10 เทคนิค กู้เงินได้ง่ายขึ้น สิ่งที่ผู้ประกอบการต้องรู้! เงินเข้า มากกว่า เงินออก แผนธุรกิจต้องชัด

Personal Finance

Banking & Bond

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

10 เทคนิค กู้เงินได้ง่ายขึ้น สิ่งที่ผู้ประกอบการต้องรู้! เงินเข้า มากกว่า เงินออก แผนธุรกิจต้องชัด

Date Time: 6 ต.ค. 2567 10:15 น.

Video

เปิดทริกวางแผนการเงิน เพื่อชีวิตที่มีประสิทธิภาพ

Summary

  • รวม 10 เทคนิค กู้เงิน - ขอสินเชื่อธนาคารให้ผ่าน! สิ่งที่ผู้ประกอบการต้องรู้! ประวัติการเงินดี เงินเข้า ต้องมากกว่า เงินออก แผนธุรกิจที่ชัดเจน มีชัยไปกว่าครึ่ง และ อย่าลืมศึกษา แนวโน้มธุรกิจให้สอดคล้องกับแผนงานที่ต้องการขยาย

Latest


ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน, มีประวัติการเงินน้อย เรื่อยไปจนถึงขาดความรู้ในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน นี่คืออุปสรรคใหญ่ๆ ที่ทำให้ธุรกิจ SMEs ไทยประสบปัญหา ไปได้ต่อไม่ไกล ทั้งๆ ที่มีศักยภาพและมีความสำคัญในระบบเศรษฐกิจ กับการเป็นแหล่งจ้างงานขนาดใหญ่ สูงนับ 12 ล้านตำแหน่ง

โดยผู้ประกอบการเจ้าของธุรกิจจำนวนไม่น้อย กำลังประสบกับปัญหาทางการเงิน ไม่ว่าจะเป็นเงินทุนหมุนเวียน ไม่มีหลักทรัพย์เพียงพอ และเผชิญกับเกณฑ์การปล่อยสินเชื่อที่เข้มงวดขึ้นของธนาคาร ทำให้ต้องเลิกล้มกิจการไปอย่างน่าเสียดาย

อย่างไรก็ตาม พบว่าส่วนหนึ่งการที่ภาคธุรกิจต่างๆ หรือเจ้าของกิจการต่างๆ มักถูกธนาคารปฏิเสธสินเชื่อ ยังมาจากความไม่ชัดเจนในแผนธุรกิจ และขาดการเตรียมพร้อมที่ดีก่อนยื่นกู้ขอสินเชื่ออีกด้วย

10 เทคนิคกู้เงินธนาคาร ฉบับผู้ประกอบการมือใหม่

สำหรับเทคนิคเอสเอ็มอียื่นกู้สินเชื่อให้ผ่าน! ข้อมูลจากสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ได้แนะนำไว้ 10 เทคนิค ดังนี้

1. ประวัติดี มีชัยไปกว่าครึ่ง

เราเป็นใคร ทำธุรกิจอะไร ประวัติการชำระหนี้ที่ผ่านมาเป็นอย่างไร สิ่งนี้ถือเป็นด่านแรกที่ธนาคารจะตรวจสอบ เพื่อดูว่าลูกค้ารายนี้เป็นลูกค้าที่ดีหรือไม่ เคยติดยอดค้างชำระอะไร ซึ่งในปัจจุบัน การยื่นขอสินเชื่อธนาคาร ไม่ว่าจะเป็นสินเชื่อ SME หรือสินเชื่อส่วนบุคคล ซื้อรถ ซื้อบ้าน ทุกคนต้องแสดงตัวตนเรื่องประวัติการชำระหนี้ จากการตรวจสอบประวัติเครดิต หรือที่เรียกว่า “เครดิตบูโร”

2. เงินเข้ามากกว่าเงินออก
การเตรียมบัญชีของกิจการหรือธุรกิจ ธนาคารจะขอดูเรื่องการเดินบัญชีว่ามีเงินเข้ามากกว่าเงินออกหรือไม่ โดยจะดูเป็นค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 6 เดือน หรือ 1 ปี ขึ้นอยู่กับอายุของกิจการ

3. แผนธุรกิจต้องชัดเจน
แผนการใช้เงินกู้ไปลงทุนทำธุรกิจนั้น ต้องมีความชัดเจนว่าเป็นการสร้างรายได้มากกว่ารายจ่าย และรายได้นั้นยังสูงพอที่จะจ่ายดอกเบี้ยและเงินต้นได้ อีกทั้งการจะกู้เงินได้มากน้อยแค่ไหน ขึ้นอยู่กับแผนงานของธุรกิจด้วยว่าเรามีความรอบคอบในการจัดแผนงานหรือไม่

