การวางแผนมรดกเป็นสิ่งสำคัญสำหรับทุกคน ไม่ใช่แค่ผู้มีทรัพย์สินมาก การจัดทำพินัยกรรมและการประกันชีวิตช่วยส่งต่อความมั่นคงให้ครอบครัว ลดความขัดแย้ง และปกป้องคุณภาพชีวิตของทายาท การวางแผนควรเริ่มต้นด้วยการรวบรวมทรัพย์สินและจัดการหนี้สิน พร้อมคำนึงถึงความจำเป็นในอนาคต การเตรียมตัวล่วงหน้าเป็นการสร้างความมั่นคงและความสบายใจในระยะยาวสำหรับทุกฝ่ายในครอบครัว
เขมขวัญ สุดดี นักวางแผนการเงิน CFP® บริษัท เอฟดับบลิวดี ประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) ประเมินว่า หลายคนอาจมองว่าการวางแผนส่งต่อมรดกเป็นเรื่องของคนร่ำรวยหรือคนที่มีทรัพย์สินมากมายเท่านั้น แต่อันที่จริงแล้ว การวางแผนมรดกมีความสำคัญสำหรับทุกคน การมีแผนการจัดการทรัพย์สินที่ชัดเจนจะช่วยให้ครอบครัวของเราได้รับความมั่นคงและสามารถใช้ชีวิตต่อไปได้อย่างราบรื่น
วันนี้มีใครในครอบครัวของเราทราบหรือไม่ว่าเรามีการเก็บเงินไว้ที่ไหนบ้าง อยู่ในรูปแบบใด เช่น เงินฝากธนาคาร บัญชีหุ้น หรือแม้แต่ซ่อนอยู่ในกระเป๋าหรือมุมต่างๆในบ้าน หากวันหนึ่งเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันขึ้นกับตัวเรา และไม่สามารถบอกใครได้ จะมีใครทราบหรือไม่ว่าทรัพย์สินทั้งหมดของเราอยู่ที่ไหน และคุณภาพชีวิตของครอบครัวเราจะเป็นอย่างไรต่อไป
ดังคำกล่าวว่า “ความแน่นอนคือความไม่แน่นอน แต่สิ่งที่แน่นอนที่สุดในชีวิตคือภาษีและความตาย” ดังนั้น เราจึงจำเป็นต้องวางแผนการจัดการทรัพย์สินและมรดกของเรา โดยเฉพาะผู้ที่เป็นเสาหลักของครอบครัว การวางแผนล่วงหน้าจะช่วยให้เราสามารถส่งต่อความมั่นคงและมั่งคั่งให้กับครอบครัวได้อย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ
มรดก คือ ทรัพย์สิน สิทธิ หรือหน้าที่ที่ผู้เสียชีวิตมีอยู่ก่อนหรือขณะที่เสียชีวิต ตัวอย่างเช่น ทรัพย์สิน สิทธิตามกฎหมาย หรือหนี้สินที่ต้องชำระ (อ้างอิง: ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1599)
ทรัพย์มรดก หรือที่เราเรียกกันว่า มรดก คือ ทรัพย์สินทุกอย่างของผู้ตาย รวมถึงสิทธิและหน้าที่ โดยสามารถแบ่งเป็นประเภทดังนี้
มรดกที่เป็นทรัพย์สิน: หมายถึง ทรัพย์สินที่มีมูลค่าทั้งทรัพย์ส่วนบุคคล และสำหรับผู้ที่แต่งงานตามกฎหมาย จะรวมถึงครึ่งหนึ่งของสินสมรส หรือทรัพย์สินที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาของการสมรส ตัวอย่างของทรัพย์สินได้แก่ อสังหาริมทรัพย์ เช่น บ้าน ที่ดิน เงินฝากธนาคาร หรือสังหาริมทรัพย์ เช่น แหวนเพชร ทองคำ กองทุน หุ้น บัญชีดิจิทัล และของสะสมต่างๆ
