เงินเดือนเท่าไหร่ถึงจะ “ซื้อบ้าน” ได้? คงเป็นคำถามคาใจของใครหลาย ๆ คน โดยเฉพาะ First Jobber หรือกลุ่มคนที่เพิ่งเริ่มต้นและก้าวเข้ามาสู่การทำงานเป็นครั้งแรก หรือแม้แต่มนุษย์เงินเดือนทั่วไป ที่ดูเหมือนว่าการจะมีบ้านเป็นของตัวเองสักหลังในยุคนี้เป็นเรื่องไกลเกินตัวมากขึ้น
สะท้อนจากข้อมูลสำรวจของ SCB EIC ที่พบว่า คนไทยรายได้ไม่ถึง 50,000 บาท/เดือน ระบุไม่กล้า “ซื้อบ้าน” เหตุเพราะกังวลค่าใช้จ่ายและรายได้ในอนาคต มิหนำซ้ำ ความจริงตรงหน้าคือ ราคาที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ อยู่ในระดับที่สูงกว่ารายได้เฉลี่ยคนไทยถึง 21 เท่า เท่ากับคน ๆ หนึ่งอาจต้องเก็บเงินถึง 21 ปีถึงจะซื้อบ้านได้ เพราะบ้าน-คอนโดฯ แพงขึ้นปีละ 9% แต่ดัชนีค่าจ้างขยับช้าราว 1.2% เท่านั้น
ขณะเครดิตบูโรเพิ่งออกมาเผยสถานการณ์ “สินเชื่อที่อยู่อาศัย” ว่าคนรายได้ไม่ถึง 30,000 บาทกู้บ้านผ่านยาก เนื่องจากแบกหนี้อื่น ๆ มาเต็มเพดานแล้วก่อนมาซื้อบ้าน ทั้งหนี้บัตรเครดิตและหนี้รถ อีกทั้งคุณภาพการจ่ายหนี้แย่ลง มีผลต่อการที่แบงก์จะอนุมัติสินเชื่อ แม้จะมีรายได้สูงก็ตาม
อย่างไรก็ตาม หากเรามีความมุ่งมั่นและวางแผนจะกู้ซื้อบ้านหรือกู้ซื้อคอนโดฯ สักห้อง ผ่านการเตรียมความพร้อมมาอย่างดี โอกาสดังกล่าวก็ไม่ไกลเกินเอื้อมซะทีเดียว ขอแค่มีความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการวางแผนการเงินสำหรับการ “ซื้อบ้าน” หลังแรกอย่างถูกต้อง สานต่อความฝัน แม้รายได้ไม่สูงก็มีบ้านได้
ทั้งนี้ ข้อมูลเผยแพร่ของบริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) ให้หลักการเตรียมพร้อมไว้ 7 ข้อของการซื้อบ้านหลังแรก เพื่อให้มั่นใจว่าจะทำให้การซื้อบ้านเป็นไปอย่างราบรื่นและไม่มีปัญหาทางการเงินระยะยาว
1. กำหนดงบประมาณราคาบ้าน
- ประเมินรายได้ของตัวเอง เช่น เงินเดือน เงินออม
- ประเมินความสามารถในการผ่อนชำระค่าบ้านไม่ควรเกิน 30-40% ของรายได้
- คำนวณค่าใช้จ่ายอื่น ๆ เช่น ค่าใช้จ่ายการโอนบ้าน ค่าส่วนกลาง ค่าประกัน ค่าซ่อมบำรุง ต่อเติม เป็นต้น
2. การเก็บเงินดาวน์บ้าน
- เงินดาวน์บ้านควรมี 10-20% ของราคาบ้าน
3. ตรวจสอบและสร้างเครดิต
- รักษาเครดิต อย่าให้ติดเครดิตบูโร
- ชำระหนี้ให้ตรงเวลา
- หากเครดิตไม่ดีควรปรับปรุงวางแผน
4. เปรียบเทียบสินเชื่อแต่ละธนาคาร
