อัปเดต เปิดข้อมูลควรรู้ เจ้าของร้านอาหาร ต้องเสียภาษีอะไรบ้าง? สรุปให้ครบ พร้อมวิธีคำนวณภาษี

Personal Finance

Banking & Bond

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

อัปเดต เปิดข้อมูลควรรู้ เจ้าของร้านอาหาร ต้องเสียภาษีอะไรบ้าง? สรุปให้ครบ พร้อมวิธีคำนวณภาษี

Date Time: 12 ธ.ค. 2567 09:48 น.

Video

บิทคอยน์ VS เงินในกระเป๋าเกี่ยวกันยังไง ? | Digital Frontiers

Summary

  • รู้หรือไม่ ? ลาออกจากงาน มาเปิด “ร้านอาหาร” เล็กๆ ที่บ้าน ก็ต้องยื่นภาษี เปิดข้อมูลควรรู้ เจ้าของร้าน ต้องเสียภาษีอะไรบ้าง? สรุปให้ครบ พร้อมวิธีคำนวณภาษี

Latest


ปัจจุบัน หลายคน เบื่อ การทำงานในระบบ ขององค์กร บริษัท ห้างร้านต่างๆ ตัดสินใจ ลาออก มาทำ “ธุรกิจส่วนตัว” กันมากขึ้น โดย 1 ในนั้น คือ การเปิดร้านอาหาร ร้านขนม คาเฟ่ ขนาดเล็ก ๆ ที่บ้าน บ้างไม่มีหน้าร้าน เปิดแพลตฟอร์ม ขายเฉพาะออนไลน์

แต่สิ่งที่หลายคนอาจยังไม่รู้ ก็คือ ไม่ว่าร้านของเราจะเล็กแค่ไหน หรือขายเฉพาะเพื่อนบ้าน ก็ยังต้องเข้าสู่ระบบภาษี เช่นเดียวกับธุรกิจขนาดใหญ่ 

ซึ่งการไม่เข้าใจเรื่องภาษีอาจนำไปสู่ปัญหาที่ไม่คาดฝัน เช่น ค่าปรับจากการไม่ยื่นภาษี หรือการเสียโอกาสรับสิทธิประโยชน์ทางภาษี อย่าง การลดหย่อนภาษีได้ 

โดยช่วงท้ายของปีเช่นนี้ นับเป็นเวลาที่เหมาะ สำหรับการ ทบทวนความเข้าใจ เกี่ยวกับ ข้อมูลภาษีที่ถูกต้อง เพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาดตามมา 

ทำความเข้าใจ การยื่น และ การเสียภาษี สำหรับ “ธุรกิจร้านอาหาร” 

ซึ่งข้อมูลจาก คลินิกภาษี กระทรวงการคลัง และ K SME ธนาคารกสิกรไทย ระบุ ข้อมูลเป็นประโยชน์ สำหรับ เจ้าของธุรกิจร้านอาหาร ว่า ไม่ว่า ร้านอาหารขนาดเล็กหรือใหญ่ ก็ต้องยื่นภาษีเงินได้บุคคล ซึ่งมี 2 รูปแบบ ด้วยกัน ได้แก่ 

1.ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เป็นภาษีที่เจ้าของกิจการต้องยื่นภาษีใจความสำคัญ ก็คือ 

  • ถ้ารายได้ 120,000 บาท/ปี แต่ไม่ต้องเสียภาษี
  • ถ้ารายได้เกิน 150,000 บาท/ปี จะต้องมีหน้าที่เสียภาษี

สำหรับใครที่ยังไม่แน่ใจว่าต้องเสียภาษีบุคคลธรรมดาอย่างไร ก็คำนวณตามสูตรเบื้องต้น ดังนี้ 

  • รายได้ - ค่าใช้จ่าย - ค่าลดหย่อน = เงินได้สุทธิ
  • เงินได้สุทธิ x อัตราภาษี = ภาษีที่ต้องจ่าย

