การเงินยุคใหม่ Gen Z เริ่มวางแผนการเงินมากขึ้น แต่เสี่ยงเดินเกมผิดเพราะความเร่งรีบจัดระเบียบการเงินมากเกินไป ซีอีโอ Frich แนะ 6 สิ่งที่ควรหลีกเลี่ยงในการวางแผนการเงิน
Gen Z คือ ช่วงวัยที่กำลังก้าวผ่านจากวัยรุ่นสู่การเป็นผู้ใหญ่ และต้องเผชิญกับความท้าทายในการทำงาน รวมไปถึงต้องรับผิดชอบจัดระเบียบการเงินของตัวเองมากขึ้น เช่น ค่าครองชีพสูงกว่าเงินเดือน ใช้เงินแบบเดือนชนเดือนเพราะขาดการวางแผน ซึ่งปัญหาการเงินเหล่านี้อาจก่อตัวกลายเป็นความเครียดของคนยุคใหม่ได้
หลายคนเริ่มวางแผนการเงินมากขึ้น โดยอ้างอิงจากผลการศึกษาของ Charles Russell Speechlys ที่ระบุว่า Gen Z มากกว่า 43% มีการวางแผนเปิดใจคุยเรื่องมรดกกับครอบครัวแล้ว เนื่องจากคนกลุ่มนี้มีแนวคิดที่อยากจะจัดการวางแผนการเงินให้ได้เร็วที่สุด แต่ขณะเดียวกัน Gen Z ก็มีความเสี่ยงที่จะก้าวพลาดได้หากเดินเกมการเงินอย่างเร่งรีบโดยไม่ศึกษาให้ดีก่อน
Katrin Kaurov ซีอีโอของ Frich กล่าวว่า ความผิดพลาดด้านการเงินสามารถเกิดขึ้นได้เสมอ และ Gen Z มีความเสี่ยงสูงที่จะก้าวพลาดในการจัดระเบียบการเงิน โดย Frich ได้ให้คำแนะนำเกี่ยวกับ 6 อย่างที่ไม่ควรทำ เพื่อป้องกันความผิดพลาดด้านการเงินที่อาจเกิดขึ้น ดังนี้
1. อย่าเชื่อทุกอย่างบนโซเชียลมีเดีย
แม้ว่าโซเชียลมีเดียจะเป็นเครือข่ายสังคมที่ใหญ่ที่สุดและเต็มไปด้วยข้อมูลที่อัดแน่น โดยเฉพาะแพลตฟอร์ม Tiktok ที่มีคำแนะนำทางการเงินมากมาย แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าทุกอย่างจะเป็นคำแนะนำที่ดีและถูกต้องเสมอไป
เพราะคำแนะนำบางอย่างอาจเป็นการหลอกให้ลงทุน รวมไปถึงส่งต่อข้อมูลเท็จ หรือยังไม่ได้รับการยืนยันให้กับผู้ติดตาม ทั้งนี้ก็แพลตฟอร์มออนไลน์ก็ยังคงมี Influencer หลายคนที่สามารถให้ความรู้และข้อแนะนำทางการเงินที่เป็นประโยชน์ได้จริง ๆ อยู่ด้วยเช่นกัน
ดังนั้น ผู้ชมไม่ควรเชื่อ “ทุกอย่าง” จากในโซเชียลมีเดีย แต่ควรรับข้อมูลที่เป็นประโยชน์จากบุคคลที่เชื่อถือได้ และควรตรวจสอบข้อมูลซ้ำอีกครั้งเพื่อความแน่ใจก่อนปักใจเชื่อ
2. อย่าหลงเชื่อภาพลวงตาความหรูหราจากหนี้บัตรเครดิต
Gen Z หลายคนกำลังสะสมหนี้บัตรเครดิตจำนวนมาก เพื่อตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของตัวเอง เช่น เห็นคนรู้จักโพสต์รูปดินเนอร์หรูแล้วอยากทำตามบ้าง หรือซื้อของตามกระแสแม้ไม่จำเป็น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการใช้บัตรเครดิตและสร้างหนี้ให้ตัวเอง เพื่อสนองความต้องการที่หรูหราเพราะไม่อยากน้อยหน้าคนในโซเชียลฯ
