เช็กทุกดอก ไม่โดนหลอกลงทุน เสนอผลตอบแทนสูง ปันผลดี “มิจฉาชีพ” แน่นอน

Personal Finance

Wealth Management

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

เช็กทุกดอก ไม่โดนหลอกลงทุน เสนอผลตอบแทนสูง ปันผลดี “มิจฉาชีพ” แน่นอน

Date Time: 18 ต.ค. 2566 19:23 น.

Video

ศิรเดช โทณวณิก Gen 3 ดุสิตธานี ธุรกิจที่เป็นมากกว่าโรงแรม | On The Rise

Summary

  • ปัญหา “มิจฉาชีพ” ที่ชักชวนให้ลงทุนผ่านโซเชียลมีเดียยังคงมีความรุนแรง และมีในหลากหลายรูปแบบ โดยมีการปรับเปลี่ยนกลโกงตลอดเวลา

Latest


ซึ่งหากดูจากข้อมูลย้อนหลังของกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) พบว่า การหลอกให้ลงทุน โดยเฉพาะการหลอกให้ลงทุนผ่านระบบคอมพิวเตอร์ ติด 1 ใน 5 ของคดีอาชญากรรมออนไลน์และสร้างมูลค่าความเสียหายกว่า 11,500 ล้านบาท

หลอกให้ลงทุนผ่านระบบคอมพิวเตอร์ โดนเยอะสุด

ขณะเดียวกันจากสถิติการแจ้งความออนไลน์ผ่านเว็บไซต์สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ระหว่างวันที่ 1 มีนาคม 2565-30 กันยายน 2566 มีจำนวนทั้งสิ้น 365,547 เรื่อง แบ่งเป็นคดีออนไลน์ 336,896 เรื่อง แยกออกเป็นคดีที่เชื่อมโยง จำนวน 166,438 เรื่อง เป็นคดีที่ไม่เชื่อมโยง จำนวน 170,458 เรื่อง รวมมูลค่าความเสียหายกว่า 4.5 หมื่นล้านบาท ส่วนผลการอายัดบัญชีสามารถอายัดได้ 167,347 บัญชี มียอดเงินกว่า 1.1 หมื่นล้านบาท โดยหลอกให้ลงทุนผ่านระบบคอมพิวเตอร์มูลค่าความเสียหายเยอะที่สุดอยู่ที่ 13,952,456,410 บาท 

ทั้งหมดนี้สะท้อนให้เห็นว่าบุคคลที่มาในรูปของ “มิจ” ที่ไม่ใช่ “มิตร” นั้น ล้วน “ฉลาดเกมโกง” มากขึ้นเสียทุกวัน มีการพัฒนายกระดับการหลอกลวงขึ้นเรื่อยๆ 

ดังนั้น กองทุนส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน (CMDF) จึงได้มีการจับมือกับ พันธมิตรภาคตลาดทุน องค์กรธุรกิจ และหน่วยงานรัฐ เปิดแคมเปญ “เช็กทุกดอก ไม่โดนหลอกลงทุน” รณรงค์ให้ความรู้แก่ประชาชนเพื่อป้องกันการหลอกลงทุนภายใต้โครงการ “ร่วมมือ-จับปลอมหลอกลงทุน” เสริมภูมิคุ้มกันให้ประชาชนมีความรอบคอบในการลงทุนมากขึ้น

ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานกรรมการ กองทุนส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน (CMDF) และประธานกรรมการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า แคมเปญ “เช็กทุกดอก ไม่โดนหลอกลงทุน” สร้างขึ้นเพื่อให้ความรู้ ย้ำเตือนให้ประชาชนมีความรอบคอบในการลงทุน และแนะนำช่องทางการตรวจสอบข้อมูลที่ถูกต้อง ซึ่งการรณรงค์จะมีการบูรณาการการสื่อสารออกมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ผู้ลงทุนและประชาชนในวงกว้างไม่ตกเป็นเหยื่อของการหลอกลงทุน และก้าวเข้าสู่ตลาดทุนอย่างถูกต้อง