โดยช่วงเวลายื่นภาษีปีละ 2 ครั้ง

▸ ยื่นชำระภาษีครึ่งปี (ภ.ง.ด. 94) นับรวมรายได้ 6 เดือนแรก ตั้งแต่เดือนมกราคม - เดือนมิถุนายน โดยยื่นภายในเดือนกันยายน

▸ ยื่นชำระภาษีสิ้นปี (ภ.ง.ด. 90) นับรวมรายได้ตั้งแต่เดือนมกราคม - เดือนธันวาคม โดยนำภาษีที่จ่ายครั้งแรกมาหักจากภาษีมาหักออกจากภาษีที่คำนวนได้ในครั้งที่ 2

2.ภาษีเงินได้นิติบุคคล สำหรับร้านอาหารที่เจ้าของกิจการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล ซึ่งกำไรจากการขายอาหารจะถูกนำมาคำนวณหาเพื่อเสียภาษีรายได้นิติบุคคล 

ซึ่งมีหลักการคำนวนคือ รายได้ทั้งหมด - ค่าใช้จ่าย = กำไรสุทธิ

และนำกำไรสุทธิที่ได้มาเปรียบเทียบกับตารางภาษีเงินได้นิติบุคคล สำหรับกิจการที่มีรายได้ไม่เกิน 30 ล้านบาทต่อปีและมีทุนจดทะเบียนไม่เกิน 5 ล้านบาท จะได้รับสิทธิภาษีของอัตรา SME ดังนี้

▹ กำไร 300,000 บาทแรก ได้รับการยกเว้นภาษี

▹ กำไร 300,001 – 3 ล้าน ต้องเสียภาษี 15%

▹ กำไรมากกว่า 3 ล้านบาทขึ้นไป ต้องเสียภาษี 20%

ทั้งนี้ ถ้าอยากรู้ว่าจะต้องจ่ายภาษีเงินได้นิติบุคคลเท่าไหร่ ก็สามารถใช้สูตรนี้คำนวณได้เลย

  • กำไรสุทธิ x อัตราภาษี = ภาษีที่ต้องจ่าย

*อัตราภาษีทั่วไปอยู่ที่ 20%

 ซึ่งจะต้องยื่นภาษีนิติบุคคลปีละ 2 ครั้ง เช่นกัน 

▸ ยื่นชำระภาษีครึ่งปี (ภ.ง.ด. 51) ยืนชำระภายใน 2 เดือน นับจากวันสุดท้ายของ 6 เดือนแรก ของรอบระยะเวลาบัญชี

▸ ยื่นชำระภาษีสิ้นปี (ภ.ง.ด. 50) ยื่นชำระภายใน 150 วันนับจากวันสุดท้ายของรอบระยะบัญชี

ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) สำหรับร้านอาหาร คำนวณอย่างไร ? 

ทั้งนี้  หากเราเป็นเจ้าของกิจการร้านอาหาร ที่มีผลประกอบการเกิน 1.8 ล้านบาท/ปี จำเป็นจะต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่มีรายได้เกินด้วย 

โดยหลักการนั้น ให้คำนวณจาก 7% ของยอดขาย พร้อมทำการยื่นภาษีแบบ ภ.พ.30 ภายในวันที่ 15 ของทุกเดือน

โดย K SME แนะว่า ดังนั้นหากร้านเราจด VAT แล้ว จึงจำเป็นจะต้องเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้ซื้อ หรือลูกค้า และจะต้องออกใบกำกับภาษีให้เป็นหลักฐาน ในกรณีร้านอาหารส่วนมากยอดนี้ก็จะโชว์ในใบเสร็จค่าอาหารนั่นเอง 

ที่สำคัญต้องจัดทำรายงานภาษีขาย ภาษีซื้อ สินค้าและวัตถุดิบด้วยเพื่อใช้ในการยื่นภาษี

ร้านอาหารจึงควรคิดราคาที่รวม VAT เข้าไปแล้ว ด้วยสูตรนี้

“ราคาอาหารก่อนคิด VAT x 7% = ราคาอาหารสุทธิ” 

ภาษีป้าย ครัวเล็กๆ ต้องเสียภาษีไหม ? 