แต่ในขณะเดียวกัน คุณไม่มีทางรู้เลยว่าคนรู้จักของเราจะ “เป็นหนี้” จากบัตรเครดิตเพราะไลฟ์สไตล์สุดหรูหราเหล่านั้นหรือเปล่า ดังนั้น การใช้เงินแต่พอตัวจึงเป็นสิ่งที่ควรทำ และหนี้บัตรเครดิตคือสิ่งที่เราควรหลีกเลี่ยง
3. อย่าจำกัดงบประมาณการใช้จ่ายมากจนเกินไป
Kaurov กล่าวว่า การที่ผู้คนกระตือรือร้นใน และการจัดระเบียบและวางแผนจัดการเงินนั้นเป็นสิ่งที่ดีมาก เพราะการกำหนดค่าใช้จ่ายในแต่ละรอบเดือนเป็นสิ่งสำคัญ แต่ในขณะเดียวกัน การวางงบประมาณการเงินก็ไม่ควรที่จะรัดกุมจนแน่นมากเกินไป การใช้จ่ายและการออมจะกลายเป็นเรื่องน่าอึดอัดเพราะข้อจำกัดทางการเงิน
“การทดลองและข้อผิดพลาดเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้ผู้คนค้นหาแนวทางจัดสรรงบประมาณที่เหมาะสมกับตัวของพวกเขามากที่สุด” Kaurov กล่าว
4. อย่าจัดสรรเวลาไม่พอ
การใช้เวลาในการวางแผนจัดระเบียบการเงินนั้นเป็นเรื่องสำคัญ หากน้อยไปหรือมากไปอาจส่งผลกระทบต่อตัวเราเอง Kaurov แนะนำให้คนหนุ่มสาวใช้เวลาเพียงแค่ 30 นาทีต่อสัปดาห์ในการวางแผนการเงิน โดยทำเช่นเดียวกับวิธีที่เราทบทวนเป้าหมายการออกกำลังกายหรือเป้าหมายในอาชีพของเรา เริ่มจากการทบทวนตัวเอง เช่น
5. อย่าพึ่งพาการ “ใช้ก่อนจ่ายทีหลัง” มากเกินไป
ในปัจจุบันมีคนจำนวนมากที่ติดกับดักบริการซื้อก่อนจ่ายทีหลัง (BNPL) เพราะมีความสะดวกต่อการใช้จ่าย แม้ว่ามันจะเป็นการซื้อความสุขในระยะสั้นจากการได้ช็อป แต่นี่อาจสร้างหนี้ในระยะยาวได้เช่นกัน เพราะโดยพื้นฐานแล้ว การใช้ก่อนจ่ายทีหลังนั้น เปรียบเสมือนคุณกำลัง “กู้เงิน” ขนาดเล็กเพื่อนำมาใช้จ่ายล่วงหน้า ดังนั้นสิ่งสำคัญในการใช้ก่อนจ่ายทีหลัง คือการใช้อย่างระมัดระวังและไม่ใช้เกินตัวจนก่อเป็นหนี้ติดตัว
6. อย่ารอนานเกินไปที่จะลงทุน
การลงทุนอาจฟังดูน่ากลัวสำหรับใครหลาย ๆ คน เพราะมันเปรียบเสมือนยืนอยู่บนความเสี่ยง แต่ในขณะเดียวกันก็มีหลายคนที่ประสบความสำเร็จจากการกล้าได้ - กล้าเสีย เพราะการลงทุนสามารถให้การตอบแทนระยะยาวได้
ทั้งนี้ การลงทุนทุกอย่างมีความเสี่ยงเสมอ แม้ว่าทุกนาทีที่เราลังเลที่จะลงทุนอาจหมายถึงเม็ดเงินที่เราอาจสูญเสียไปและรู้สึกเสียดายทีหลัง แต่การวางแผนก่อนเริ่มลงทุนก็สำคัญเช่นกัน อย่ารอนานเกินไป แต่ก็อย่ารีบมากเกินไปเพราะอาจก้าวพลาดได้ หากแต่ลงทุนในเวลาที่พร้อมและเหมาะสมจะดีที่สุด
อย่างไรก็ตาม นี่เป็นเพียงข้อแนะนำทางการเงินจาก Frich เท่านั้น การปรับใช้ให้เหมาะสมขึ้นอยู่กับตัวบุคคลที่จะนำไปพัฒนาแผนการวางแผนจัดระเบียบการเงินของแต่ละคน เพราะยิ่งการเงินดีมากเท่าไหร่ ชีวิตของคุณก็จะดีด้วยเช่นกัน
ที่มา : Business Insider