มรดกที่เป็นสิทธิ: หมายถึง สิทธิที่ได้มาหรือมีอยู่ เช่น สิทธิตามสัญญาเช่า สิทธิในสัญญากู้ยืม และ สิทธิการเป็นเจ้าหนี้ที่จะต้องได้รับเงินคืน
มรดกที่เป็นหน้าที่หรือความรับผิดชอบ: หมายถึง ความรับผิดชอบที่จะต้องชดใช้ เช่น ความเสียหายที่เกิดจากการกระทำผิดสัญญา ในกรณีที่เจ้าของมรดกมีหนี้สิน ก็ถือเป็นมรดกที่สามารถตกทอดสู่ทายาทได้ แต่ทายาทจะรับผิดชอบไม่เกินจำนวนตามมรดกที่ได้รับมา
ใครคือทายาทที่จะได้รับมรดก
แบ่งออกเป็น 2 ประเภทได้แก่
ทายาททางพินัยกรรม คือ บุคคลที่ได้รับมรดกตามที่ระบุไว้ในเอกสารพินัยกรรม ที่ผู้ตายเขียนไว้ก่อนเสียชีวิต เพื่อบอกว่าใครจะได้รับมรดกที่เหลืออยู่ ทายาททางพินัยกรรมอาจเป็นสมาชิกในครอบครัว เพื่อน หรือองค์กรที่ระบุไว้ในพินัยกรรม
ทายาทโดยธรรม หมายถึง บุคคลที่มีสิทธิ์รับมรดกตามกฎหมายโดยไม่ได้ทำพินัยกรรมไว้ โดยจะแบ่งออกเป็น 6 ลำดับตามลำดับความใกล้ชิดกับผู้ตาย ได้แก่
การแบ่งมรดกให้ทายาทตามกฎหมายไทยนั้นมีหลักการที่ชัดเจนเพื่อให้เกิดความยุติธรรม โดยมรดกจะถูกแบ่งให้กับญาติที่ใกล้ชิดที่สุดก่อน ถ้าญาติในลำดับแรกไม่อยู่แล้ว มรดกจะถูกแบ่งให้กับญาติในลำดับถัดไป และทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ จนถึงทายาททุกคนที่มีสิทธิ์รับมรดก โดยญาติในลำดับแรกและลำดับสองหากยังมีชีวิตอยู่ทั้งหมด มรดกจะถูกแบ่งให้กับพวกเขาก่อน โดยไม่ต้องแบ่งให้ญาติในลำดับถัดไป เช่น พี่น้อง หรือปู่ย่า ตายาย
แต่ถ้ามีทายาทหลายคนในลำดับเดียวกัน เช่น มีลูกหลายคน มรดกจะถูกแบ่งให้พวกเขาอย่างเท่าเทียมกัน ยกเว้นว่าผู้ตายจะมีการระบุไว้ในพินัยกรรมเป็นอย่างอื่น
การแบ่งทรัพย์สินมรดกต้องมีการจัดตั้ง “ผู้จัดการมรดก” ก่อนเพื่อที่จะดำเนินการแบ่งทรัพย์สินอย่างถูกต้อง โดยผู้จัดการมรดกจะต้องรวบรวมและตรวจสอบทรัพย์สินทั้งหมดของผู้ตาย และจัดสรรให้แก่ทายาทตามกฎหมาย การวางแผนล่วงหน้าสามารถช่วยให้การส่งต่อมรดกทำได้ตรงตามเจตนารมณ์ของผู้ตาย และลดปัญหาขัดแย้งในครอบครัว (อ้างอิง: กระทรวงยุติธรรม) การจัดตั้งผู้จัดการมรดกไม่ใช่เรื่องยาก หากเรามีการวางแผนที่ดีและเข้าใจขั้นตอน ดังนี้:
แต่งตั้งผู้จัดการมรดก ผู้จัดการมรดกคือบุคคลที่ได้รับการเลือกให้จัดการทรัพย์สินของผู้ตาย บุคคลนี้อาจเป็นสมาชิกในครอบครัวหรือบุคคลภายนอกที่น่าเชื่อถือ ซึ่งการแต่งตั้งผู้จัดการมรดกควรทำในพินัยกรรมเพื่อให้การดำเนินการเป็นไปอย่างราบรื่น (อ้างอิง: กระทรวงการคลัง)
