Co-Payment ประกันสุขภาพรูปแบบใหม่คืออะไร? คงเป็นคำถามที่หลายคนอยากหาคำตอบ หลังช่วง 1-2 วันที่ผ่านมา มีสื่อหลายสำนักนำเสนอข่าว “ธุรกิจประกันเตรียมปรับกรมธรรม์ประกันสุขภาพเอกชนให้เป็นแบบ co-payment มากขึ้น โดยเตรียมบังคับใช้ช่วง ม.ค. ปี 2568
ทั้งนี้ Thairath Money สำรวจตรวจสอบพบว่า ข้อมูลดังกล่าวเป็นข้อเท็จจริง โดยในปี 2568 สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) และบริษัทประกันภัยนั้น
มีแนวโน้มที่จะปรับกรมธรรม์ประกันสุขภาพในประเทศไทยให้เป็นแบบ co-payment และรูปแบบ Deductible มากขึ้น (ปัจจุบันรูปแบบเหมาจ่าย) เพื่อรับมือกับอัตราเงินเฟ้อทางการแพทย์ที่เพิ่มสูงขึ้น และความถี่ในการเข้ารับการรักษาพยาบาลที่สูงขึ้น โดยเฉพาะการป่วยเล็กน้อยทั่วไป
อีกทั้งอาจเป็นการช่วยแก้วิกฤติทางการเงินที่เกิดขึ้นกับกลุ่มธุรกิจประกันที่เผชิญกับความท้าทายมาเป็นเวลานานตั้งแต่ช่วงการระบาดของโรคโควิด-19
ขณะที่บริษัทประกันต่างๆ อยู่ระหว่างวางแผนและทำความเข้าใจกับกลุ่มลูกค้าเพื่อเตรียมปรับใช้ ซึ่งจะนำร่องกับประกันสุขภาพเด็กเป็นกลุ่มแรกๆ ล่าสุด ยังมีรายงานว่า ขณะนี้ คปภ.อยู่ระหว่างให้ฝ่ายกฎหมาย หาวิธีคำนวณ อัตราส่วนค่าสินไหมทดแทน (Loss Ratio) ที่เหมาะสม และเป็นธรรม ต่อผู้เอาประกัน ก่อนประกาศบังคับใช้
คำถามคือ ประกันรูปแบบใหม่ดังกล่าวจะเกิดผลกระทบอย่างไรบ้างกับผู้ซื้อประกันหรือการต่อกรมธรรม์ใหม่ตั้งแต่ช่วงปี 2568 เป็นต้นไป
ข้อมูลจากไทยประกันชีวิต ระบุถึงความแตกต่างของคำว่า Co Payment Vs Deductible ว่า...
Co Payment คือ การร่วมจ่าย โดยจะมีการระบุในประกันไว้ว่าในการเข้ารับการรักษาแต่ละครั้งนั้น ทางผู้เอาประกันภัยจะต้องมีส่วนร่วมจ่ายเป็นกี่% ของค่ารักษาทั้งหมด เช่น แบบประกันระบุไว้ว่าเป็น CO-PAYMENT 20% หมายความว่า หากผู้ป่วยเข้ารับการรักษาโดยมียอดค่ารักษาอยู่ที่ 100,000 บาท ทางผู้ป่วยจะต้องออกเงินเองเป็นจำนวน 20,000 บาท และทางประกันจะออกในอีก 80,000 บาทที่เหลือ ทุกครั้งที่มีการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล
ซึ่งในแง่ดี อาจทำให้เราลดค่าเบี้ยประกันลงไปได้ถึง 20%-50% เลยทีเดียว
ส่วน Deductible คือ รูปแบบประกันที่มีการระบุว่าในแต่ละปีกรมธรรม์ ประกันจะจ่ายเงินค่ารักษาให้ หากว่าผู้ป่วยมีการรับผิดชอบค่ารักษาพยาบาลด้วยตนเองไปแล้วเท่าไร เช่น ประกันสุขภาพแบบ DEDUCTIBLE 30,000 บาท นั้น หากผู้ป่วยเข้ารับการรักษาพยาบาล 100,000 บาท ทางบริษัทประกันจะจ่าย 70,000 บาท และผู้เอาประกันรับผิดชอบ 30,000 บาทแรกต่อการเจ็บป่วยของโรคนั้นๆ ในแต่ละปีกรมธรรม์