ด้าน ดร.ภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวในฐานะผู้ริเริ่มโครงการ กล่าวว่า สถานการณ์การหลอกลงทุนของมิจฉาชีพมีหลากรูปแบบ ทั้งการแอบอ้างองค์กร ชื่อ ภาพ ผู้บริหารของหลายหน่วยงาน รวมทั้งบุคคลที่มีชื่อเสียง เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือและหลอกลวงให้มาลงทุน ทั้งหมดนี้ล้วนสร้างความเสียหายแก่ประชาชนเป็นจำนวนมาก ดังนั้นทุกครั้งที่ถูกชักชวนให้ลงทุน ควรตรวจสอบที่มาที่ไปของบริษัทต่างๆ ที่จะเข้าไปลงทุน ซึ่งแคมเปญนี้จะช่วยตอกย้ำให้คนไทยฉุกคิดก่อนลงทุน พร้อมทั้งเกิดความรู้ความเข้าใจในการตรวจสอบข้อมูลการลงทุนอย่างถูกวิธีมากยิ่งขึ้น

"อย่าหาว่าน้าสอน" จับปลอม หลอกลงทุน เช็กก่อนถ้าไม่อยากหมดตัว

ซึ่งในครั้งนี้ น้าเน็ก เกตุเสพย์สวัสดิ์ ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา ก็ได้มาร่วมถ่ายทอดเรื่องราว ประสบการณ์ ผ่านแนวคิดที่ว่า “อย่าหาว่าน้าสอน” ด้วยเช่นกัน โดยมีใจความว่า “ส่วนมากคนที่มาหลอกจะมีลักษณะร่วมกันอยู่ไม่กี่อย่าง อาทิ รูปแบบการข่มขู่ ซึ่งเหยื่อจะเกิดการวิตกกังวล และเมื่อปลายสายสั่งให้ทำอะไรก็จะทำหมด อีกรูปแบบคือการนำเสนอผลประโยชน์ อย่างผลตอบแทนเร็ว ลงทุนน้อย ดังนั้นในสังคมทุนนิยมเราจะแสวงหารายได้ต่างๆ นั่นทำให้โดนหลอกโดยง่าย และรูปแบบต่อมาคือ การส่งต่อความเสียหายให้แก่ผู้อื่น 

ส่วนเคสที่มาขอคำปรึกษา อาทิ มิจฉาชีพที่ดูดี โปรไฟล์ดี หน้าตาดี พูดจามีภูมิฐาน มีเอกสารน่าเชื่อถือ มีตัวอย่างของคนที่ลงทุน มีหน้าบัญชี มีกราฟแสดงผล ในขณะที่คนที่จะตกเป็นเหยื่อใจก็เอนเอียง แสวงหาการลงทุนอยู่แล้วก็มักจะพลาดท่าได้

ดังนั้นสิ่งสำคัญที่ถือเป็นจุดคัดกรองจุดแรกที่จะต้องสะกิดตัวเอง คือ หยุดให้ความสำคัญกับสิ่งเย้ายวนใจ คือผลตอบแทนแบบดีเว่อร์ๆ อะไรก็ตามที่เสนอผลตอบแทนมากกว่า 17% รู้ได้เลยว่า “โกง” แน่นอน เพราะแม้ว่าเราจะอยู่ในโลกทุนนิยมที่ “เงิน” สำคัญที่สุด ผู้คนพยายามแสวงหาวิธีการนำมาซึ่งเงินที่ง่ายขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งมัน “ไม่มีจริง” มันไม่มีวิธีการใดที่ได้เงินมาโดยง่าย 

