“วางแผนมรดก” มักเป็นเรื่องท้าย ๆ ในการวางแผนการเงินที่หลายคนจะนึกถึง เพราะด้วยความคิดที่ว่า “ยังไม่ถึงช่วงบั้นปลายชีวิต” ลูกหลานจัดสรรปันส่วนกันเองได้ รวมทั้งมองว่า ต้องมีสินทรัพย์และเงินหลายล้านบาทก่อนค่อยวางแผน แต่ในสถานการณ์ปัจจุบันอย่าลืมว่า ด้วยมาตรการ ข้อกำหนด และกฎหมายทำให้การบริหารจัดการภาษีมรดกและการส่งต่อความมั่งคั่งมีความซับซ้อนมากขึ้น
ดังนั้นเมื่อเกิดความไม่แน่นอนอาจมาแบบไม่ทันตั้งตัว “การวางแผนมรดก” เพื่อส่งต่อความมั่งคั่งจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ทุกครอบครัวไม่ควรมองข้าม เพราะเมื่อมีความมั่งคั่งสะสมมาระดับหนึ่ง เราจะต้องมีการวางแผนส่งต่อความมั่งคั่งให้กับลูกหลาน และด้วยเหตุนี้ภาษีมรดกจึงมีความสำคัญและละเอียดอ่อนที่จะต้องพิจารณาในหลากหลายด้าน
เดอะวิสดอมกสิกรไทยจึงได้จัดสัมมนา “THE WISDOM Wealth Decoded Talk” รู้ลึก รู้ทันภาษี ส่งต่อความมั่งคั่งอย่างมั่นคงอย่างยั่งยืน ที่จะช่วยเจาะลึกทุกประเด็นของการวางแผนจัดการทรัพย์สินและภาษีที่ต้องรู้ พร้อมคำแนะนำและกลยุทธ์การบริหารจัดการภาษี ส่งต่อความมั่งคั่งอย่างมั่นคงและยั่งยืน โดยได้รับเกียรติจากผู้เชี่ยวชาญ 2 ท่าน คือ อาจารย์จรัญญา แสงสุขดี กรรมการผู้จัดการ บริษัท แท็กซ์ สเปเชียลลิสท์ จำกัด และอุมาพันธุ์ เจริญยิ่ง รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) ที่จะมาช่วยไขข้อข้องใจ
ในครั้งนี้ Thairath Money ได้สรุปประเด็นสำคัญจากงานสัมมนา THE WISDOM Wealth Decoded Talk มาเล่าให้ฟังดังนี้
รู้ลึก รู้ทันภาษี ส่งต่อความมั่งคั่งอย่างยั่งยืน
อาจารย์จรัญญา แสงสุขดี กรรมการผู้จัดการ บริษัท แท็กซ์ สเปเชียลลิสท์ จำกัด กล่าวว่า เครื่องมือในการบริหารจัดการและส่งต่อความมั่งคั่งอย่างมั่นคงและยั่งยืนมีหลากหลายรูปแบบ คือ 1. พินัยกรรม 2. ยกให้ 3. บริษัทโฮลดิ้ง
4. ประกันชีวิต
ซึ่งก่อนอื่น หากเราจะคิดวางแผนเรื่องของมรดกที่มีในมือ ต้องสำรวจก่อนว่า “เรามีทรัพย์สินประเภทใดบ้าง” โดยจัดทำเป็นระบบ ผ่านการจดบันทึก อาทิ เงินสด สิทธิเรียกร้อง อสังหาริมทรัพย์ สังหาริมทรัพย์ และสิทธิบัตร
หลังจากนั้น สำรวจต่อว่าเรามีหลักทรัพย์อื่น ๆ ด้วยหรือไม่ อาทิ เงินลงทุนต่าง ๆ เช่น หุ้นสามัญ หุ้นกู้ กองทุน รวมไปถึงกรณีของลิขสิทธิ์ต่าง ๆ ก็นับเป็นทรัพย์สินที่สามารถสร้างรายได้ในอนาคตที่ยั่งยืนให้กับลูกหลานด้วยเช่นกัน