- ควรเปรียบเทียบอัตราดอกเบี้ยอย่างน้อย 3 ธนาคาร
- เงื่อนไขโปรโมชั่นและระยะเวลา
- ศึกษาเรื่องดอกเบี้ยคงที่และลอยตัว
5. วางแผนค่าใช้จ่ายหลังการซื้อบ้าน
- สร้างกองทุนฉุกเฉินเพื่อการซ่อมแซมต่อเติม
- คำนวณค่าใช้จ่ายที่จะเกิด เช่น ค่าส่วนกลาง ค่าประกัน ค่าน้ำ ค่าไฟ และค่าสาธารณูปโภค
6. เตรียมเอกสารซื้อบ้าน
- เอกสารรายได้ต่าง ๆ เอกสารการยื่นภาษีประจำปี
- สเตทเม้นท์เดินบัญชี
- สลิปเงินเดือน
- หนังสือรับรองเงินเดือน
- สำเนาทะเบียนบ้าน
- สำเนาบัตรประชาชน
- สำเนาเอกสารเปลี่ยนชื่อ
- สำเนาทะเบียนสมรส
- อื่น ๆ ตามที่ธนาคารร้องขอ
7. วางแผนและจัดการค่าใช้จ่ายระยะยาว
- ตรวจสอบว่าสามารถผ่อนชำระได้อย่างสม่ำเสมอ
- ครบ 3 ปี ควรทำการรีไฟแนนซ์หรือรีเทนชั่นเพื่อให้ดอกเบี้ยถูกลง
ด้านความสามารถในการกู้ซื้อบ้าน อ้างอิงข้อมูลแนะนำเหล่ามนุษย์เงินเดือนของ Jobsdb ระบุว่า บ้านถือเป็นสินทรัพย์ที่มีราคาสูง บางอาชีพเงินเดือนเหยียบแสนยังไม่มีบ้านเป็นของตัวเอง ซึ่งจริง ๆ มีหลักเกณฑ์ง่าย ๆ ที่ควรพิจารณาก่อนจะตัดสินใจซื้อบ้านดังนี้
เลือกบ้านให้เหมาะสมกับกำลังผ่อน โดยเราควรมีเงินเก็บเพื่อดาวน์บ้านอย่างน้อย 20% และจำนวนเงินที่จะต้องผ่อนในแต่ละเดือนไม่ควรเกิน 40% ของรายได้ทั้งหมด
ตัวอย่างการคำนวณของผู้กู้ เงินเดือน 30,000 บาท
ผ่อนบ้านจำนวนเงินสูงสุด 30,000 x 40% = 12,000 บาท
หมายความว่าผู้กู้มีเงินเดือน 30,000 บาท สามารถผ่อนบ้านจำนวนเงินสูงสุดที่ 12,000 บาทต่อเดือน แต่ถ้าเรามีหนี้สินอื่น ๆ เป็นภาระติดตัว ความสามารถในการผ่อนก็จะลดลง เพราะต้องแบ่งไปชำระหนี้ด้วย ซึ่งจะส่งผลทำให้ระยะเวลาในการผ่อนชำระนานขึ้นไปอีก
ในช่วงที่เรามีภาระใหญ่ผ่อนบ้าน พยายามอย่าสร้างหนี้ใหม่ที่ไม่จำเป็น อดทนอดกลั้นกับสินค้าผ่อน 0% เพราะถ้าเรามีภาระหนี้พัวพันอยู่จะทำให้ความสามารถในการผ่อนบ้านลดลง ยิ่งมีประวัติการชำระหนี้ไม่ตรงต่อเวลา บางเดือนก็ช้า บางเดือนก็เบี้ยว เครดิตบูโรจะขึ้น Blacklist แน่นอน ควรทยอยปิดหนี้บางอย่างให้หมดก่อนจะตัดสินใจผ่อนบ้าน จะได้ผ่อนอย่างสบายใจ และธนาคารก็จะอนุมัติวงเงินได้ตามที่เราต้องการ เป็นต้น
ที่มา: บมจ.ศุภาลัย, Jobsdb
ติดตามข่าวสารด้านการตลาด กับ Thairath Money ได้ที่
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ https://www.facebook.com/ThairathMoney