มรดกนับเป็นของขวัญล้ำค่าที่ผู้ล่วงลับตั้งใจมอบไว้ให้แก่ทายาท เป็นของขวัญชิ้นสุดท้ายที่สะท้อนถึงความรักและความผูกพัน อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริง นอกเหนือจากความปลาบปลื้มใจแล้ว สิ่งที่อาจตามมาพร้อมกับมรดกก้อนโตคือ “ภาระภาษี” ซึ่งอาจเปลี่ยนของขวัญอันทรงคุณค่าให้กลายเป็นความหนักอกหนักใจแก่ทายาทได้ไม่น้อย
ส่องแนวทางการบริหารจัดการมรดก จากนักวางแผนการเงินมืออาชีพ เพื่อให้ “ภาระภาษี” ไม่กลายเป็นอุปสรรคที่ทำให้มรดกที่ควรเป็นความสุข กลายเป็นความทุกข์
“ภาษีมรดก” คือ ภาษีที่รัฐบาลจัดเก็บจากผู้ได้รับมรดก โดยกฎหมายไทยกำหนดให้ผู้ที่ได้รับมรดกที่มีมูลค่ารวมกันเกินกว่า 100 ล้านบาท จากผู้เสียชีวิตแต่ละราย ต้องเสียภาษีสำหรับส่วนที่เกินนั้น
ทรัพย์สินที่ต้องเสียภาษีมรดกโดยหลัก ได้แก่
ทั้งนี้ อัตราภาษีมรดกจะแตกต่างกันตามความสัมพันธ์ระหว่างผู้เสียชีวิตและผู้รับมรดก ได้แก่ 5% สำหรับผู้ได้รับมรดกที่เป็นบุพการี, ผู้สืบสันดาน, และคู่สมรสที่จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย และ 10% สำหรับผู้ได้รับมรดกที่เป็นบุคคลอื่น
เพื่อป้องกันไม่ให้ภาระภาษีกลายเป็นปัญหาสำหรับทายาท การวางแผนบริหารจัดการมรดกล่วงหน้าจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง โดยนักวางแผนการเงิน ระบุแนวทางปฏิบัติที่สามารถนำมาพิจารณา มีดังนี้
ปีย์วรงค์ เชี่ยววณิชชา ที่ปรึกษาการเงิน AFPT™ ระบุไว้ในบทความ ทุกขลาภของมรดก ผ่านสมาคมนักวางแผนการเงินไทยว่า หากเจ้ามรดกไม่อยากให้ทรัพย์มรดกของตนเป็นทุกขลาภแก่บุพการี ทายาทผู้สืบสันดาน หรือผู้รับพินัยกรรม ควรวางแผนการจัดการทรัพย์สิน ดังนี้
1.เจ้ามรดกควรพิจารณาผ่องถ่ายทรัพย์สินบางอย่างให้กับทายาท โดยอาศัยข้อกำหนดในมาตรา 48 เรื่องภาษีการรับให้ว่า “บุพการีสามารถยกหรือโอนทรัพย์สินของตนให้กับผู้สืบสันดานได้ โดยผู้สืบสันดานนั้นจะได้รับการยกเว้นภาษีการรับให้ในส่วนที่ไม่เกิน 20 ล้านบาทต่อปี หากมีมูลค่าเกินกว่านั้น ผู้สืบสันดานต้องเสียภาษีในอัตราร้อยละ 5”
เพราะฉะนั้นก่อนเสียชีวิต บุพการีที่ตั้งใจจะยกที่ดินราคาประเมิน 200 ล้านบาทให้กับทายาทคนหนึ่ง สามารถจัดสรรที่ดินออกเป็นแปลงย่อย แล้วทยอยโอนให้กับทายาทที่ตั้งใจไว้ โดยมีมูลค่ารวมไม่เกิน 20 ล้านบาทต่อปี จนกว่าที่ดินผืนดังกล่าวจะเหลือมูลค่าไม่เกิน 100 ล้านบาท จึงทิ้งไว้เป็นมรดกได้ พร้อมดูแลค่าธรรมเนียมการโอนในอัตรา 0.5% ในแต่ละครั้งให้กับทายาทด้วย
โดยในการโอนทรัพย์สิน เจ้ามรดกต้องพึงระวังว่า การให้โดยเสน่หากับบุคคลอื่นที่ไม่ใช่บุพการี ทายาทหรือผู้สืบสันดาน จะได้รับยกเว้นภาษีการรับให้ในส่วนที่ไม่เกิน 10 ล้านบาทต่อปี ถ้าเกินกว่านั้นจะเสียภาษีในอัตรา 5% ซึ่งก็ยังน้อยกว่าอัตราภาษีมรดกในกรณีนี้อยู่ดี
2.หากตั้งใจมอบทรัพย์สินมูลค่ามากกว่า 100 ล้านบาทให้กับผู้รับมรดกรายใดรายหนึ่ง ควรเพิ่มมรดกในส่วนที่เป็นเงินสดอีก 5-10% ของมูลค่าทรัพย์สินดังกล่าว เพื่อเพิ่มเงินสดสภาพคล่องให้ผู้รับมรดกใช้เสียภาษีและเสียค่าธรรมเนียมดำเนินการต่าง ๆ เป็นการลดภาระของผู้รับมรดกในอนาคตได้
หรือหากเจ้ามรดกไม่ได้เตรียมเงินสดไว้ตั้งแต่แรก การทำประกันชีวิต แล้วกำหนดทุนชีวิตให้เพียงพอกับค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้น ผู้รับมรดกที่ได้ถูกระบุชื่อเป็นผู้รับผลประโยชน์ในกรมธรรม์ จะได้รับเงินค่าสินไหมมรณกรรมโดยตรงทันทีที่เจ้ามรดกผู้เอาประกันเสียชีวิต ก็จะสามารถประหยัดเงินมรดกที่ต้องเตรียมล่วงหน้าไว้ได้
ดังนั้น เพื่อให้ผู้เป็นที่รักได้ส่งต่อทรัพย์สินตามที่ตั้งใจและมีความสงบสุขในสัมปรายภพ การวางแผนภาษีและมรดกเป็นเรื่องที่ควรพิจารณาจัดทำขึ้นร่วมกับทนายวิชาชีพหรือที่ปรึกษาการเงินที่ได้รับการรับรองคุณวุฒิจากสมาคมนักวางแผนการเงินก่อนที่จะสายเกินไป
อ่านข่าวกับ Thairath Money ได้ที่ https://www.thairath.co.th/money/investment
ติดตามเพจ Facebook: Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ https://www.facebook.com/ThairathMoney