ยื่นคำร้องต่อศาล ผู้ที่ต้องการเป็นผู้จัดการมรดกต้องยื่นคำร้องต่อศาล และศาลจะนัดวันพิจารณา
รวบรวมข้อมูลทรัพย์สิน หลังจากได้รับการแต่งตั้ง ผู้จัดการมรดกต้องรวบรวมและตรวจสอบทรัพย์สินทั้งหมดของผู้ตาย เช่น บ้าน ที่ดิน เงินในบัญชี และสิ่งของมีค่าอื่น ๆ
ประกาศหนี้สิน ผู้จัดการมรดกต้องประกาศให้เจ้าหนี้ของผู้ตายมาแจ้งหนี้ เพื่อทำการชำระหนี้ให้หมดก่อนการแบ่งทรัพย์สิน
แบ่งทรัพย์สินตามพินัยกรรมหรือกฎหมาย หากผู้ตายมีพินัยกรรม ผู้จัดการมรดกจะต้องดำเนินการแบ่งทรัพย์สินตามที่ระบุไว้ แต่ถ้าไม่มีพินัยกรรม ก็จะแบ่งตามกฎหมายที่กำหนดไว้
หากเรามีการวางแผนส่งต่อไว้ล่วงหน้า จะช่วยให้การจัดการทรัพย์สินเป็นไปอย่างราบรื่นและเป็นธรรม ลดปัญหาความขัดแย้งในครอบครัว ก็สามารถช่วยให้ส่งต่อมรดกได้ตรงตามเจตนารมย์ของผู้ให้ สบายใจผู้รับไม่ต้องมีปัญหาขัดแย้งกัน ด้วยการทำพินัยกรรม
การทำพินัยกรรม คือ การแสดงเจตนารมของผู้ตายในเรื่องเกี่ยวกับทรัพย์สินและกิจการของตนเองไว้ก่อนที่จะเสียชีวิต ซึ่งการทำพินัยกรรมนั้น สามารถทำได้ตั้งแต่อายุครบ 15 ปีขึ้นไป และศาลไม่ได้มีคำสั่งให้เป็นบุคคลไร้ความสามารถ และพินัยกรรมเป็นนิติกรรมที่ต้องทำตามแบบที่กำหนดเท่านั้น รูปแบบการทำพินัยกรรมนั้นมี 5 แบบ สามารถเลือกให้เหมาะสมได้ตามความสะดวกของผู้ทำ และควรระบุผู้จัดการมรดกไว้ในพินัยกรรมเลย
เคล็ดลับ : ควรมีการอัพเดทรายการสินทรัพย์ของเราให้เป็นปัจจุบันอยู่สม่ำเสมอ
ข้อควรระวัง : ในการทำพินัยกรรมทั้งแบบมีพยานและแบบให้ผู้อื่นเขียน ผู้เขียนและผู้ที่เป็นพยานจะไม่มีสิทธิได้รับมรดก
การทำประกันชีวิต เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ใช้ง่ายในการวางแผนอนาคต โดยไม่จำเป็นต้องทำพินัยกรรมอย่างเดียว ประกันชีวิตไม่ใช่ทรัพย์มรดกเพราะจะเป็นเงินที่ได้รับก็ต่อเมื่อผู้เอาประกันเสียชีวิต เป็นเครื่องมือทางการเงินที่ช่วยบริหารความเสี่ยงและยังสามารถสร้างสินทรัพย์เพิ่มเติมให้กับครอบครัวได้อย่างมีประสิทธิภาพ
สำหรับหัวหน้าครอบครัวที่มีคนในความดูแล การทำประกันชีวิตเป็นหนึ่งในทางเลือกที่ดี ไม่เพียงแต่ช่วยปกป้องความมั่งคั่งของครอบครัวในกรณีที่เกิดเหตุไม่คาดฝัน แต่ยังช่วยส่งต่อความมั่งคั่งให้ลูกหลานอย่างมั่นคง ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งเพื่อรักษาคุณภาพชีวิตของครอบครัวให้สุขสบายเหมือนเดิม
วิธีคำนวณทุนประกันชีวิตสามารถทำได้ตามแนวคิด Needs Approach หรือการประเมินตามความจำเป็น ซึ่งมีวิธีคิดง่ายๆ ดังนี้