อีกทั้งในทรัพย์สินเหล่านั้น เรามีให้ใครถือแทนเราบ้าง หรือแม้กระทั่งที่ดินที่ถือร่วมกับคนอื่น เพื่อที่จะได้รู้ว่า คนที่ถือร่วมวันนี้อยู่ที่ไหน ได้มีการส่งต่อมรดกสู่ครอบครัวแล้วหรือยัง ซึ่งจะนำไปสู่การวางแผนต่อ โดยที่อย่างน้อยการสำรวจเหล่านี้ต้องทำปีละ 1 ครั้ง
และเมื่อได้มาแล้ว ก็จะรู้ว่าทรัพย์สินมีกี่ประเภท และมีอะไรบ้าง ต่อมาต้องพิจารณาว่า ภาษีที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินเหล่านี้มีอะไรบ้าง หมายความว่านั่นคือต้นทุนที่เราต้องบริหารจัดการ เพราะไม่ว่าจะเป็นภาษีจากบุคคลธรรมดา ภาษีมรดก ภาษีรับให้ ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ภาษีธุรกิจเฉพาะ ทั้งหมดนี้ล้วนเป็น “ภาษีที่เกี่ยวข้องกับการโอนทรัพย์สิน”
สิ่งเหล่านี้ถือเป็นข้อมูลสำคัญในการบริหารภาษีให้มีประสิทธิภาพและถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อส่งต่อความมั่งคั่งและยั่งยืนให้กับทายาท
เรื่องต้องรู้ในการจัดการทรัพย์สิน
1. ภาษีมรดก ภาษีรับให้
ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่จัดเก็บจากทรัพย์สินที่ให้หรือรับแก่บุตร คู่สมรส ญาติ หรือบุคคลอื่น ก่อนผู้ให้เสียชีวิต
ทั้งนี้ ภาษีการรับให้มีขึ้นเพื่อให้สอดคล้องกับการจัดเก็บภาษีการรับมรดก ป้องกันไม่ให้เกิดการหลีกเลี่ยงภาษีการรับมรดก
ภาษีการรับมรดกก็คือ ภาษีที่เก็บจากผู้รับมรดกแต่ละรายที่มูลค่ามรดกสุทธิรวมเกิน 100 ล้านบาท โดยมีกรมสรรพากรเป็นหน่วยงานจัดเก็บภาษี และผู้รับมรดกเป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษี และจัดเก็บภาษีในอัตรา 5-10% สำหรับมรดกส่วนที่เกิน 100 ล้านบาท
อย่างเช่น เงินได้จากการยกที่ดินให้แก่บุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย (ไม่รวมบุตรบุญธรรม), เงินที่ได้รับจากการอุปการะจากบุพการี ผู้สืบสันดาน หรือคู่สมรส และเงินได้ที่ได้รับจากการให้โดยเสน่หาจากบุพการี ผู้สืบสันดาน หรือคู่สมรส ไม่เกิน 20 ล้านบาทต่อปี ไม่ต้องเสียภาษี ส่วนที่เกินเสียภาษี 5%
2. การทำสัญญาระหว่างผู้ถือหุ้นที่เป็นสมาชิกครอบครัว จะเป็นการจัดระเบียบว่าจะดำเนินธุรกิจอย่างไร ซึ่งสัญญาระหว่างผู้ถือหุ้นจะช่วยสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับสมาชิกในครอบครัว เพื่อให้ธุรกิจครอบครัวยั่งยืนต่อไป
