พาณิชย์ เผยเงินเฟ้อ พ.ค. ดิ่ง 0.04% ติดลบเป็นครั้งแรกในรอบ 14 เดือน เหตุราคาอาหารลดลงแรง หลังปีนี้ไม่มีปัญหาภัยแล้ง เตรียมปรับประมาณการเงินเฟ้อปี 60 ใหม่ หลังราคาน้ำมันมีแนวโน้มสูงขึ้น บาทแข็ง และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรัฐบาลเร่งการจับจ่ายใช้สอย
นางสุรีย์พร สหวัฒน์ รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยถึงดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศ (เงินเฟ้อ) เดือนพ.ค.60 ว่า เท่ากับ 100.64 ลดลง 0.04% เมื่อเทียบกับเดือน พ.ค.59 ซึ่งเป็นการกลับมาขยายตัวติดลบเป็นครั้งแรกในรอบ 14 เดือนนับจากเดือน มี.ค.59 ที่ติดลบ 0.46% และเมื่อเทียบกับเดือน เม.ย.60 เพิ่มขึ้น 0.15% ส่วนเฉลี่ย 5 เดือน (ม.ค.-พ.ค.) ของปี 60 เพิ่มขึ้น 0.81%
สาเหตุที่เงินเฟ้อในเดือน พ.ค.60 ลดลง เพราะราคาสินค้าหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ลดลง 1.38% จากการลดลงของผักสดมากสุดถึง 26.56% ผลไม้ลดลง 2.55% เพราะปีที่แล้วเกิดภาวะภัยแล้ง ทำให้ผักและผลไม้ราคาสูงขึ้น แต่ปีนี้ไม่เกิดภัยแล้ง ส่วนสินค้าหมวดอื่นๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม เพิ่ม 0.74% จากการสูงขึ้นของน้ำมันเชื้อเพลิง 4.99% เป็นสำคัญ
“เงินเฟ้อเดือน พ.ค. ที่กลับมาลดลง เพราะหมวดอาหารเป็นตัวฉุด โดยเฉพาะกลุ่มผักที่ราคาปรับลดลงมาก ปีนี้ไม่มีปัญหาภัยแล้ง ราคาก็เลยปกติ เมื่อเทียบกับปีที่แล้วที่มีภัยแล้ง แต่เดือนต่อไป ราคาผักอาจจะสูงขึ้นก็ได้ เพราะขณะนี้เกิดภาวะน้ำท่วม ทำให้ผลผลิตเสียหาย ส่วนหมวดไม่ใช่อาหาร มีแค่ราคาน้ำมัน ที่ปรับตัวสูงขึ้น ส่วนรายการอื่นๆ ทรงตัว”
อย่างไรก็ตาม สนค. จะประเมินเป้าหมายเงินเฟ้อทั้งปี 60 ใหม่ในการแถลงข่าวเงินเฟ้อเดือนมิ.ย.60 ในวันที่ 1 ก.ค.60 เพราะขณะนี้ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อเงินเฟ้อมีการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะราคาน้ำมันดิบดูไบ ที่มีแนวโน้มสูงขึ้น หลังกลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมันเป็นสินค้าออก (โอเปก) ได้ลดกำลังการผลิตลง ส่วนอัตราแลกเปลี่ยนมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น และนโยบายรัฐบาลที่เร่งกระตุ้นเศรษฐกิจ มีผลทำให้เกิดการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น ซึ่งล้วนแต่มีผลกดดันต่อภาวะเงินเฟ้อ โดยเป้าหมายเงินเฟ้อปัจจุบัน คาดการณ์ขยายตัว 1.5-2.2% โดยมีสมมติฐานจากการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย 3.5% ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ย 55 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล และค่าเงินบาท 36.5 บาท/เหรียญฯ
สำหรับเงินเฟ้อพื้นฐาน ที่หักกลุ่มอาหารสดและพลังงานออกจากการคำนวณ เท่ากับ 101.14 เพิ่มขึ้น 0.46% เมื่อเทียบกับเดือนพ.ค.59 ส่วนเมื่อเทียบเดือน เม.ย.60 เพิ่มขึ้น 0.01% และเฉลี่ย 5 เดือน เพิ่มขึ้น 0.58%