นอกจากนี้ หากร้านอาหารของเรา มีหน้าร้าน และมีป้ายติดหน้าร้าน จะด้วยความต้องการ เพื่อให้คนรู้ว่าร้านของเรามากขึ้น ว่า ขายอะไร ซึ่งในระเบียบนั้น การติดป้ายชื่อร้าน ยี่ห้อ เครื่องหมายการค้า จำเป็นต้องเสียภาษีป้ายด้วยเช่นกัน 

สำหรับ วิธีคำนวณภาษีป้ายนั้น  มีหลักการ และ ตัวอย่าง ดังนี้

ตัวอย่าง ป้าย “เค เอสเอมอี” มีขนาด กว้าง 1 เมตร ยาว 2.5 เมตร

วิธีคำนวณ

กว้าง X ยาว / พื่นที่ 500 ตร.ซม = พื้นที่ที่ต้องเสียภาษี

ตัวอย่าง 100 x 250 ซม. / 500 ตร.ซม. = 50 ตร.ซม.

จากนั้นมาเปรียบเทียบกับประเภทป้าย เป็นประเภทอักษรไทยล้วน

วิธีคำนวณ

พื้นที่ที่ต้องเสียภาษี x อัตราภาษี = ภาษีป้ายที่ต้องจ่าย

ตัวอย่าง 50 x 10 = 500 บาท

เท่ากับว่าร้านนี้ต้องเสียภาษป้ายในจำนวน 500 บาท นั่นเอง 

อย่างไรก็ดี ก่อนติดป้ายร้าน K SME แนะว่า อย่าลืม นำภาพถ่ายป้ายและแผนผังจุดที่จะทำการติดป้าย ไปขอคำอนุญาตที่สำนักงานเขต เทศบาล หรืออบต. พร้อมยื่นแบบพร้อมชำระป้าย (ภ.ป.1) ภายใน 15 วัน โดยมีเอกสารดังนี้

• บัตรประชาชน

• สำเนาทะเบียนบ้าน

• เลขประจำตัวผู้เสียภาษี/เลขที่ทะเบียนการค้า

• หนังสือรับรอง (กรณีนิติบุคคล)

• รูปถ่ายป้าย พร้อมขนาดกว้าง x ยาว

• ใบอนุญาตติดตั้งป้าย หรือใบเสร็จรับเงินจากร้านทำป้าย

เมื่อยื่นเรื่องเรียบร้อยก็สามารถชำระภาษี ได้ที่สำนักงานเขต และในปีต่อๆ ไปให้ยื่นแบบ (ภ.ป.1) ได้ตั้งแต่ เดือนมกราคม – เดือนมีนาคม ของทุกปี ควรนำใบเสร็จรับเงินค่าทำป้ายจากปีก่อนมาแสดงด้วย

เปิดร้านอาหารในบ้าน ต้องเสียภาษีที่ดินไหม?

สุดท้ายแล้ว ยังมีอีกหนึ่งภาษี ที่หลายคนอาจคิดว่าไม่จำเป็น แต่จริงๆ แล้ว การใช้พื้นที่ในบ้านทำกิจการก็ต้องเสียภาษีที่ดินด้วยเช่นกัน  เพราะถือว่าเราใช้ที่ดินในเชิงพาณิชย์ โดยสามารถประเมินมูลค่าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เปรียบเทียบกับอัตราภาษี ซึ่งถ้าหากเราเป็นผู้เช่าต้องตกลงกับเจ้าของให้ชัดเจน ว่าใครจะเป็นผู้รับผิดชอบภาษีที่ดินตรงนี้นั่นเอง

ทั้งหมด คือ เรื่องราวภาษีที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจร้านอาหาร ซึ่งเรื่องภาษีไม่ใช่เรื่องน่ากลัว หากเราเข้าใจ และ เตรียมพร้อม ซึ่งจะช่วยสร้างความมั่นใจในการทำธุรกิจให้กับเราต่อไปได้ 

อ่านข่าวหุ้น ข่าวทองคำ และ ข่าวการลงทุน และ การเงิน กับ Thairath Money ได้ที่

ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้  https://www.facebook.com/ThairathMoney


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