3. การทำสัญญาระหว่างคู่สมรส
ในเชิงกฎหมายที่จะได้ผลอย่างดีคือ สัญญาที่เกิดก่อนการสมรส เพื่อให้เกิดความสมานฉันท์ในวันข้างหน้า
4. การทำบันทึกถือทรัพย์สินแทนพ่อแม่
โดยการยกทรัพย์สินให้ วิธีจัดการที่ดีที่สุดคือ 1 ชื่อ 1 คน 1 แปลง
5. การทำธรรมนูญครอบครัว
เป็นการสร้างกติกา มารยาท หรือข้อตกลงร่วมกันระหว่างสมาชิกในครอบครัว ภายใต้การดูแลธุรกิจกงสี เพื่อกำหนดบทบาท หน้าที่ สิทธิประโยชน์ และแนวทางการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้นจากธุรกิจของครอบครัว ซึ่งต้องมีรูปแบบและลายลักษณ์อักษร และทุกคนต้องเห็นพ้องต้องกัน
จรัญญา กล่าวว่า การทำโฮลดิ้ง หรือ ธรรมนูญครอบครัวไม่ใช่เรื่องที่จำเป็นต้องทำ แต่ต้องดูว่ามันถูกจริตกับเราหรือไม่ อย่าง บริษัทโฮลดิ้ง
เป็นธุรกิจที่เกิดขึ้นมาโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ “เก็บเงินครอบครัว” ดังนั้นการจัดการอย่างรู้เท่าทันจะช่วยทำให้เราดูแล “กงสี” ได้อย่างยั่งยืน บริษัทโฮลดิ้ง จึงเป็นที่เก็บเงินภายใต้ระบบของบริษัทจำกัด
“การจัดการของ บริษัทโฮลดิ้ง จัดการในรูปแบบของผู้ถือหุ้น กรรมการของบริษัท ซึ่งจะใช้การโหวตเป็นมติ ทุกคนมีเสียงเท่ากัน อีกทั้งนโยบายหนึ่งที่กฎหมายให้สิทธิ์คือ การเก็บเงินภายใต้รูปแบบของการ “ปันผล” ทั้งหมดนี้คือ กระบวนการจัดเก็บเงินอย่างมีรูปแบบ ที่จะเป็นการสะสมความมั่งคั่งไปได้หลายเจเนอเรชัน”
ขณะเดียวกันการทำ บริษัทโฮลดิ้ง สามารถแยกธุรกิจที่เป็นความเสี่ยง กับธุรกิจที่เก็บเงิน หรือ “Family Bank” ออกจากกันได้ ซึ่งเราจะสามารถลดความเสี่ยงจากธุรกิจกงสีได้ แต่กระนั้นต้องมีการทบทวนธุรกิจว่าจะมีอะไรที่จะส่งผลต่อกงสีหรือไม่ เมื่อนั้นเราอาจจะต้องตั้งบริษัทให้ชัดเจน แยกบริษัท เพื่อที่เกิดอะไรขึ้น ผลจะได้ไม่กระทบกับบริษัท
แต่เมื่อมีบริษัทแล้ว จำเป็นต้องมีโฮลดิ้งหรือไม่? จรัญญา มองว่า ต้องดูว่าธุรกิจนั้นมีความเสี่ยงต่ำ และการจัดการเรื่องเงินมีความรัดกุมหรือไม่ ซึ่งต้องอาศัยเครื่องมือที่เป็นเอกสารทางกฎหมาย โดยจะเป็นการกำหนดกติกาในการอยู่ร่วมกันของบริษัท อาทิ ข้อบังคับของบริษัท หนังสือรับรองบริษัท วัตถุประสงค์ของบริษัท โดยเอกสารทั้ง 3 สำคัญอย่างมาก ที่เราจำเป็นต้องศึกษาเพื่อไม่ให้มีจุดอ่อน