ทุนประกันที่ควรมี = ภาระทางการเงินที่มีอยู่ - ทรัพย์สินทั้งหมดที่มีอยู่
โดยส่วนใหญ่ภาระทางการเงินจะประกอบไปด้วย:
ทุนประกันสำหรับคุ้มครองกรณีใช้ชำระหนี้สิน – ภาระหนี้สินระยะยาวที่มีอยู่ เช่น กู้ซื้อบ้าน ที่ดิน รถยนต์
วิธีคำนวณ คือ จำนวนภาระหนี้สินระยะยาวที่มีคงเหลืออยู่ทั้งหมด
ทุนประกันสำหรับคุ้มครองกรณีเป็นรายได้ในช่วงปรับตัว – เงินที่จำเป็นต้องใช้สำหรับค่าใช้จ่ายครั้งสุดท้าย เพื่อให้ครอบครัวไว้ใช้จ่ายในช่วงฉุกเฉิน เงินทุนเพื่อปรับเปลี่ยน หรือไว้ใช้ดูแลบ้านต่างๆ
(ช่วงระยะเวลาปรับตัวโดยส่วนมากจะอยู่ที่ 1 – 2 ปี)
วิธีคำนวณ คือ รายได้สุทธิต่อปีของครอบครัว (หักลบค่าใช้จ่ายส่วนตัว) x จำนวนปี
ทุนประกันสำหรับคุ้มครองกรณีเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับครอบครัวหรือผู้อยู่ในอุปการะ(จะคำนึงถึงรายได้เพื่อทดแทนรายได้ของผู้เอาประกันซึ่งเป็นผู้หารายได้หลักของครอบครัวเป็นระยะเวลาที่เหลือของการทำงานเป็นอย่างน้อย)
วิธีคำนวณ คือ รายได้สุทธิต่อปีของครอบครัว (หักลบค่าใช้จ่ายส่วนตัว) x จำนวนปีที่ต้องการดูแลครอบครัว
หลักการ คือ การพิจารณาถึงความจำเป็นที่ให้คนในครอบครัวของผู้เอาประกันสามารถใช้ชีวิตอยู่ได้ตามความจำเป็นทั้งในด้านของเงินสดและรายได้ โดยจำนวนปีที่พิจารณาอาจเป็นตลอดระยะเวลาจนกว่าลูกคนเล็กจะเรียนจบปริญญาตรี หรืออย่างน้อยตลอดระยะเวลาที่เหลือของการทำงาน หักออกด้วยสินทรัพย์ทั้งหมดที่มีอยู่ หรือคาดว่าจะได้จากการจ่ายผลประโยชน์ให้กับทายาทเมื่อผู้เอาประกันเสียชีวิต
บทสรุป
การวางแผนอนาคตอาจดูน่ากังวลหรือซับซ้อน แต่มันคือสิ่งสำคัญในการดูแลครอบครัว ซึ่งสามารถเริ่มต้นได้ง่ายๆ ด้วยการจัดการสินทรัพย์และหนี้สินตั้งแต่เนิ่นๆ เช่น การทำพินัยกรรมหรือการประกันชีวิต
สิ่งเหล่านี้ไม่เพียงช่วยเพิ่มความมั่นคงทางการเงินให้ครอบครัว แต่ยังเป็นเงินก้อนสำคัญเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินหรือเหตุการณ์ไม่คาดฝัน การวางแผนมรดกยังช่วยป้องกันปัญหาความขัดแย้งในครอบครัว และมั่นใจได้ว่าทรัพย์สินจะถูกแบ่งตามความตั้งใจ รวมถึงการวางแผนการใช้ชีวิตเพื่อให้ดำเนินต่อไปได้สำหรับทายาทและคนที่เรารัก
หากท่านสนใจข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการทำพินัยกรรมหรือการประกันชีวิต สามารถหาแหล่งข้อมูลได้จากเว็บไซต์ของ กรมการปกครอง (www.dopa.go.th) หรือ ธนาคารแห่งประเทศไทย (www.bot.or.th) ซึ่งมีข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในการวางแผนทรัพย์สินและมรดก