“พลาดครั้งเดียว อาจจบ ทั้งระบบการเงิน และ ชีวิตส่วนตัว”
ปัจจุบันคนจำนวนมาก รูดใช้บัตรเครดิต เพียงคิดว่า "เดี๋ยวค่อยจ่าย" หรือ "แค่จ่ายขั้นต่ำไปก่อน" แต่พอเวลาผ่านไป ยอดหนี้พอกจนจ่ายไม่ไหว ดอกเบี้ยสูงขึ้น ทุกเดือน สุดท้ายกลายเป็นกับดัก ที่ทำให้ชีวิตทางการเงินพังไม่เป็นท่า
“หนี้บัตรเครดิต” บ้าง จึงถูกเทียบเป็นเหมือนเครื่องมือที่ "ตัดขาดความมั่นคงทางการเงิน" ของคนที่ใช้มันผิดวิธี
ตลอดช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา กระแส “หนี้ครัวเรือนไทย” และ นโยบาย “ซื้อหนี้” โดยแนวคิดของรัฐบาล ถูกพูดถึง และถกเถียงกันอย่างมาก พร้อมข้อคำถาม เพราะเหตุใด สังคมไทยถึงเดินทางมาถึงจุดนี้
ท่ามกลางความเห็นหลากหลายต่อประเด็นดังกล่าว คือ ข้อมูลพรั่งพรูชวนผงะ ว่าปัจจุบัน คนไทยมี หนี้เสีย รวมกันอยู่ที่ 1.2 ล้านล้านบาท โดยสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล เป็นหนี้เสียมากที่สุด
และ 30% ของคนไทย ติดหนี้บัตรเครดิต มีเกิน 4 ใบได้วงเงินรวม 10-25 เท่าของรายได้ สวนทางนโยบายต่างประเทศ ที่ห้ามมีเกิน 5-12 เท่าของรายได้
นอกจากนี้ ยังพบว่า คนไทยจำนวนมาก เมื่อได้เริ่มเป็น”หนี้”แล้ว ก็วนลูปไม่จบไม่สิ้น เกษียณแล้ว หนี้ก็ยังไม่หมด โดย 20% ของหนี้เสียตัวเลขนับล้านล้านข้างต้น ถูกฟ้องร้องทางคดี และอีก 1 ใน 3 ถูกยึดทรัพย์ขายทอดตลาดไปแล้ว ก็ยังคงปิดหนี้ไม่ได้
“ชีวิตที่ไร้หนี้สิน” เป็นสิ่งที่ทุกคนปรารถนา แต่ปัจจุบันการไม่เป็นหนี้เป็นเรื่องลำบาก แต่ การจ่ายบัตรเครดิตเต็มจำนวน อาจเป็นเรื่องยากกว่าสำหรับบางคน
ซึ่งต้องยอมรับว่า เพราะอะไรคนจำนวนมากถึงติดกับดักบัตรเครดิตโดยไม่รู้ตัว จากกลายเป็น “หนี้เสีย” สะสม ซึ่งที่ผ่านมา เราได้เห็นบทเรียนตัวอย่าง จากหลายกรณี เช่น ...
คนวัยทำงานที่คิดว่า “จ่ายขั้นต่ำก็พอ” จนหนี้ทะลุหลักล้าน จากเคสของหนุ่มออฟฟิศรายหนึ่ง ที่เริ่มใช้บัตรเครดิตซื้อของ ฟังดูเหมือนไม่มีปัญหา เพราะเขายังสามารถจ่ายขั้นต่ำได้ทุกเดือน แต่ปรากฎว่า ยอดหนี้พุ่งเกิน 1 ล้านบาท ต้องกู้เงินจากหลายที่มาหมุน สุดท้ายก็ไปไม่รอด กรณีนี้ ได้สะท้อนถึงพฤติกรรมที่คนจำนวนมากทำ โดยไม่รู้ตัวว่ากำลังขุดหลุมให้ตัวเอง
หญิงวัย 50+ ที่เป็นหนี้เพราะกดเงินสดจากบัตรเครดิตมาหมุนใช้ ตามข้อมูล ลูกหนี้รายนี้ เริ่มจากกดเงินสดจากบัตรเครดิตมาใช้ หวังว่าตัวเองจะหาเงินมาโปะได้เร็ว ๆ แต่ดอกเบี้ยเงินสดสูงกว่า 20% จนดอกพอกหนี้ จากความไม่รู้ข้อมูล ว่าการกดเงินสดจากบัตรเครดิต คือหายนะที่แท้จริง