“ขณะเดียวกัน เอกสารที่ควรตรวจสอบคือ บัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น สมุดทะเบียนผู้ถือหุ้น หรือใบทะเบียนหุ้น เป็นเช็กลิสต์ว่า วันนี้การจัดการกงสีที่อยู่ในรูปแบบบริษัทมีอะไรบ้างที่เราสามารถปรับเปลี่ยนให้แข็งแรงขึ้น เพื่อในวันหนึ่งเห็นไม่ตรงกันจะได้ไม่มีปัญหาตามมา”
ส่วนภาษีที่มีผลกระทบต่อตัวเรา ไม่ว่าจะเป็นที่ดิน เงินสด เงินฝาก ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับ
1.ภาษียกให้
- ไม่ต้องเสียภาษี (ไม่เกิน 20 ล้านบาทต่อปี)
- เสียภาษี (ส่วนที่เกิน 20 ล้านบาทต่อปี)
2.ภาษีมรดก
- ทำพินัยกรรม (เสียภาษี/ยกเว้นภาษี)
- ไม่ได้ทำพินัยกรรม (เสียภาษี/ยกเว้นภาษี)
“การทำพินัยกรรมจะเป็นเครื่องมือที่ดีที่สุด ยกเลิกเมื่อไรก็ได้ แต่หากไม่ทำพินัยกรรมอันตรายที่สุด เพราะเราไม่รู้ว่าจะเกิดเหตุไม่คาดคิดเมื่อไร ดังนั้นเวลาที่เราไม่ได้ทำพินัยกรรม หุ้นจะถูกแบ่งให้กับทายาทโดยธรรม ลูก พ่อแม่ ภรรยา และญาติ ดังนั้น หุ้นที่เราไม่ได้จัดการอาจจะไปอยู่ในมือผู้ที่อ่อนแอได้ นอกจากนี้ ยังมีเรื่องภาษี ถ้าเรามีการให้มรดกกับทายาท 100 ล้านบาท ส่วนที่ไม่เกิน 100 ล้านบาท ไม่ต้องเสียภาษี แต่สำหรับมรดกส่วนที่เกิน 100 ล้านบาท จะถูกจัดเก็บภาษีในอัตรา 5% ดังนั้นเราจะสามารถพิจารณาโดยการทำพินัยกรรมได้ ในกรณีที่ไม่อยากให้ทรัพย์สินเกิน 100 ล้านบาท สามารถทยอยให้ได้ในกรณีที่ยังมีชีวิตอยู่” จรัญญา กล่าว
แล้ว “ที่ดิน” มีการวางแผนอย่างไร?
ถ้าเราสามารถจัดกลุ่มที่ดิน ทั้งมรดกตกทอด ที่ดินที่ซื้อไว้สำหรับขาย และที่ดินเอาไว้พัฒนาเป็นโครงการขาย ต้องแยกเป็นกอง ๆ และใช้กฎหมายจากการรับให้มาประยุกต์ใช้ จะทำให้เราได้เห็นทรัพย์
“หากที่ดินเป็นมรดกตกทอด แนะนำเก็บเข้า บริษัทโฮลดิ้ง ส่วนที่ดินที่เก็บไว้เพื่อพัฒนา เพื่อขาย แนะนำนำเข้าบริษัท เพราะหากที่ดินกำไรสูงมาก เป็นในนามบุคคลธรรมดาจะเสียภาษีเยอะ แต่เมื่อเป็นนิติบุคคลจะเสียภาษี 20% และเมื่อเราแยกแปลงชัดเจน เราสามารถขายหุ้นของแต่ละแปลงได้”
ดังนั้น ที่ดินแต่ละที่ ควรพิจารณาว่าจะนำไปทำอะไร อาทิ เก็บ พัฒนา ขาย หรือกงสี เพื่อรู้ต้นทุนภาษี และเป็นการตรวจสอบและบริหารจัดการที่ถูกต้องตามกฎหมาย
ขณะที่กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการโอนทรัพย์สิน จะมีภาษีมรดก ภาษีจากการรับให้ รวมทั้งค่าธรรมเนียมการโอนที่ดิน
นอกจากนี้ยังมีในเรื่องของ “การจัดการทรัพย์สิน: อสังหาริมทรัพย์” ที่ต้องแยกให้ชัดในที่ดินแต่ละชิ้น ซึ่งแนวคิดนี้เป็นสิ่งที่สามารถกำหนดทิศทางของการบริหารจัดการที่ดินได้