ทั้งนี้ ไทยประกันชีวิตให้ข้อแนะนำไว้ว่า การเลือกซื้อประกันสุขภาพแบบ CO-PAYMENT และ DEDUCTIBLE นั้นจะเหมาะสำหรับผู้ทำประกันที่เดิมมีประกันอยู่แล้ว โดยอาจจะเป็นประกันเดิมที่ซื้อด้วยตัวเองหรือประกันที่ทางนายจ้างทำให้ (สวัสดิการจากแต่ละบริษัทที่เป็นพนักงานทำงานอยู่) แล้วอยากได้ความคุ้มครองที่มากขึ้นนั่นเอง การจะเลือกว่าควรจะซื้อประกันแบบ CO-PAYMENT หรือ DEDUCTIBLE นั้นต้องเข้าใจข้อดีข้อเสียของทั้ง 2 แบบเสียก่อน
ขณะบริษัทหลักทรัพย์ InnovestX ในกลุ่มธนาคารไทยพาณิชย์ วิเคราะห์ประเด็นต่อเนื่องว่า จากการปรับให้มี co-payment นั้นจะส่งผลให้แนวโน้มเบี้ยประกันสุขภาพในปี 2568 ปรับลดลง
ผลที่ตามมา อาจทำให้คนไทยมีโอกาสเข้าถึงประกันสุขภาพเอกชนได้มากขึ้น เพราะตามหลักการแล้ว กรมธรรม์ประกันสุขภาพที่มีเงื่อนไข co-payment จะมีเบี้ยประกันที่ต่ำกว่าประกันสุขภาพแบบเหมาจ่าย
สอดคล้องกับที่ คปภ. เชื่อว่าการปรับกรมธรรม์ประกันสุขภาพเอกชนให้เป็นแบบ co-payment มากขึ้นจะทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงระบบประกันสุขภาพได้อย่างแท้จริงภายใต้เบี้ยประกันที่ยุติธรรมและสมเหตุสมผลท่ามกลางค่าใช้จ่ายรักษาพยาบาลที่สูงขึ้น
เจาะข้อมูลปี 2566 ของ คปภ. ประเทศไทยมีผู้ที่มีกรมธรรม์ประกันสุขภาพเอกชนรวมทั้งหมด 25.3 ล้านคน แต่โดยส่วนใหญ่เป็นกรมธรรม์แบบกลุ่ม (เช่น บริษัทต่างๆ) ซึ่งมีจำนวน 20.9 ล้านคน ในขณะที่กรมธรรม์แบบรายบุคคลราว 4.4 ล้านคน หรือคิดเป็น 6.7% ของประชากรทั้งหมด
นอกจากนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังเผยแนวโน้มธุรกิจประกัน ปี 2568 ว่า เป็นที่แน่ชัดว่าปีหน้า บริษัทประกันต่างๆ มีทิศทางจะเน้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่สอดคล้องกับผู้บริโภคมากขึ้น (Customer Centric)
เช่น การนำเสนอทุนประกันชีวิตขนาดเล็ก (Small Lot Main Policies) เพื่อลดภาระของผู้เอาประกันที่ต้องการซื้อสัญญาเพิ่มเติมอื่นเป็นหลัก เช่น ประกันสุขภาพ ประกันโรคร้ายแรง ประกันอุบัติเหตุ เป็นต้น
เช่นเดียวกับแนวทางการเคลมสินไหมในระยะต่อไป อาจมีเงื่อนไขเพิ่มขึ้น ซึ่งแม้จะช่วยควบคุมต้นทุนของบริษัทเอง แต่อาจกระทบต่อผู้บริโภค ทำให้แรงจูงใจในการซื้อประกันสุขภาพลดลง
อย่างข้อกำหนดเกี่ยวกับการเคลมการเจ็บป่วยเล็กน้อย เช่น ไข้หวัด และข้อกำหนดการรับประกันแบบมีเงื่อนไขให้ผู้บริโภคต้องมีส่วนร่วมจ่ายค่ารักษา (Co-Payment) อย่างที่ระบุมาข้างต้น
ท่ามกลางเศรษฐกิจไทยยังมีความไม่แน่นอนและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังไม่กระจายตัวเท่าที่ควร กระทบกำลังซื้อของลูกค้าวัยแรงงาน (25-70 ปี) โดยเฉพาะในกลุ่มรายได้ปานกลางที่มีรายได้ต่อเดือนต่ำกว่า 30,000 บาท และต่ำกว่า 50,000 บาท
ที่มา: InnovestX, ไทยประกันชีวิต, คปภ., ศูนย์วิจัยกสิกรไทย
ติดตามข่าวสารด้านการตลาด กับ Thairath Money ได้ที่
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ https://www.facebook.com/ThairathMoney