หรือ จะเป็นกรณี นักศึกษาจบใหม่ที่ถูกธนาคารยื่นบัตรเครดิตให้ จนสร้างหนี้ก่อนเริ่มทำงานจริง เพราะ เมื่อ บัตรเครดิตใบแรก ที่มาพร้อมโปรโมชันล่อใจ รูดซื้อของ + ผ่อน 0% นำมาซึ่งการใช้จ่ายเกินตัว ช่วงแรกยังจ่ายไหว แต่เมื่อเริ่มงานจริง รายได้ยังไม่มั่นคง กลับกลายเป็นว่าหนี้กองเต็มโต๊ะ
ข้อมูลยืนยันจากธนาคารหลายแห่ง ระบุ อย่าคิดว่า การจ่ายขั้นต่ำ คือทางรอด เพราะบางทีอาจเป็นทางสู่หายนะ
1. หนี้พอกพูนอย่างรวดเร็ว ดอกเบี้ยบัตรเครดิตในไทยอยู่ที่ราว 16% - 18% ต่อปี สมมุติ ว่า เรามีหนี้ 50,000 บาท จ่ายขั้นต่ำ 10% (5,000 บาท) ดอกเบี้ยก็จะคิดจากยอดที่เหลือ คือ 45,000 บาท หากจ่ายขั้นต่ำทุกเดือน สุดท้ายอาจต้องจ่ายรวมกว่า 90,000 บาท เพื่อปิดหนี้แค่ 50,000 บาท
2. ติดกับดักหนี้วนลูป เพราะ การจ่ายขั้นต่ำทำให้ต้นเงินแทบไม่ลดลง กดเงินเพิ่มอีก ก็จะเป็นเหมือน "รูรั่วที่ไม่มีวันปิด"
3. เสียประวัติทางการเงิน เมื่อหนี้บัตรบานปลาย คะแนนเครดิตลดลง ทำให้กู้สินเชื่ออื่นยากขึ้น เช่น กู้ซื้อบ้าน กู้ซื้อรถ ฯล
4. อาจถูกฟ้องร้อง บังคับคดี หากหยุดจ่ายหรือจ่ายไม่ครบ เงินต้น + ดอกเบี้ย + ค่าทวงถาม อาจสูงจนเจ้าหนี้ส่งฟ้อง ทำให้ ถูกอายัดเงินเดือนหรือทรัพย์สินที่มี
ทั้งนี้ การจ่ายบัตรเครดิตขั้นต่ำ ที่อาจดูเป็นทางออกที่สะดวกในระยะสั้นนั้น จะเห็นได้ว่า ในระยะยาวกลับเป็นการสร้างภาระหนี้ที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก เนื่องจากดอกเบี้ยที่สะสมจากยอดเงินคงเหลือ จะทำให้หนี้เพิ่มเรื่อยๆ
ทำให้ภาระหนี้หนักขึ้น โดยที่เราไม่ทันรู้ตัว เพราะคำว่า “เดี๋ยวค่อยจ่าย “ หรือ “เอาไว้ก่อน จ่ายขั้นต่ำก็พอ” ส่งผลเดือนต่อมา ยอดหนี้ก็ยังคงอยู่ วนลูปจ่ายขั้นต่ำ และเริ่มรู้สึกเงินเดือนไม่พอใช้ เพราะ เราได้กลายเป็นคนที่ต้องใช้เงินเดือนเพื่อจ่ายหนี้ แทนที่จะใช้เพื่ออนาคตของตัวเอง และ “หนี้ ” อาจทำให้ เราเสียโอกาสต่างๆไป โดยไม่รู้ตัวอีกเช่นกัน
แล้วจะทำอย่างไรดี ถ้าเรามีความจำเป็นต้องจ่ายขั้นต่ำบัตรเครดิต ธนาคารกรุงไทย แนะนำง่าย ๆ ดังนี้
สุดท้าย การใช้บัตรเครดิตอย่างมีสติ รูดเท่าที่จ่ายคืนไหว ยังเป็นประโยคคลาสสิกที่ใช้ได้ตลอดกาล.
ที่มา : สภาพัฒน์ ,ธปท.,ธนาคารกรุงไทย ,ธนาคารกสิกรไทย ,ธนาคารไทยพาณิชย์ ,สวนดุสิตโพล
อ่านข่าวหุ้น ข่าวทองคำ และ ข่าวการลงทุน และ การเงิน กับ Thairath Money ได้ที่
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ https://www.facebook.com/ThairathMoney