ซีอีโอ “ออมสิน” หนุนลดดอกเบี้ย ช่วยสร้างเม็ดเงินหมุนเวียนระบบเศรษฐกิจ

Personal Finance

Banking & Bond

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ซีอีโอ “ออมสิน” หนุนลดดอกเบี้ย ช่วยสร้างเม็ดเงินหมุนเวียนระบบเศรษฐกิจ

Date Time: 9 ม.ค. 2568 09:39 น.

Summary

  • “วิทัย” ซีอีโอออมสิน เชื่อปีนี้อัตราดอกเบี้ยขาลงตามแนวโน้มโลก แต่จะส่งผลกระทบต่อรายได้ดอกเบี้ยของธนาคาร เพราะความห่างระหว่างดอกเบี้ยเงินกู้–ดอกเบี้ยเงินฝากจะแคบลง ย้ำเดินหน้าพันธกิจตามนโยบายรัฐ “แก้หนี้–ปรับโครงสร้างหนี้–ดึงคนเข้าสู่ระบบการเงิน”

Latest

AI ฝีมือคนไทยปฏิวัติวงการสินเชื่อ อบาคัส ดิจิทัล ปล่อยกู้ทะลุ 2.4 หมื่นล้าน เตรียมขยายสู่ตลาดอาเซียน

“วิทัย” ซีอีโอออมสิน เชื่อปีนี้อัตราดอกเบี้ยขาลงตามแนวโน้มโลก แต่จะส่งผลกระทบต่อรายได้ดอกเบี้ยของธนาคาร เพราะความห่างระหว่างดอกเบี้ยเงินกู้–ดอกเบี้ยเงินฝากจะแคบลง ย้ำเดินหน้าพันธกิจตามนโยบายรัฐ “แก้หนี้–ปรับโครงสร้างหนี้–ดึงคนเข้าสู่ระบบการเงิน”

นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ในปี 2568 ปัจจัยที่ต้องเกาะติดอย่างใกล้ชิด คือ อัตราดอกเบี้ย ถือเป็นเรื่องท้าทายการบริหารจัดการของธนาคารทั้งระบบ เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง ตามการปรับลดลงของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ถึงแม้ธนาคารในประเทศไทยจะปรับลดลงไม่มาก แต่ก็จะส่งผลกระทบต่อส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ (Net Interest Margin : NIM) เพราะส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยเงินกู้กับเงินฝากก็ต้องปรับลดลง

จับตาลดดอกเบี้ย–นโยบายทรัมป์

โดยในส่วนของธนาคารพาณิชย์ เมื่ออัตราดอกเบี้ยลดลงก็จะต้องบริหารจัดการมิให้กำไรลดลงมาก ขณะที่ธนาคารรัฐ กำไรจะลดลงมาก เนื่องจากต้องดำเนินการตามนโยบายรัฐบาล เพื่อช่วยเหลือประชาชน ลดดอกเบี้ย แก้หนี้ และช่วยกลุ่มที่ยังเข้าไม่ถึงสินเชื่อ ได้เข้าถึงสินเชื่อ

“อย่างไรก็ตาม การปรับลดดอกเบี้ยจะช่วยคนได้เยอะมาก เพราะคนเป็นหนี้ จ่ายเงินต้นได้มากขึ้น เพราะดอกเบี้ยลดลง หนี้ก็จะลดลงไปเรื่อยๆ ขณะเดียวกันจะทำให้มีเงินเหลือในกระเป๋า นำไปจับจ่ายใช้สอยในชีวิตประจำวัน สร้างเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ ทำให้เศรษฐกิจขยายตัว ดังนั้น จะให้เศรษฐกิจดี ก็ต้องลดดอกเบี้ย”

อีกปัจจัยที่ท้าทายมากในปีนี้ คือ นโยบายของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ที่จะเข้าสาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ วันที่ 20 ม.ค.นี้ ซึ่งทั่วโลกต้องจับเจาะเกาะติดการประกาศนโยบายอีกครั้ง เพราะการมาของทรัมป์นั้น เชื่อว่าจะมีผลกระทบอย่างแน่นอน แต่สิ่งที่สำคัญและ
มีความเป็นไปได้ จะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยอย่างแน่นอน แต่จะลดไปถึงเท่าใดนั้น ต้องติดตามใกล้ชิดจริงๆ เพราะคาดการณ์ยากมาก

ออมสินตั้งเป้าช่วยคนเข้าถึงสินเชื่อ

นายวิทัยกล่าวว่า สำหรับการดำเนินงานของธนาคารออมสินในปีนี้ ยังคงมุ่งมั่นที่จะช่วยคนให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนและเข้าสู่ระบบการเงินอย่างถูกต้อง ลดการเป็นหนี้นอกระบบ ช่วยแก้หนี้ ปรับโครงสร้างหนี้ ให้ลูกหนี้ที่มีปัญหามีความคล่องตัวทางการเงินมากยิ่งขึ้น การพัฒนาองค์กรให้เติบโต การสนับสนุนนโยบายภาครัฐ โดยตั้งเป้าการปล่อยสินเชื่อใหม่ 80,000-100,000 ล้านบาท เงินฝาก 100,000 ล้านบาท ขณะที่กำไรไม่เกิน 27,000 ล้านบาท

“นับจากนี้ไปออมสินจะไม่เน้นกำไรสูงสุด แต่เน้นการช่วยเหลือสังคมด้วยการออกสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ เพื่อให้ฐานรากของเศรษฐกิจสามารถดำรงชีวิต สร้างงาน สร้างอาชีพ เป็นกลไกช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ทั้งนี้ ในปี 67 ที่ผ่านมา มียอดสินเชื่อคงค้างอยู่ที่ 2.3 ล้านล้านบาท ส่วนเงินฝากคงค้างอยู่ที่ 2.7 ล้านล้านบาท”

