การเก็บเงินเพื่อเกษียณอาจฟังดูเป็นเรื่องไกลตัวสำหรับวัยรุ่น แต่ความจริงคือยิ่งเริ่มเร็วเท่าไหร่ ก็ยิ่งดีต่ออนาคตเท่านั้น ในครั้งนี้ “Thairath Money” จะพาไปทำความรู้จักกับ “กฎ 25 เท่า” โดยสมาคมนักวางแผนการเงินไทย หนึ่งในวิธีที่ช่วยให้รู้ว่าต้องเก็บเงินเท่าไรสำหรับการใช้จ่ายหลังเกษียณ เพื่อให้มี #การเงินดีชีวิตดี และอิสรภาพทางการเงินหลังจากอายุ 60 ปี
สมาคมนักวางแผนการเงินไทย ได้อธิบายไว้ว่า “กฎ 25 เท่า” (The Rule of 25) เป็นการคำนวณง่าย ๆ ที่ช่วยให้รู้ว่าต้องเก็บเงินเท่าไหร่ก่อนเกษียณ โดยเริ่มจากการคำนวณค่าใช้จ่ายรายปีที่จะต้องใช้เมื่อเกษียณ แล้วคูณด้วย 25 เท่า ซึ่งกฎนี้บอกว่า “ถ้าคุณมีเงินจำนวนนี้ คุณจะสามารถใช้จ่ายได้ตลอดชีวิตอย่างสบาย ๆ”
สำหรับวิธีการคำนวณ ให้เริ่มจากคิดว่าตอนนี้ มีค่าใช้จ่ายต่อเดือนเท่าไร ซึ่งต้องประกอบด้วย ค่าใช้จ่ายจำเป็น เช่น ค่าสินค้าอุปโภคบริโภค ค่าผ่อนและ/เช่าบ้าน ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าก๊าซหุงต้ม ค่าโทรศัพท์ ค่าอินเทอร์เน็ต ค่าขนส่งและเดินทาง ค่าดูแลสุขภาพ ค่าประกัน เป็นต้น และนำไปคูณกับ 12 ก็จะได้ค่าใช้จ่ายรายปี
จากนั้น นำค่าใช้จ่ายรายปีที่ได้ ไปคูณกับ 25 จะได้จำนวนเงินที่ควรมีในบัญชีเพื่อให้มีเงินใช้เพียงพอในช่วงเกษียณ เช่น
ตัวอย่าง : หากตอนนี้มีค่าใช้จ่ายเดือนละ 20,000 บาท ค่าของคุณก็จะเท่ากับ 20,000 x 12 = 240,000 บาท ดังนั้น หากใช้กฎ 25 เท่า คุณควรเก็บเงินไว้ประมาณ 240,000 x 25 = 6,000,000 บาทก่อนเกษียณ
อย่างไรก็ดี หลักการวางแผนการเงินเพื่อเกษียณ ค่าใช้จ่ายหลังเกษียณน่าจะอยู่ประมาณ 70% ของค่าใช้จ่ายก่อนเกษียณ ดังนั้น จากตัวอย่างหากปัจจุบันมีค่าใช้จ่ายเดือนละ 20,000 บาท ค่าใช้จ่ายหลังเกษียณต่อเดือนจะอยู่ที่ประมาณ 14,000 บาท (168,000 บาทต่อปี) เมื่อคำนวณด้วยกฎการเงิน 25 เท่า ต้องเก็บเงินให้ได้ก่อนเกษียณประมาณ 4,200,000 บาท
การเก็บเงินเพื่อเกษียณไม่ใช่เรื่องไกลตัว ยิ่งเริ่มต้นเร็ว ก็ยิ่งทำให้ชีวิตหลังเกษียณสะดวกสบายขึ้น และ “กฎ 25 เท่า” จะช่วยให้วางแผนเก็บเงินได้ง่าย ไม่ต้องซับซ้อน เหมาะสำหรับคนที่เพิ่งเริ่มต้นออมเงิน และยังช่วยให้มั่นใจได้ว่าจะมีเงินใช้จ่ายหลังเกษียณอย่างเพียงพอ
การคำนวณด้วย “กฎ 25 เท่า” มีเงื่อนไขว่า จำนวนเงินที่เตรียมเอาไว้จะสามารถใช้ได้ประมาณ 30 ปีหลังจากเกษียณ แต่มีข้อจำกัด คือ ยังไม่ได้นำปัจจัยในเรื่องเงินเฟ้อ ที่จะส่งผลต่ออำนาจซื้อของเงิน ภาวะตลาดการลงทุน และค่าใช้จ่ายด้านการดูแลสุขภาพ หรือค่าใช้จ่ายอื่นที่ไม่คาดคิดเข้ามาพิจารณาด้วย
ดังนั้น เมื่อเกษียณแล้วจึงแนะนำให้ไปใช้ “กฎการถอนเงิน 4%” หรือ การถอนเงินออกมาใช้เพียง 4% ต่อปี เพื่อลดโอกาสที่เงินจะหมดเร็ว เช่น หากเก็บเงินได้ 4,200,000 บาท คุณจะถอนมาใช้ได้ปีละ 4,200,000 x 4% = 168,000 บาท ซึ่งเป็นตัวเลขที่เพียงพอต่อการใช้จ่ายอย่างสมดุล
ขณะเดียวกัน สมาคมนักวางแผนการเงินไทย ยังแนะนำให้ลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำ-ปานกลาง เพื่อเน้นการรักษาเงินต้นเป็นหลัก อย่างการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนในระยะยาว 5 ปีขึ้นไป และสูงกว่าอัตราเงินเฟ้อโดยเฉลี่ย เช่น พันธบัตรรัฐบาล หรือกองทุนรวมที่เน้นความมั่นคง เช่น กองทุนรวมตลาดเงิน กองทุนรวมตราสารหนี้ กองทุนรวมผสม เป็นต้น
อ่านข่าวการลงทุน กับ Thairath Money ได้ที่
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้