1.ต้องการขายในอนาคต ควรถือไว้ในนามบุคคลต่อไป
2.ต้องการให้ถือร่วมกัน (ที่ตั้งโรงงาน, บริษัท) ควรโอนเข้าบริษัทโฮลดิ้งของครอบครัว
3.ต้องการพัฒนาเพื่อเป็นรายได้เลี้ยงครอบครัว ควรโอนเข้าบริษัทที่ดินครอบครัว เพื่อพัฒนา
4.ต้องการยกให้บุตร ควรมีราคาไม่เกิน 20 ล้านบาทต่อปี ยกให้ไม่เสียภาษี
มูลค่ามรดกที่ต้องเสียภาษี: พ.ร.บ.ภาษีการรับมรดก
ทั้งนี้ในส่วนของ พ.ร.บ.ภาษีรับมรดก ของไทยอยู่ที่ 5% ซึ่งต่างประเทศอยู่ที่ 40-50% สะท้อนได้จากที่ประเทศญี่ปุ่นมีจำนวนบ้านร้างเยอะมาก เนื่องจากรับภาษีมรดกบ้านไม่ไหว ซึ่งของไทยแนวโน้มยังอยู่ที่ 5% ถือเป็นต้นทุนและค่าใช้จ่าย โดยที่คู่สมรสจดทะเบียนไม่เสีย หากเป็นบุตร ถือเป็นผู้ได้รับมรดก จากเจ้ามรดกแต่ละราย ไม่ว่าจะรับมาในคราวเดียว หรือหลายคราว ถ้ามรดกที่ได้รับมรดกแต่ละรายรวมกัน มีมูลค่าเกินกว่า 100 ล้านบาท ต้องเสียภาษีส่วนที่เกิน 100 ล้านบาท อัตรา 5% มาจากเจ้าจะเป็นภาษีรับให้
สำหรับอัตราภาษี: พ.ร.บ.ภาษีการรับมรดก พ.ศ.2558 แบ่งออกเป็น
- เสียภาษีอัตรา 5% จากส่วนที่เกิน 100 ล้านบาท ผู้รับจะต้องเป็นบุพการี หรือผู้สืบสันดาน
- เสียภาษีอัตรา 10% จากส่วนที่เกิน 100 ล้านบาท ผู้รับไม่ใช่บุพการี ผู้สืบสันดาน
- เสียภาษีอัตรา 10% จากส่วนที่เกิน 100 ล้านบาท ผู้รับเป็นนิติบุคคล ที่บุคคลสัญชาติไทยถือหุ้นตั้งแต่ 50%
- ทรัพย์สินที่ต้องเสียภาษี: พ.ร.บ.ภาษีการรับมรดก พ.ศ.2558
1.อสังหาริมทรัพย์
2.หลักทรัพย์ ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์ฯ
3.เงินฝาก หรือสิทธิเรียกร้องจากสถาบันการเงิน หรือบุคคลอื่นที่ได้รับเงินนั้นไว้
4.ยานพาหนะที่มีหลักฐานทางทะเบียน
5.ทรัพย์สินทางการเงิน ที่กำหนดเพิ่มขึ้นโดยพระราชกฤษฎีกา
ส่วนการตีราคาทรัพย์ที่ต้องเสียภาษีมรดก มีดังนี้
1.อสังหาริมทรัพย์ โดยใช้ราคาประเมินจากกรมที่ดินหักด้วยภาระที่ถูกรอนสิทธิ์ตามกฎกระทรวง
2.หุ้น หุ้นในตลาดใช้ราคาเปิดของวันที่รับมรดก ส่วนหุ้นนอกตลาดใช้ราคามูลค่าตามบัญชี Book Value ถ้าหุ้นบริษัทโฮลดิ้งให้ใช้ราคา BV+BV ของบริษัทลูก
3.การแปลงค่าเงินตราต่างประเทศ เงินตราต่างประเทศให้แปลงค่าตามหลักสรรพากร
ขณะเดียวกันวิธีเสียภาษีมรดก สามารถแบ่งออกได้ดังนี้
- วันที่ยื่นแบบ คือ ภายใน 150 วัน นับตั้งแต่วันรับมรดก ณ สรรพากรพื้นที่
