ทุกวันนี้หลายคนล้วนมีหนี้กันทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นหนี้บ้าน หนี้รถ หรือหนี้บัตรเครดิต บางคนเป็นหนี้แล้วเครียด เงินเดือนออกก็ต้องรีบจ่ายหนี้จนแทบไม่เหลือใช้ แต่บางคนเป็นหนี้แล้วสบายใจ เพราะวางแผนดีและรู้ว่าตัวเองจ่ายไหว
การเป็นหนี้ไม่ใช่เรื่องแย่ และสามารถเป็นหนึ่งในเครื่องมือทางการเงินที่ช่วยให้เราบรรลุเป้าหมายในชีวิตได้ หากรู้จักบริหารจัดการให้ดี ดังนั้น คำถามสำคัญจึงไม่ใช่ "เป็นหนี้ดีไหม" แต่เป็น "เราควรเป็นหนี้อย่างไรให้ชีวิตไม่เดือดร้อน"
นิคม เจริญสุขโสภณ นักวางแผนการเงิน CFP® เผยแพร่บทความ “เป็นหนี้ให้เป็นสุข” ผ่านสมาคมนักวางแผนการเงินไทย โดยระบุว่า การที่เราจะเป็นหนี้ให้เป็นสุขได้นั้น จึงขึ้นอยู่กับว่าเราสามารถบริหารหนี้ได้ดีแค่ไหน ที่จะไม่มารบกวนการใช้จ่ายหรือเป้าหมายการเงินอื่นๆ ของเรา ดังนั้น ก่อนที่เราจะตัดสินใจเป็นหนี้หรือก่อหนี้เพิ่ม เราควรวางแผนการเงินสำหรับการบริหารหนี้กันเสียก่อน
“อัตราส่วนทางการเงินด้านสภาพคล่อง” จะช่วยบอกว่า เรามีเงินสดหรือสินทรัพย์ที่เปลี่ยนเป็นเงินได้เร็วพอจะจ่ายหนี้ทุกเดือนหรือไม่ เช่น เงินสดในมือ เงินฝาก หรือสินทรัพย์การลงทุนที่มีสภาพคล่องสูง ซึ่งคุณนิคมระบุว่าวิธีการวิเคราะห์อัตราส่วนทางการเงินด้านสภาพคล่องสามารถคำนวณได้จาก
สินทรัพย์สภาพคล่อง ÷ จำนวนยอดหนี้ที่เราต้องจ่ายทุกเดือน
ส่วนวิธีการวิเคราะห์อัตราส่วนทางการเงินด้านหนี้สิน จะสามารถบอกถึงความสามารถในการชำระคืนหนี้สินของเรา สามารถคำนวณได้จาก
(มูลค่าเงินที่ผ่อนชำระคืนหนี้สิน ÷ รายได้หรือรายรับรวม) x 100
ทั้งนี้ ถ้าเป็นหนี้สินที่ไม่ใช่การจดจำนอง เช่น หนี้บัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล ไม่ควรเกิน 20% ของรายได้หรือรายรับรวม
เมื่อได้ทราบถึงวิธีการคำนวณอัตราส่วนทางการเงินแล้ว ก็สามารถนำไปวิเคราะห์ได้ทั้งการก่อหนี้ใหม่และมูลค่าหนี้สินที่มีในปัจจุบันว่ามีความเหมาะสมหรือไม่ เพื่อจะได้วางแผนการมีหนี้ได้อย่างสุขใจ และไม่ต้องกังวลในเรื่องการชำระคืน
อ่านข่าวกับ Thairath Money ได้ที่
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้