Thairath OnlineThairath PlusThairath SportThairath TVMIRROR

เทคนิควางแผนการเงิน แบบ “งบประมาณฐานศูนย์” 3 ขั้นตอนอย่างง่าย ใช้เงินทุกบาทอย่างคุ้มค่า

Date Time: 26 ก.พ. 2568 12:41 น.

Summary

  • รู้จักเทคนิค "งบประมาณฐานศูนย์" ช่วยควบคุมการใช้จ่ายแบบมีเหตุผล ลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น และเพิ่มเงินเก็บได้ง่ายๆ ด้วย 3 ขั้นตอนที่ทำตามได้ทันที

เคยสงสัยไหมว่าเงินหายไปไหนทุกเดือน? หากกำลังรู้สึกว่าเงินหมดเร็วเกินไป ทั้งที่ไม่ได้ใช้จ่ายฟุ่มเฟือย อาจถึงเวลาที่ต้องปรับวิธีบริหารเงินใหม่ ในวันนี้ “Thairath Money” จะพาไปทำความรู้จักกับแนวคิด งบประมาณฐานศูนย์ (Zero-Based Budgeting) พร้อมเทคนิคการวางแผนที่ช่วยให้เงินทุกบาทถูกใช้ไปอย่างคุ้มค่า ด้วย 3 ขั้นตอนง่ายๆ ปรับใช้ได้ทันที

งบประมาณฐานศูนย์ คืออะไร?

งบประมาณฐานศูนย์ (Zero-Based Budgeting) เป็นแนวคิดการวางแผนงบประมาณที่ริเริ่มขึ้นโดย Peter Pyhrr ในช่วงทศวรรษ 1970 วิธีการนี้แตกต่างจากงบประมาณแบบดั้งเดิมตรงที่ทุกการใช้จ่ายจะต้องมีเหตุผลรองรับ ไม่ได้อ้างอิงจากงบประมาณเดิมของปีก่อน แต่ต้อง “เริ่มต้นจากศูนย์” ทุกครั้ง ทำให้สามารถจัดสรรทรัพยากรได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ซึ่งงบประมาณฐานศูนย์จะต้องพิจารณาทุกค่าใช้จ่ายใหม่ทั้งหมด แทนที่จะใช้หลักการเพิ่มลดงบประมาณจากปีก่อน เช่น ในงบประมาณภาครัฐ แทนที่จะให้ทุกหน่วยงานได้รับงบประมาณเพิ่มขึ้นตามสัดส่วนเดิม รัฐบาลอาจพิจารณาว่างบประมาณส่วนไหนจำเป็นที่สุด และตัดงบส่วนที่ไม่สร้างคุณค่าออกไป

แนวคิดงบประมาณฐานศูนย์ได้รับความนิยมในภาครัฐหรือภาคธุรกิจ ที่ต้องการควบคุมค่าใช้จ่ายและใช้งบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด แม้ว่าการจัดทำงบประมาณแบบนี้อาจต้องใช้เวลามากขึ้นกว่าเดิม แต่ผลลัพธ์ที่ได้มักจะช่วยลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น และเพิ่มความโปร่งใสในการใช้เงินได้มากขึ้น

3 ขั้นตอนง่ายๆ ปรับใช้เพื่อบริหาร “เงินในกระเป๋า”

ส่วนบุคคลทั่วไป หากต้องการบริหารการเงินอย่างมีประสิทธิภาพ การใช้แนวคิดงบประมาณฐานศูนย์จะช่วยให้เห็นภาพรวมของการใช้จ่ายได้ชัดเจนขึ้นในแต่ละเดือน และทุกค่าใช้จ่ายต้องมีเหตุผลรองรับ ทำให้สามารถตัดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นออก และมีเงินเหลือไปใช้ในเรื่องสำคัญจริงๆ มากขึ้น

โดยมี 3 ขั้นตอนง่ายๆ ดังนี้

1. รวบรวมรายได้ทั้งหมด - เริ่มต้นด้วยการรวบรวมรายได้ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นเงินเดือน รายได้จากงานพิเศษ โบนัส หรือผลตอบแทนจากการลงทุนต่างๆ เพื่อทำให้เรารู้ตัวเลขรายได้ที่แท้จริง จะได้นำไปใช้วางแผนการใช้จ่ายได้อย่างแม่นยำ

2. จัดลำดับความสำคัญของค่าใช้จ่าย - หนึ่งในหัวใจสำคัญของแนวคิดงบประมาณฐานศูนย์คือการใช้เงินตามความจำเป็นไม่ใช่ตามความเคยชิน โดยวิเคราะห์ว่ารายจ่ายของเรามีอะไรและน่าจะมีจำนวนเท่าไรบ้างในทุกๆ เดือน เช่น ค่าที่อยู่อาศัย ค่าอาหาร ค่าน้ำค่าไฟ ค่าท่องเที่ยว ค่าช็อปปิ้ง เงินออม และเงินที่ต้องชำระหนี้ เป็นต้น

และหากพบว่าค่าใช้จ่ายส่วนไหนไม่ก่อให้เกิดประโยชน์หรือถูกใช้มากเกินไป ก็สามารถปรับเปลี่ยนในเดือนถัดไปได้ เช่น หากพบว่าเดือนนี้ใช้เงินไปกับค่าเที่ยวเยอะเกินไป อาจลดลงและโยกเงินไปเก็บออม หรือใช้ในสิ่งที่จำเป็นกว่าแทน

3. ติดตามและปรับแผน - แนวคิดนี้ไม่ใช่การวางแผนทีเดียวแล้วจบเลย แต่ต้องมีการติดตามและปรับแผนอย่างสม่ำเสมอ ต้องทบทวนค่าใช้จ่ายอยู่ตลอดว่ามีรายการไหนที่ใช้เกินหรือต่ำกว่าแผน เพื่อนำไปปรับแผนใหม่ในเดือนถัดไป และปรับกลยุทธ์การเงินให้เหมาะสมกับสถานการณ์จริง

อย่างไรก็ตาม แนวคิดงบประมาณฐานศูนย์เป็นเครื่องมือที่สามารถนำไปปรับใช้กับการเงินส่วนตัวได้ง่าย หากทำได้อย่างมีวินัย จะช่วยให้มี "การเงินดี ชีวิตดี" เพราะเงินทุกบาทถูกใช้ไปอย่างคุ้มค่ามากขึ้น

สิ่งสำคัญคือการเริ่มต้นลงมือทำ เพียงแค่เริ่มต้นด้วยการวิเคราะห์ค่าใช้จ่ายของตัวเอง ตั้งเป้าหมายทางการเงิน และวางแผนใช้เงินให้มีประสิทธิภาพสูงสุด เมื่อทำได้ต่อเนื่อง จะพบว่าการบริหารเงินเป็นเรื่องที่ง่าย และส่งผลให้ชีวิตโดยรวมดีขึ้นอย่างแน่นอน

อ่านข่าวหุ้นและการลงทุนกับ Thairath Money ได้ที่
https://www.thairath.co.th/money/investment 
ติดตามเพจ Facebook: Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้
https://www.facebook.com/ThairathMoney 


เราใช้คุ้กกี้

เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น

อ่านเพิ่มเติมคลิก(Privacy Policy) และ (Cookie Policy)