นายวิทัยกล่าวต่อว่า ฐานะการเงินของธนาคารในขณะนี้ยังมีความแข็งแกร่ง เพราะมีเม็ดเงินสำรองส่วนเกินเพิ่มสูงขึ้นแตะ 72,000 ล้านบาท หากไม่ปรับลดกำไรลง เงินสำรองส่วนเกินใกล้ทะลุ 130,000 ล้านบาท ซึ่งเม็ดเงินสำรองเพิ่มขึ้นเรื่อยๆทุกปี จากเดิมเมื่อปี 62 เงินสำรองมีเพียง 4,000 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ธนาคารจะพยายามไม่ให้เงินสำรองส่วนเกินทะลุ 130,000 ล้านบาท ด้วยการเตรียมออกสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) วงเงิน 10,000 ล้านบาท เพื่อปล่อยสินเชื่อให้เอสเอ็มอีที่เป็นรายย่อยวงเงินกู้ไม่เกิน 1-2 ล้านบาท ซึ่งเป็นกลุ่มที่เข้าไม่ถึงสินเชื่อมาก่อน เบื้องต้นมีเอสเอ็มอีรายย่อยราว 10,000 ราย ซึ่งวิธีการทำงานนั้น ธนาคารออมสินจะต้องร่วมมือกับสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย เพื่อตรวจสอบเอสเอ็มอีรายย่อยที่มีโอกาสจะฟื้นตัวหรือเดินหน้าธุรกิจต่อไปได้ และเอสเอ็มอีรายย่อยนั้นต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) กำหนดไว้

สำหรับปัญหาหนี้เสีย (เอ็นพีแอล) น่าจะดีขึ้นเรื่อยๆ เพราะเศรษฐกิจขยายตัวดีขึ้น มีการแก้หนี้ตามนโยบายรัฐบาล และมีการปล่อยสินเชื่อใหม่เข้าระบบได้มากขึ้น หากมองในมุมการใช้จ่ายของผู้บริโภค และอัตราเงินเฟ้อ น่าจะเริ่มกระเตื้องขึ้น ทำให้กรอบเงินอัตราเงินเฟ้อ มุ่งสู่เป้าหมายที่กำหนดไว้ 1-3% เมื่อกรอบเงินเฟ้อเข้าสู่เป้าหมายแล้ว การปรับลดอัตราดอกเบี้ย ย่อมต้องเกิดขึ้นเช่นกัน

“เพราะหากไม่ปรับลดดอกเบี้ย ตามกรอบเงินเฟ้อ อัตราแลกเปลี่ยนหรือค่าเงินบาทของไทย ก็จะเกิดความผันผวน ธนาคารพาณิชย์มีความกังวล ไม่กล้าปล่อยสินเชื่อ ส่งผลให้ยอดปล่อยสินเชื่อไม่โต ขณะที่ธนาคารรัฐกำไรลดลง เพื่อช่วยรัฐแก้ปัญหาช่วยเหลือประชาชน อย่างไรก็ตาม ยังคงเชื่อว่า เมื่ออัตราเงินเฟ้ออยู่ในกรอบแล้ว จะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยแน่ เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้ดีขึ้น”

รุกเอไอ–เดินหน้า “ธนาคารเพื่อสังคม”

นายวิทัยกล่าวต่อว่า สำหรับการขยายผลการเป็นธนาคารเพื่อสังคม ผ่านการตั้งบริษัทในเครือ เพื่อความคล่องตัวนั้น ปีนี้ยังคงมุ่งมั่น 3 บริษัท คือ 1.บริษัท สินทรัพย์อารีย์ จำกัดเพื่อรับโอน รับซื้อหนี้เสีย จากธนาคารรัฐ มาบริหารจัดการ เพื่อให้ลูกหนี้เข้าสู่กระบวนการปรับโครงสร้างหนี้ได้ 2.บริษัท เงินดีดี จำกัด เปิดให้บริการปล่อยสินเชื่อผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ กู๊ดมันนี่ (GOOD MONEY) ซึ่งเป้าหมายช่วยบุคคลธรรมดาได้เข้าถึงแหล่งทุน 100,000 ราย และ 3.บริษัท จีเอสบี ไอที แมเนจเมนท์ จำกัด เพื่อให้บริการเรื่องไอทีทั้งหมดให้กับธนาคารออมสิน ทั้งระบบปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) ดิจิทัลโมบายแบงกิ้ง รองรับการให้บริการแบบธนาคารไร้สาขา (Virtual Bank) สอดรับยุคดิจิทัล โดยการจัดซื้อจัดจ้างทั้งหมดยังคงอยู่ที่ธนาคารออมสิน แต่บริษัท จีเอสบี ไอทีฯ จะเป็นเพียงผู้รับจ้างบริหารจัดการ พัฒนาและบำรุงระบบไอทีของธนาคารให้ทันสมัย โดยจะเริ่มเห็นผลในไตรมาสแรกของปีนี้

“การนำระบบเอไอมาใช้ จะทำให้การทำงานรวดเร็วมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้การบริการ ณ สาขาดีขึ้นอย่างรวดเร็ว เพราะระบบ AI จะช่วยประมวลผลข้อมูลทั้งหมดของลูกค้า ช่วยตรวจสอบ ช่วยคัดกรอง เพื่อหาวิธีการช่วยเหลือลูกค้าหนี้เสียได้อย่างรวดเร็ว จะได้ไม่เป็นหนี้เสียเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ หากรู้ปัญหาเร็ว อาจเข้าไปช่วยแก้หนี้ได้เร็วขึ้น”.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