4. เอกสารที่เป็นประโยชน์เตรียมไปให้พร้อม
ได้แก่ เอกสารของตัวผู้กู้ เช่น หนังสือรับรอง หนังสือจดทะเบียนบริษัท ในกรณีบุคคลธรรมดา เช่น ทะเบียนบ้าน บัตรประชาชน ต้องเตรียมไปให้พร้อม รวมถึงเอกสารที่เป็นประโยชน์ต่อกิจการ

5. ศึกษาข้อมูลสินเชื่อ

การปรึกษาธนาคารเกี่ยวกับสินเชื่อที่จะขอว่ามีกี่ประเภท แบบไหนบ้าง สินเชื่อแบบไหนควรเข้าไปปรึกษาที่ธนาคารใด หรือจะสอบถามผ่านธนาคารที่มีบัญชีอยู่แล้ว เพื่อประเมินโอกาสใช้คืนหนี้ ที่ต้องสัมพันธ์กับอายุของหนี้ที่จะกู้

6. ให้ข้อมูลที่ถูกต้อง ครบถ้วน ไม่ปกปิด
ในการกู้สินเชื่อสำหรับผู้ประกอบการ ธนาคารจะตรวจสอบประวัติในทางอื่น เพื่อประกอบความมั่นใจ โดยเฉพาะพฤติกรรมการค้างชำระหนี้ผ่านเครดิตบูโร ฉะนั้น ข้อมูลกิจการที่ให้กับธนาคารต้องชัดเจน ถูกต้อง

7. อาจกู้ไม่ได้ 100% ต้องเตรียมสัดส่วนเงินทุนเองด้วย
ทั้งทุนของเราเองกับเงินที่กู้ธนาคาร ปกติในการกู้ ธนาคารจะไม่ได้ให้กู้ร้อยเปอร์เซ็นต์เพื่อเอาไปลงทุน แต่จะต้องมีสัดส่วนการลงทุนที่มีส่วนเงินของเจ้าของกิจการด้วย โดยทุนในที่นี้ไม่จำเป็นต้องเป็นเงินสดอย่างเดียว อาจจะเป็นรถที่ซื้อใช้ในกิจการ บ้านที่เป็นที่อาศัยและออฟฟิศในตัว หรือเป็นที่สต๊อกสินค้า ให้แจ้งกับธนาคารว่าเป็นส่วนที่กิจการต้องการใช้ลงทุนเบื้องต้น

8. ศึกษาแนวโน้มของธุรกิจให้สอดคล้องกับแผนงาน
สิ่งที่ขาดไม่ได้ คือ การศึกษาโอกาสในอนาคตธุรกิจที่ทำอยู่นั้นเป็นอย่างไร เพราะในการขอสินเชื่อ ธนาคารจะมองแผนธุรกิจที่วางไว้ว่าต้องไปในทิศทางเดียวกันกับศักยภาพของธุรกิจในปัจจุบันและแนวโน้มในอนาคตด้วย

9. เตรียมข้อมูลสำรอง เพื่อใช้ในการเจรจา
ควรเตรียมเอกสารหรือข้อมูล เพื่อที่จะให้กับธนาคารเพิ่มเติม และค่อยๆ หาเหตุผลประกอบ กรณีที่ธนาคารไม่สามารถให้สินเชื่อเต็มวงเงินตามที่เราต้องการได้

10. หลักประกันต้องมี
การขอสินเชื่อ คือการสร้างความมั่นใจให้กับธนาคารว่า กิจการจะสามารถชำระเงินคืนได้ ในระยะเวลาและจำนวนเงินที่ธนาคารกำหนด ซึ่งมาพร้อมกับความเสี่ยง ผู้กู้จึงจำเป็นวางหลักประกัน เช่น ที่ดิน สำนักงาน เพื่อให้ธนาคารมีความเชื่อมั่นในการอนุมัติสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการ SMEs มากขึ้น

ทั้งนี้ ก่อนจะขอสินเชื่อใดๆ ก็ตาม ควรพิจารณาความจำเป็นในการใช้เงิน มองหาสินเชื่อที่เหมาะกับวัตถุประสงค์ที่จะใช้ ซึ่งมีอยู่หลากหลาย ทั้งธนาคารของรัฐหรือธนาคารพาณิชย์ พร้อมกับประเมินความสามารถในการชำระหนี้ของตนเอง และเตรียมเอกสารหลักฐานต่างๆ ให้พร้อมมากที่สุดอีกด้วย

ติดตามข้อมูลด้านเศรษฐกิจและนโยบายรัฐบาล กับ ThairathMoney ได้ที่ 

ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้  https://www.facebook.com/ThairathMoney


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