จาก "เป๋าตัง" สู่ Virtual Bank 4 ปีต่อไปของ "ผยง ศรีวณิช" ซีอีโอแบงก์กรุงไทย 3 สมัยติด

Personal Finance

Banking & Bond

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

จาก "เป๋าตัง" สู่ Virtual Bank 4 ปีต่อไปของ "ผยง ศรีวณิช" ซีอีโอแบงก์กรุงไทย 3 สมัยติด

Date Time: 2 ธ.ค. 2567 08:09 น.

Summary

  • มติคณะกรรมการธนาคารกรุงไทยที่เห็นชอบให้ต่ออายุ ผยง ศรีวณิช ให้ดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ต่ออีก 1 วาระ นับเป็นวาระที่ 3 ติดต่อกัน มีกำหนด 4 ปี ตั้งแต่วันที่ 8 พ.ย.2567 ถึงวันที่ 7 พ.ย.2571

Latest

ลงทุนแบบ “เฌอปราง” จุดเริ่มต้นเงินเดือน 1.2 หมื่นบาท หัวใจสำคัญ คือ ตั้งเป้าหมายทางการเงิน

มติคณะกรรมการธนาคารกรุงไทยที่เห็นชอบให้ต่ออายุ ผยง ศรีวณิช ให้ดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ต่ออีก 1 วาระ นับเป็นวาระที่ 3 ติดต่อกัน มีกำหนด 4 ปี ตั้งแต่วันที่ 8 พ.ย.2567 ถึงวันที่ 7 พ.ย.2571

ทำให้ผยงกลายเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงไทยคนแรก ที่ดำรงตำแหน่ง 3 วาระติดต่อกัน อยู่ในเก้าอี้ยาวนานที่สุด 12 ปี (นับไปอีก 4 ปีจากนี้)

ความพิเศษของผยง ผ่านความเห็นของ 1 ในบอร์ดแบงก์ กรุงไทย ระบุ เขาเป็นคน “หายาก” เชี่ยวชาญเรื่องดิจิทัล ไอที ซึ่งเป็นทิศทางที่สถาบันการเงินน้อยใหญ่ต้องมุ่งหน้าไปสู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อธนาคารกรุงไทยได้ยื่นขอใบอนุญาตประกอบกิจการธนาคารไร้สาขา (Virtual Bank) ซึ่งการประกาศรายชื่อผู้ได้รับคัดเลือกจะมีขึ้นกลางปี 2568

ผยงยังทำให้ธนาคารกรุงไทย ซึ่งย้อนหลังไปไม่นาน ล่าช้ากว่าคู่แข่งในธุรกิจโมบายแบงกิ้ง 5-7 ปี สามารถพลิกฟื้นสถานการณ์ขับเคลื่อนแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” สู่การเป็นซุปเปอร์แอปด้านการเงิน (และมากกว่า) จนถูกใช้เป็นช่องทางรองรับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ได้แก่ คนละครึ่ง ชิมช็อปใช้ ช่วยให้ประชาชนเข้าถึงฟังก์ชันด้านการเงินหลากหลาย ด้วยจำนวนผู้ใช้งานมากกว่า 40 ล้านคน

จนปัจจุบัน...แอปเป๋าตังขยายสู่บริการสุขภาพ จองคิวฉีดวัคซีนโควิด-19 บริการด้านการลงทุนทั้งพันธบัตร หุ้นกู้ ทองคำ การกู้ยืมเพื่อการศึกษา และการซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาล เป็นอาทิ

4 ปีแห่งประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของธนาคารกรุงไทยที่จะมีผู้บริหารเบอร์ 1 เดินหน้าสานต่อนโยบายได้ยาวนานต่อเนื่อง 12 ปีจะเป็นเช่นไร...ไปฟังมุมมองของ ผยง ศรีวณิช ถ่ายทอดผ่าน “ทีมเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ดังต่อไปนี้

“การหาที่โตในประเทศไทย ให้โอกาสคนไทยได้เติบโตตามศักยภาพภายใต้กลไกของธนาคาร คือเป้าหมายสำคัญที่ธนาคารกรุงไทยจะเดินหน้าต่อจากนี้”

เศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญกับปัญหาเติบโตช้า การลงทุนต่ำ เศรษฐกิจเราเหมือน Zombie Economy มนุษย์ในฐานะทรัพยากรหลัก เหมือนถูกให้ยาสเตียรอยด์ คุ้นชินกับผลข้างเคียง ซึม ไม่พร้อมแข่งขัน ทั้งๆที่มีการประเมินกันว่า ใน 10 ปีข้างหน้า เศรษฐกิจเอเชียจะเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก แต่หากไทยยังอยู่ในสภาพนี้ เชื่อว่าจะไม่สามารถเกาะเทรนด์เศรษฐกิจเอเชียที่กำลังขยายตัวได้ เพราะเราโตต่ำเกินไป

สิ่งที่ธนาคารกรุงไทยจะทำ คือการโฟกัสตลาดในประเทศ สิ่งนี้สวนทางกับธนาคารอื่น ที่พยายามออกนอกประเทศเพื่อหาการเติบโต แต่เราเชื่อว่าการทำให้ชีวิตคนไทยดีขึ้น การสร้างความเข้มแข็งให้กับคนไทยด้วยกัน ให้สามารถเติบโตตามศักยภาพ ด้วยการใช้กลไกสถาบันการเงิน จะเป็นปัจจัย 1 ที่ช่วยให้คนชั้นกลางลงมา สังคม ชุมชนหลุดจากวงจรเศรษฐกิจนอกระบบได้

การยื่นขอใบอนุญาตธนาคารไร้สาขา (Virtual Bank) จึงจะเป็น 1 ในยุทธศาสตร์สำคัญของเรา ด้วยการจับมือกับพันธมิตรอย่างเอไอเอสและโออาร์ ทำให้เราเข้าถึงระบบนิเวศน์ที่ไม่เคยเข้าถึงได้มาก่อน เข้าถึงข้อมูลที่ปกติไม่มี

Virtual Bank จะเป็น 1 ในเครื่องยนต์ที่ช่วยลดช่องว่างทางการเงิน ด้วยการเข้าถึงที่สะดวกขึ้น ดอกเบี้ยการให้กู้ยืมที่เหมาะสมกว่าปัจจุบัน ช่วยให้เกิดการเข้าถึงกลุ่มคนที่ไม่เคยเข้าถึงเงินกู้หรือเข้าถึงไม่ได้ (Underserved) คนกลุ่มนี้ตกอยู่ในวังวนหนี้นอกระบบเป็นจำนวนมาก หากได้รับการช่วยเหลือ แก้ปัญหา เราอาจพอมองเห็นอนาคตของเศรษฐกิจไทยที่สดใสขึ้น

นอกจากการเติบโตในประเทศแล้ว ธนาคารกรุงไทยยังจะเดินหน้าพัฒนาบุคลากรดิจิทัลต่อไป ผ่านการจัดตั้งบริษัทใหม่ เช่น บริษัท อินฟินิธัส บาย กรุงไทย จำกัด (Infinitas By Krungthai) ที่มีบริษัท กรุงไทยแอดไวซ์เซอรี่ จำกัด บริษัทย่อยของธนาคารถือหุ้น 100% ให้บริการดิจิทัลแพลตฟอร์ม รวมถึงบริการต่างๆที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี เช่น แอปเป๋าตัง, บริษัท Arise by Infinitas ซึ่งร่วมทุนกับกลุ่มแอคเซนเชอร์ เพื่อหวังแก้ปัญหาการพัฒนาบุคลากรที่ยังไม่ได้ตามมาตรฐานสากล, บริษัท IBM Digital Talent for Business (ตัวย่อ IBMDT) ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างธนาคารกรุงไทยและไอบีเอ็ม เพื่อทำงานยกระดับด้านไอทีของธนาคาร เช่น การพัฒนาศักยภาพบุคลากร การดำเนินงานด้านไอที การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของธนาคาร โดยปัจจุบันมีนวัตกร (Digital Talents) (ผู้มีความสามารถด้านไอที) จาก 20 คน เพิ่มเป็นกว่า 1,000 คนแล้ว

