต้องมีคนค้ำประกัน

รุกลงทุนไอที เสริมแกร่งพอร์ตสินเชื่อ

สำหรับเป้าหมายการทำธุรกิจในปี 2568 เคทีซีคาดว่าพอร์ตสินเชื่อรวมจะขยายตัวที่ 4-5% และคุมอัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพต่อเงินให้สินเชื่อ (NPL Ratio) รวมให้อยู่ในระดับไม่เกิน 2% และมีแผนระดมเงินกู้ยืมระยะยาวประมาณ 15,000 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนการขยายตัวของพอร์ตสินเชื่อ ลงทุนด้านเทคโนโลยี รวมถึงรองรับหุ้นกู้และเงินกู้ยืมระยะยาวที่จะครบกำหนดประมาณ 13,000 ล้านบาท ซึ่งจะทำให้สัดส่วนเงินกู้ระยะสั้นต่อเงินกู้ระยะยาวอยู่ที่ 20:80 อย่างไรก็ตาม การลงทุนด้านเทคโนโลยีจะทำให้ต้นทุนทางการเงินสูงขึ้นในปีหน้า แม้ กนง.มีแนวโน้มลดดอกเบี้ยลงอีก เนื่องจากหุ้นกู้วงเงิน 13,000 ล้านบาทที่จะครบกำหนดชำระ เป็นชุดที่ระดมทุนในช่วงที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายต่ำกว่าระดับปัจจุบันที่ 2.25% จึงไม่ได้รับอานิสงส์จากการลดดอกเบี้ยมากนัก

อ่านข่าวหุ้น และการลงทุน กับ Thairath Money ได้ที่
https://www.thairath.co.th/money/investment


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