- เบี้ยปรับ ยื่นแล้วเจ้าพนักงานฯ ต้องทำให้เสร็จภายใน 1 ปี และไม่มีเบี้ยปรับ เงินเพิ่ม หากพบว่าเสียเพิ่ม เว้นแต่ยื่นเท็จ
- เสียชีวิตก่อนยื่นแบบ ให้ผู้จัดการมรดกยื่นแทนภายใน 150 วัน นับแต่วันแต่งตั้ง และทายาทที่มีสิทธิได้รับมรดกยื่นแทน หากไม่มีผู้จัดการมรดก
4 เทคนิค “วางแผนส่งต่อความมั่งคั่ง” โดยใช้ “ประกันชีวิต”
ด้าน อุมาพันธุ์ เจริญยิ่ง รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) ให้คำแนะนำว่า การทำประกันชีวิตเป็นรูปแบบของการส่งต่อมรดกที่ช่วยลดความเสี่ยงที่เกิดขึ้นในชีวิต และสามารถนำมาลดหย่อนภาษี โดยให้คำแนะนำดังนี้
1. การทำทุนประกันเท่ากับจำนวนภาษีมรดกที่ต้องจ่าย (นำทุนประกันมาจ่ายภาษี)
2. นำทรัพย์สินส่วนเกินบางอย่าง (ส่วนที่เกิน 100 ล้านบาท - กรณีพ่อแม่ให้บุตร) มาแปลงเป็นกรมธรรม์ประกันชีวิต
3. ย้ายเงินให้ถูกที่ถูกทาง เพื่อความเท่าเทียม แบ่งเงินให้เท่ากับมูลค่าโดยใช้ประกันเข้ามาช่วย
4. มรดกก้อนใหญ่สร้างได้ด้วยเงินก้อนเล็ก นำเงินเท่าที่ต้องการส่งต่อให้ลูก สร้างโดยกรมธรรม์ประกันชีวิต
สำหรับแบบประกันที่จะเป็นตัวช่วยในการวางแผนส่งมอบมรดก ตามรูปแบบที่ได้กล่าวมาข้างต้น ได้แก่ ประกันชีวิต พรีเมียร์ เลกาซี่ คลายกังวลเรื่องภาษีมรดกที่อาจเกิดขึ้น ตอบโจทย์เรื่องการส่งต่อมรดกได้เป็นอย่างดี เพราะทุนประกันสูง เริ่มต้นตั้งแต่ 10 ล้านบาทขึ้นไป และสามารถทำทุนประกันได้สูงสุดถึง 500 ล้านบาทเลยทีเดียว
ประกันชีวิต พรีเมียร์ เลกาซี่* ส่งต่อความมั่งคั่งจากรุ่น...สู่รุ่น อย่างไม่สะดุด
- ให้ความคุ้มครองชีวิตสูง คุ้มครองตั้งแต่วันแรกที่กรมธรรม์อนุมัติ ยาวนานถึงอายุ 99 ปี
- จ่ายเบี้ยสั้นหรือยาว เลือกเองได้ เลือกชำระเบี้ยครั้งเดียว 5 ปี 10 ปี หรือจ่ายถึงครบอายุ 99 ปี
- ส่งมอบหลักประกันให้ครอบครัว ได้ตามเจตนารมณ์ที่ต้องการ
- ช่วยบริหารภาษีได้อย่างมีประสิทธิภาพ สินไหมมรณกรรมไม่ถือเป็นมรดก ไม่มีภาระทางภาษี
- ค่าเบี้ยลดหย่อนภาษีได้ สูงสุด 100,000 บาท ตามเกณฑ์ที่กรมสรรพากรกำหนด
คำเตือน
- ผู้ซื้อควรทำความเข้าใจในรายละเอียดความคุ้มครองและเงื่อนไขก่อนตัดสินใจทำประกันภัยทุกครั้ง
- เป็นกรณีกรมธรรม์ไม่ได้ระบุผู้รับประโยชน์หรือระบุไว้แต่เสียชีวิตก่อนหรือพร้อมกับผู้เอาประกันภัย ผลประโยชน์ตามกรมธรรม์จะตกแก่กองมรดกของผู้เอาประกันภัย