เคยไหม? เงินเดือนแทบไม่พอใช้ หรือต้องใช้แบบเดือนชนเดือนตลอดเวลา หากคุณกำลังเจอปัญหานี้อยู่ ลองมารู้จักสูตรการบริหารเงินแบบง่าย ๆ ที่อาจช่วยให้หลุดพ้นจากวงจรนี้ได้ เพื่อให้มี #การเงินดีชีวิตดี
ในครั้งนี้ “Thairath Money” จะพาไปรู้จักกับสูตร “50-30-20” โดย สมาคมนักวางแผนการเงินไทย เพื่อช่วยให้คุณสามารถควบคุมการใช้จ่ายได้อย่างมีประสิทธิภาพ วางแผนได้อย่างเหมาะสม มีเงินเหลือเก็บ และนำพาคุณสู่ความมั่นคงทางการเงินในระยะยาว เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการหลุดพ้นจากกับดัก “เดือนชนเดือน”
สมาคมนักวางแผนการเงินไทย เผยแพร่บทความ เรื่องสูตรการใช้เงินแบบ 50-30-20 ไว้ว่า เป็นวิธีการบริหารจัดการเงินแบบแบ่งสัดส่วนรายได้ตามที่วางแผนเอาไว้ เพื่อให้เกิดความชัดเจนต่อการใช้จ่ายในแต่ละเดือน ซึ่งรายได้ที่นำมาคิดจะต้องเป็นรายได้สุทธิหลังหักภาษี เงินสมทบเข้าในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และหักเข้ากองทุนประกันสังคม จากนั้นจึงนำมาจัดแบ่งเป็น 3 ก้อน
ก้อนแรก 50% คือ ค่าใช้จ่ายที่จำเป็น เงินก้อนนี้จะนำมาใช้จ่ายเพื่อความจำเป็นต่อการดำรงชีวิต เป็นค่าใช้จ่ายประจำในแต่ละเดือน เช่น ค่ากิน ค่าผ่อนบ้าน ผ่อนรถ ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าสาธารณูปโภคต่าง ๆ ค่าเดินทาง ค่าน้ำมัน ค่าดูแลสุขภาพ จ่ายหนี้บัตรเครดิต รวมถึงโอนเงินให้พ่อแม่ ดังนั้น ก่อนตัดสินใจต้องแน่ใจว่าจ่ายเพื่อความจำเป็นจริง ๆ
ก้อนที่สอง 30% คือ ค่าใช้จ่ายตามความต้องการ เป็นเงินใช้จ่ายเพื่อความสุขส่วนตัวหรือสิ่งที่ต้องการ เช่น กินข้าวนอกบ้าน ช้อปปิ้ง ท่องเที่ยว สมาชิกบริการสตรีมมิ่ง อย่างไรก็ตาม ถึงแม้เงินก้อนนี้จะเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อสร้างความสุขแต่ควรตัดสินใจให้รอบคอบว่าควรจ่ายจริง ๆ หรือไม่ ซึ่งเงื่อนไขสำคัญของเงินก้อนนี้ คือ ใช้จ่ายในงบประมาณ และเดือนไหนเหลือก็นำไปเก็บออม
ก้อนที่สาม 20% คือ เก็บออมและลงทุน เงินก้อนนี้ คือ เงินเก็บออมและลงทุน โดยให้แบ่งออกเป็นส่วน ๆ ตามความเหมาะสมของตัวเอง ก้อนแรกให้นำไปเก็บออมเอาไว้เผื่อฉุกเฉิน ก้อนถัดมาเก็บออมเพื่อเป้าหมายอื่น ๆ เช่น ดาวน์บ้าน ซื้อรถ จ่ายค่าเทอมลูก จ่ายเบี้ยประกัน ก้อนสุดท้ายนำไปลงทุนเพื่อเตรียมไว้ใช้หลังเกษียณ
สำหรับประโยชน์ที่ได้จากการใช้สูตรการใช้เงิน 50-30-20 จะช่วยให้มีความรับผิดชอบต่อการใช้จ่ายของตัวเอง เพราะจะรู้ว่าเงินที่จ่ายออกไปเพราะ “ความจำเป็น” หรือ “ความต้องการ” ซึ่งจะทำให้มีมุมมองการใช้จ่ายเงินที่ชัดเจนขึ้น รวมถึงเห็นข้อผิดพลาดการใช้เงิน จากนั้นก็นำมาปรับปรุงให้ดีขึ้น
อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ยังไม่คุ้นเคยกับการแบ่งเงิน 50-30-20 ก็สามารถเริ่มต้นด้วยการจดบันทึกรายรับ รายจ่าย เพื่อทำความเข้าใจพฤติกรรมการใช้จ่ายของตัวเองให้ดีขึ้น จากนั้นก็วิเคราะห์เพื่อดูว่าการใช้จ่ายเป็นไปตามการแบ่ง 50-30-20 ได้ดีแค่ไหน ซึ่งอาจใช้เวลา 1-2 เดือนกับการติดตามค่าใช้จ่าย และเมื่อทุกอย่างลงตัวก็จะพบว่าในแต่ละเดือนมีรายรับเท่าไร เงินออมมากน้อยแค่ไหน ที่สำคัญรู้ว่าเงินที่หามาได้หมดไปกับการใช้จ่ายอะไรบ้าง
และการแบ่งเงินด้วยสูตร 50-30-20 อาจไม่เหมาะสำหรับบางคน จึงควรเพิ่มความยืดหยุ่นให้กับตัวเองเพื่อช่วยให้แผนการควบคุมค่าใช้จ่ายดียิ่งขึ้น พูดง่าย ๆ ปรับสูตรได้ตามความเหมาะสมของรายได้ ค่าใช้จ่าย ภาระหนี้สิน อายุ หรือเป้าหมายการเงินได้
อ่านข่าวการลงทุน กับ Thairath Money ได้ที่
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้