ส่วนการปลูกฝังวัฒนธรรมองค์กรใหม่ เริ่มทำมาตั้งแต่ 8 ปีที่แล้ว เป็นงานระยะยาวที่ใช้เวลา ที่ผ่านมาธนาคารกรุงไทยติดอยู่ในวิกฤติศรัทธา องค์กรขาดความเชื่อมั่น ตั้งแต่คดีปล่อยกู้ให้กลุ่มกฤษดามหานคร ไปจนคดีปล่อยสินเชื่อให้บริษัท เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ จำกัด (มหาชน) หรือ EARTH เป็นต้น ซึ่งปรากฏเป็นข่าวทุจริตหน้า 1 หนังสือพิมพ์ตลอดเวลา ผลพวงดังกล่าวทำให้พนักงานหวาดผวา ไม่มั่นใจ เกิดความรู้สึก “ไม่ทำงาน จะได้ไม่ผิด”

“ที่ผ่านมา ผมว่าธนาคารกรุงไทยมีมืออาชีพเข้ามาบริหารต่อเนื่อง แต่การทำงานของพนักงานโดยรวม ก็ยังสามารถ ผิดพลาดได้ด้านกฎระเบียบ ซึ่งอาจมีทั้งพลาดโดยสุจริตและตั้งใจ รวมทั้งสถานะของแบงก์กรุงไทย ซึ่งเป็นธนาคารพาณิชย์ของรัฐ ทำให้เราถูกครอบด้วยกฎเกณฑ์และกฎหมายมากกว่าธนาคารพาณิชย์ทั่วไป มีแรงดึงหน่วงมากกว่าคู่แข่ง ขณะเดียวกันก็ถูกคาดหวังให้สามารถแข่งขันเคียงบ่าเคียงไหล่ได้ในฐานะ 4 แบงก์ยักษ์”

ธนาคารกรุงไทยจึงต้องประกาศนโยบายไม่ทนต่อการทุจริต (Zero Tolerance) ภายใต้โครงการ “กรุงไทยคุณธรรม” ยกระดับมาตรฐานด้านบรรษัทภิบาล ผ่านการขับเคลื่อนผ่านยุทธศาสตร์ 3 ป. ได้แก่ “ปลูกจิตสำนึก ป้องกัน และปรับเปลี่ยน” โดยในปี 2562 ได้มีการทบทวนนโยบายต่อต้านการรับ-ให้สินบนและคอร์รัปชัน ให้ครอบคลุมการดำเนินงานของธนาคารในทุกกระบวนการ เพื่อให้มีความโปร่งใสและป้องกันการแสวงหาประโยชน์ในทางมิชอบ ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม รวมถึงพฤติกรรมการล็อบบี้ (Lobbying)

“นอกจากนั้น ตอนที่ผมเข้ามา องค์กรมีลำดับชั้นอาวุโสค่อนข้างสูง มีอยู่ช่วงหนึ่งที่งดรับพนักงาน ทำให้มีพนักงานสูงอายุจำนวนมาก อายุเฉลี่ยเคยอยู่ที่ 55 ปี ขณะนี้อยู่ที่ประมาณ 40 ปีเศษ มีพนักงานที่ไม่เคยถูกเปลี่ยนย้ายงานจำนวนมาก ทำให้มีความรู้กระจุกอยู่ด้านเดียว เป็นไซโลที่หมักหมม ทั้งที่การเรียนรู้งานใหม่ๆ จะทำให้พนักงานค้นพบศักยภาพของตัวเองและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง”

“แบงก์กรุงไทยยังเคยเป็นองค์กรที่เล่นพรรคพวก มีพี่ใหญ่ผู้มีบารมีคุ้มกัน เราเคยทำดัชนีเรื่องร้องเรียน เมื่อก่อนพบว่าเรื่องร้องเรียน 10 เรื่อง จริงแค่ 2 เรื่อง แต่ขณะนี้เรื่องร้องเรียน 10 เรื่อง จริงเสีย 8 เรื่อง มิหนำซ้ำบางครั้งยังเป็นเรื่องที่คนที่อยู่ในทีมนั้น ร้องเรียนมาเองเพราะอยากให้เกิดการปรับเปลี่ยน แก้ไข”

