รถยนต์ไฟฟ้าในเมืองไทยได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจัยสำคัญมาจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นผันผวนสูง ในขณะเดียวกันการใช้ประโยชน์และออปชัน ประสิทธิภาพของรถยนต์ไฟฟ้าตอบโจทย์ได้ดีกว่า แต่อย่างไรก็ตามการเติบโตของรถยนต์ไฟฟ้ายังเจอแรงกดดันที่สำคัญ คือ ราคาประกันภัยที่ยังเสียเบี้ยรายปีแพงกว่ารถยนต์สันดาปมากกว่า 30% โดยบริษัทรับทำประกันภัยมองรถยนต์ไฟฟ้าเป็นความเสี่ยงของธุรกิจ และจำนวนรถยนต์ที่มีอยู่ในตลาดยังมีน้อยเกินไป
นายชนะพันธุ์ พิริยะพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ที คิว อาร์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ทิศทางของราคาประกันภัยรถยนต์ไฟฟ้า หรือ รถยนต์ EV ในปัจจุบันยังมีราคาสูงกว่ารถยนต์สันดาปประมาณ 30% โดยเหตุผลมาจากจำนวนรถยนต์ในท้องตลาดยังมีไม่มากเพียงพอ รวมถึงความชัดเจนของสถิติของการชน หรือความเสี่ยงในรถยนต์ไฟฟ้ายังไม่มีความชัดเจน ทำให้ค่ายประกันระมัดระวังในการทำประกันในกลุ่มรถยนต์ดังกล่าว
“เบี้ยประกันรถยนต์ไฟฟ้าในเวลานี้ยังสูงกว่ารถยนต์สันดาปประมาณ 30% ซึ่งมีปัจจัยจากหลายส่วน ทั้งจำนวนรถยนต์ที่มีอยู่น้อย ซึ่งในปีนี้คาดว่าจะมีอยู่ประมาณ 4 -5 หมื่นคัน เทียบกับรถยนต์สันดาปที่มีหลายล้านคัน ทำให้การจัดพอร์ตความเสี่ยงทำได้ยาก”
นอกจากนี้ ส่วนประกอบรถยนต์อีวียังมีส่วนประกอบของแบตเตอรี่ที่มีราคาสูง โดยมีมูลค่ามากกว่า 50% ของราคารถยนต์ ทำให้การประเมินมูลค่าเสียหายของรถยนต์และการซ่อมแซมนั้นยังทำได้ยาก ยังต้องอาศัยเวลาและความเชี่ยวชาญของอู่ผู้ซ่อมแซมรถยนต์ไฟฟ้าในอนาคต
อย่างไรก็ตามในมุมมองของบริษัทประกันยังมีมุมมองว่า การรับประกันภัยรถยนต์ไฟฟ้าเป็นความเสี่ยงรูปแบบใหม่ ที่จะต้องระมัดระวังในการรับทำประกันภัย เนื่องจากยังเป็นเทคโนโลยีที่ใหม่ รูปแบบการขับขี่จะเปลี่ยนไปจากเดิม โดยเทคโนโลยีรถไฟฟ้าในปัจจุบันมีความเร็วและแรงมากกว่ารถยนต์สันดาป ทำให้ความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุที่สูงกว่า ดังนั้น ทำให้หลายบริษัทอาจเลือกระมัดระวังการทำประกัน หรือไม่รับการทำประกันในกลุ่มรถยนต์ไฟฟ้า
สำหรับแผนธุรกิจของ ที คิว อาร์ ซึ่งดำเนินธุรกิจในด้านการรับประกันภัยต่อนั้น เรามองการรับทำประกันภัยต่อในกลุ่มรถยนต์ไฟฟ้านั่นคือโอกาส เพราะเป็นเมกะเทรนด์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต การเปลี่ยนแปลงของรถยนต์สันดาปไปยังรถยนต์ไฟฟ้าจะเกิดขึ้น และในขณะเดียวกันเรายังมองว่าช่วยต่อยอดในด้านการทำธุรกิจเพื่อความยั่งยืน หรือ ESG ด้วย
รถยนต์ไฟฟ้ายังเติบโตแรง
สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) รายงานสถิติตัวเลขการผลิตและจดทะเบียนรถยนต์ในเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมา โดยรถยนต์นั่งไฟฟ้า (BEV) มีตัวเลขจดทะเบียนถึง 5,402 คัน สูงสุดนับตั้งแต่มีการบันทึกจำนวนจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้า เพิ่มขึ้นจากกุมภาพันธ์ปีที่แล้วถึงร้อยละ 5,061.16 และมีสัดส่วนถึงร้อยละ 7.85 ของยอดรวมรถยนต์นั่ง ถ้ารวมรถยนต์ไฟฟ้าผสมแบบเสียบปลั๊กตามประเทศอื่นๆ จะมีสัดส่วนร้อยละ 9.67 ของยอดจดทะเบียนรวมทั้งหมด
ทั้งนี้ เพราะนโยบายส่งเสริมกระตุ้นการซื้อรถยนต์ไฟฟ้าของรัฐบาล จึงทำให้ราคาขายรถยนต์ไฟฟ้าลดลงอยู่ในระดับที่ประชาชนเข้าถึงได้ และสร้างความเชื่อมั่นให้รถยนต์ไฟฟ้าอันดับต้นๆ เข้ามาตั้งฐานผลิตและจำหน่ายในประเทศไทยมากขึ้น ผู้ซื้อก็มั่นใจและสามารถเลือกซื้อรุ่นรถตามความนิยมของตนได้
รถยนต์นั่งไฟฟ้าผสมเครื่องยนต์ (HEV) จดทะเบียนจำนวน 7,842 คัน เพิ่มขึ้นจากกุมภาพันธ์ปีที่แล้วถึงร้อยละ 46.71 และมีสัดส่วนถึงร้อยละ 11.37 ของยอดรวมรถยนต์นั่ง รถยนต์นั่งไฟฟ้าแบบปลั๊กอิน (PHEV) จดทะเบียนจำนวน 1,249 คัน เพิ่มขึ้นจากกุมภาพันธ์ปีที่แล้วถึงร้อยละ 46.71 และมีสัดส่วนถึงร้อยละ 30.51 ของยอดรวมรถยนต์นั่ง
รถยนต์นั่งเครื่องยนต์เบนซิน จดทะเบียนจำนวน 25,987 คัน ลดลงจากกุมภาพันธ์ปีที่แล้วถึงร้อยละ 8.04 และมีสัดส่วนถึงร้อยละ 37.77 ของยอดรวมรถยนต์นั่ง รถยนต์นั่งเครื่องยนต์ดีเซล จดทะเบียนจำนวน 28,139 คัน เพิ่มขึ้นจากกุมภาพันธ์ปีที่แล้วถึงร้อยละ 26.39 และมีสัดส่วนถึงร้อยละ 40.90 ของยอดรวมรถยนต์นั่ง รถยนต์นั่งเครื่องยนต์ LPG CNG และอื่นๆ จดทะเบียนจำนวน 205 คัน เพิ่มขึ้นจากกุมภาพันธ์ปีที่แล้วถึงร้อยละ 26.39 และมีสัดส่วนถึงร้อยละ 40.90 ของยอดรวมรถยนต์นั่ง.