ตั้งแต่ 1 เม.ย.ที่ผ่านมา แบงก์ชาติได้ออกมาตรการ “แก้หนี้เรื้อรัง” โดยต้องการให้ลูกหนี้ที่วนเวียนอยู่ในวงจรหนี้ ลูกหนี้ที่ต้องผ่อนส่งหนี้มานานหลายปี แต่ปิดจบหนี้ไม่ได้สักที ให้มีโอกาสหลุดพ้นหนี้
โฟกัสไปยังกลุ่มลูกหนี้ที่เป็นลูกหนี้สินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับดูแลของ ธปท. ที่มีเงินกู้กำหนดชำระตามรอบบิล สามารถชำระขั้นต่ำได้ และชำระแล้วก็อาจกู้ใหม่ได้อีกตามวงเงินที่เหลือ ทำให้ไม่มีกำหนดเวลาว่าต้องจ่ายกี่งวดจึงจะจบ เช่น สินเชื่อบัตรกดเงินสด และสินเชื่อหมุนเวียนอื่นๆ
ลูกหนี้เหล่านี้เป็นลูกหนี้ดีจ่ายหนี้อย่างสม่ำเสมอ ไม่ได้เป็นหนี้เสีย เพียงแต่จ่ายน้อย ทำให้ส่วนที่จ่ายไปเป็นการชำระค่าดอกเบี้ยเป็นส่วนใหญ่ ไม่ได้ไปตัดต้น หรือตัดต้นได้น้อย หรือบางส่วนผ่อนไปแล้วก็กู้กลับออกมาใช้จ่ายอีก เหมือนผู้ป่วยที่กินยาบรรเทาอาการมานาน แต่ยังไม่ได้รักษาที่ต้นเหตุ ทำให้ปิดหนี้ไม่ได้เสียที
แบงก์ชาติเห็นว่าปล่อยไว้จะมีลูกหนี้ที่ต้องผ่อนหนี้ไปจนแก่ บางคนอาจผ่อนไปจนตาย จึงออกมาตรการแก้หนี้สำหรับลูกหนี้ที่มีหนี้เรื้อรังขั้นรุนแรง ซึ่งพบว่าผ่อนรายงวดมาแล้วนานกว่า 5 ปี แต่ตัดจ่ายดอกเบี้ยมากกว่าเงินต้น และเป็นลูกหนี้ที่มีรายได้น้อยกว่า 10,000-20,000 บาทต่อเดือน โดยให้เปลี่ยนจากสินเชื่อเดิมมาเป็นสินเชื่อผ่อนชำระเป็นงวด แลกกับการได้ลดดอกเบี้ยเหลือไม่เกิน 15% ต่อปี จากไม่เกิน 25% ต่อปี แต่จะต้องไม่ก่อหนี้เพิ่มจนกว่าจะจบหนี้ก้อนนี้แล้ว ยกเว้นจำเป็น เช่น เจ็บป่วย อุบัติเหตุ ตกงาน เพื่อให้ปิดจบหนี้ได้ใน 7 ปี
อ่านมาถึงตรงนี้! มาตรการดังกล่าวน่าเป็นข่าวดี แต่จากจำนวนลูกหนี้เรื้อรังขั้นรุนแรงประมาณ 4.8 แสนราย จนถึงวันนี้มีผู้ที่สมัครใจแก้หนี้อยู่ที่หลักหมื่นรายเท่านั้น!!!
แล้วเหตุผลที่ลูกหนี้ส่วนใหญ่ถึงไม่สนใจแก้หนี้มาจากอะไร กรณีแรกมาจากการเป็นหนี้หมุนเวียนหลายตัว และที่ผ่านมาใช้วิธีกู้จากบัตรใบแรกไปจ่ายใบที่ 2 จ่ายใบที่สองไปจ่ายใบที่ 3 หากปิดบัตรใบใดใบหนึ่งก็จะทำให้ผ่อนส่งไม่ได้ครบทั้งจำนวน หรือหากจะรวมหนี้ทุกบัตรเป็นหนี้เดียว รายได้ที่มีก็ไม่เพียงพอที่ผ่อนส่งอีก ส่วนกรณีที่สองคือ มีบัตรใบเดียว แต่ใช้หมุนเงินเพื่อใช้จ่ายประจำเดือน เช่น ผ่อนคืน 1,000 บาท กู้เพิ่ม 500 บาท ไปแบบนี้เรื่อยๆ
นอกจากนั้น เงื่อนไขที่ลูกหนี้รับยากที่สุดก็คือ จะไม่สามารถกู้เงินได้อีกจนกว่าจะจบหนี้ ซึ่งใช้เวลานานถึง 7 ปี และอาจจะยาวนานกว่านั้นอีก หากธนาคารประเมินว่าเป็นลูกหนี้ที่มีศักยภาพในการผ่อนส่งน้อย
ยิ่งไปกว่านั้น ล่าสุดในสถานการณ์ที่เศรษฐกิจไทยฟื้นช้านักเศรษฐศาสตร์บางสำนักได้ออกมาระบุว่า การแก้หนี้ พักหนี้ ปรับโครงสร้างที่ทำอยู่ในขณะนี้ ไม่ได้ช่วยเพิ่มศักยภาพที่แท้จริงให้กับลูกหนี้ ตรงกันข้ามภาวะที่สินเชื่อที่ชะลอตัวลง คนกู้หนี้เพิ่มไม่ได้ กำลังหวนกลับมาทำร้ายเศรษฐกิจไทยให้ชะลอตัวมากขึ้น
เมื่อวันนี้เศรษฐกิจไทยไม่สามารถโตจากการเป็น “หนี้” ต่อเนื่องเหมือนที่เคยโตมาได้ คนไทยรายได้ไม่พอใช้จ่าย เงินรัฐที่เพิ่มเข้ามาจากการกระตุ้นยังไม่เพียงพอ ก็มีโอกาสเป็นไปได้ที่การขยายตัวของไทยจะสาละวันเตี้ยลง.
มิสเตอร์พี
คลิกอ่านคอลัมน์ “กระจก 8 หน้า” เพิ่มเติม