นี่เป็นการค่อยๆปรับวัฒนธรรมองค์กรใหม่

“เมื่อก่อนเวลาให้ประกาศเป้าหมายหรือแผนของแต่ละหน่วยงาน แต่ละคนจะทำแผนมาแบบ 4 ส. 5 ส. เช่น สะอาด สุขใจ สะดวก สบาย อะไรก็ว่าไป แต่ตอนนี้เราปรับเป็นให้ทุกหน่วยงานเสนอแผนงานที่เป็นปัจจุบัน ตอบโจทย์อนาคตและมีความยั่งยืน เสนอไอเดียแล้วเอามาประกวดแข่งขัน คนชนะจะมีโอกาสไปศึกษางานที่ซิลิคอนวัลเลย์ สหรัฐอเมริกา หรือเทียบเท่า โดยกำหนดไอเดียครอบคลุม 3 ขอบเขต ได้แก่ การเพิ่มทักษะและพัฒนาทักษะของพนักงาน การทำงานสอดประสานระหว่างหน่วยงาน และการใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI)”

ระหว่างนั้นธนาคารกรุงไทยยังต้องพยายามขยับขยายจากการเป็นธนาคารของคนต่างจังหวัด ธนาคารที่มีจำนวนสาขามากที่สุด เพราะต้องถูกเข้าถึงได้และต้องเป็นเครื่องมือสนับสนุนภาครัฐ เป็นกลยุทธ์แบบ “ป่าล้อมเมือง” เริ่มทำ KTB Net Bank เมื่อปี 2560 ช้ากว่าแบงก์อื่น 5-7 ปี การจะไปต่อโมบายแบงกิ้ง หมายความว่าเราต้องวิ่งเร็วกว่าคนอื่น จึงจะไปได้เท่าเขา เพราะถ้าวิ่งเร็วเท่าเขา ก็แค่ตามหลังอยู่ดี

ความเจ็บปวดหรือ Pain Point ดังกล่าว ก่อให้เกิดโมเดลใหม่ ข้ามขั้นไปสู่การเป็น “Open Finance” โดยมีกลุ่มอาลีบาบาจากจีนเป็นต้นแบบ น่ายินดีที่บอร์ดสมัยนั้นที่มี ดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ เป็นประธานบอร์ดให้การสนับสนุน สร้างแพลตฟอร์มกลางขึ้นมา เพื่อให้บริการได้หลากหลาย และนั่นเป็นจุดเริ่มต้นของแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” ในปี 2562

สิ่งที่หลายคนไม่รู้คือ “เป๋าตัง” เกิดขึ้นก่อนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐราว 1 ปีครึ่ง เราพัฒนาแอปนี้ขึ้นมาก่อน เริ่มจากบริการ “Travel Card” บัตรเดบิตที่ผูกติดกับแอปเพื่อการใช้จ่ายในต่างประเทศ จากนั้นจึงถูกใช้เป็นช่องทางการเงินระหว่างภาครัฐและประชาชน ภายใต้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจหลากหลาย หลังจากที่ธนาคารพาณิชย์อื่นปฏิเสธการทำระบบให้

กระนั้น คนทั่วไปอาจคิดว่าธนาคารกรุงไทยได้ประโยชน์จากข้อมูลส่วนบุคคลมากมายดังกล่าว แต่ในความเป็นจริงข้อมูลทั้งหมด อยู่ในการควบคุมของหน่วยงานรัฐ ยกตัวอย่าง ข้อมูลของประชาชนภายใต้โครงการคนละครึ่ง เป็นข้อมูลที่กระทรวงการคลังเป็นผู้ดูแล (Data Controller) ไม่ใช่ธนาคารกรุงไทย ธนาคารจึงไม่สามารถนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ได้ หากไม่ได้รับการยินยอม

ปิดท้ายด้วยปัญหาโลกแตกเรื่องการปรับลดอัตราดอกเบี้ย กรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงไทยขอสวมหมวก 2 ใบตอบในฐานะประธานสมาคมธนาคารไทยด้วยว่า คิดว่าดอกเบี้ยของไทยไม่ได้สูงเกินไป แต่ที่เป็นปัญหาน่าจะอยู่ที่การกระจายสภาพคล่องยังไม่มีประสิทธิภาพพอ.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