บางครั้งหัวใจ อีโก้ ความโลภ มักใหญ่กว่าสมอง จึงโดนหลอก “เชิดเงิน” ได้ง่าย

“แต่ด้วยจุดนี้ทุกคนมีสิทธิ์ฝัน ทุกคนต้องการทางลัด เพื่อให้สบายขึ้น หรือ อิสระทางการเงิน ซึ่งโจรจะใช้ในการหลอกอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ซึ่งเราก็ได้แต่บอกต่อเพียงว่า “คนตายเพราะความโลภมาเยอะ และในยุคไซเบอร์โจรและการหลอกลวงโตเร็วมาก ดังนั้นบางครั้งหัวใจ อีโก้ ความโลภ มักใหญ่กว่าสมอง จึงต้องจำไว้เสมอว่า มันไม่ปกติ เพราะวันนี้เราต้องอยู่บนความ win win มันต้องสมเหตุสมผล อ้างอิงกับทุกหลัก อาทิ เงินเฟ้อ เศรษฐกิจ ที่ไม่มีใครได้ผลประโยชน์ไปมากกว่าใคร หากมีต้องรู้ว่านี่คือ มิจฉาชีพอย่างแน่นอน” 

ทั้งนี้บางคนรู้ว่าตนเองโดนหลอกไปแล้วตั้งสติไม่ถูก คำแนะนำของน้าคือ “เราต้องใช้กระบวนการทางกฎหมาย รวบรวมหลักฐานเอกสาร ไปที่สถานีตำรวจ แจ้งความไว้ และรวบรวมพยานหลักฐานที่มีให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อช่วยให้การดำเนินคดี สืบค้นถึงต้นตอจะง่ายขึ้น แต่โดยส่วนมากมักตามไม่ได้ มักไม่ได้คืน ฉะนั้นอย่าให้เกิดขึ้นเลยจะดีกว่า เพราะอย่างน้อยๆ จะได้ไม่มีคนเสียใจ ฆ่าตัวตาย และเรื่องเหล่านี้จะได้น้อยลง และหมดไปซะที" 

ท้ายที่สุดนี้น้าเน็กมองว่า คอนเทนต์เกี่ยวกับการเงินที่เราทำ แทบไม่มีหลักสูตรไหนเลยสอนวิธีการใช้เงิน ฉะนั้นต้องเริ่มต้นจากพวกเรา นอกจากการหาเงิน วิธีการที่จะดูแล เพิ่มเติม ต่อยอด หรือทำให้เป็นประโยชน์ วางให้ถูกที่เป็นความรู้ง่ายๆ ที่สามารถเรียนรู้เพิ่มเติม ศึกษาเองได้ เราต้องทำความเข้าใจเรื่องเกี่ยวกับการเงินให้มากขึ้น เพราะเราอยู่ในโลกทุนนิยม เมื่อเรามีความรู้ เราก็จะ “มองโจร” ออก และจะทำให้เราสามารถเขียนประวัติศาสตร์ใหม่ได้ พร้อมกับตัดมิจฉาชีพ ออกจากวงโคจรของเราได้นั่นเอง เพราะความรู้จะเป็นเกราะป้องกันมิจฉาชีพได้ นั่นจึงจะนำมาซึ่ง “การเงินดีชีวิตดี” 

ทั้งนี้ ประชาชนทั่วไปที่มีข้อสงสัยในเรื่องการลงทุน สามารถเข้าไป “เช็กให้ชัวร์ก่อนลงทุน” ผ่านทางแอปพลิเคชัน SEC Check First หรือทางเว็บไซต์ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้ทันที หรือโทรเช็กตรงกับบริษัทที่สนใจจะลงทุน 

ท้ายที่สุดนี้กองทุนส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุนและพันธมิตรมุ่งหวังว่า แคมเปญ “เช็กทุกดอก ไม่โดนหลอกลงทุน” ภายใต้โครงการ “ร่วมมือ-จับปลอมหลอกลงทุน” จะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้คนไทยมีภูมิคุ้มกันและรู้ทันกลโกงของมิจฉาชีพหลอกลงทุนมากยิ่งขึ้น โดยในขณะเดียวกัน ประชาชนยังมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องการออมเงินและการลงทุนอย่างถูกวิธี ไม่ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพหลอกลงทุนได้ง่าย ซึ่งหลังจากนี้ทางโครงการฯ ยังมีกิจกรรมดีๆ ที่จะมาเสริมสร้างภูมิคุ้มกันเรื่องการลงทุนให้กับคนไทยอย่างต่อเนื่อง และต่อไป “คนไทย” จะไม่ “โดนโกง” อย่างแน่นอน


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