กลายเป็นหนังไทยเรื่องล่าสุดที่ทำรายได้ทะลุ 100 ล้านบาทเป็นที่เรียบร้อยแล้ว สำหรับ “วิมานหนาม” โดยค่าย GDH ขึ้นแท่นอันดับ 1 หนังทำเงินสูงสุดสู่สัปดาห์ที่ 3 ท่ามกลางเสียงชื่นชมและรีวิว ขอบคุณทั้งทีมงาน นักแสดง และผู้เขียนบท ที่พาคนดูเข้าไปสัมผัสกับเรื่องราวของคนกลุ่ม LGBTQ ในอีกมุมที่ไม่มีใครกล้ากล่าวถึงมากนัก
งานละเอียด โปรดักชั่นดี โลเคชั่นถึง และอารมณ์ที่ฟาดฟันกันอย่างสมจริงตลอดทั้งเรื่อง ยังแจ้งเกิดนักแสดงหลักอย่าง “เจฟ - ซาเตอร์, อิงฟ้า - วราหะ และเก่ง - หฤษฎ์” ให้ถูกพูดถึงติดหน้าสื่อโซเชียลมีเดียอย่างต่อเนื่องอีกด้วย
วิมานหนามยังถูกเชิดชู นี่คือการสร้างมาตรฐานใหม่ให้กับวงการหนังไทย กับการนำเสนอเรื่องราวของคู่รักเพศทางเลือก (LGBTQ) มาผสมผสานกับเรื่องราวของครอบครัวและค่านิยมทางสังคมได้อย่างลงตัว
ผ่านตัวละครหลัก เสก, ทองคำ ที่ลำบาก ขายทุกสิ่งทุกอย่าง ร่วมกันทำสวนทุเรียนมานาน 5 ปี ก่อนสามารถไถ่ถอนโฉนดที่ดินที่ติด “จำนอง” ตั้งแต่รุ่นพ่อออกมาใส่กรอบติดฝาบ้าน ทรัพย์สินร่วมที่เปรียบเป็นทะเบียนสมรสของคนทั้งสอง แม้กฎหมายจะยังไม่ยอมรับ ก่อนถึงจุดพลิกผันของเรื่อง
เมื่อเสกเกิดอุบัติเหตุพลัดตกต้นทุเรียนเสียชีวิตในวันต่อมา นำมาสู่การปรากฏตัวของ “แม่แสง” แม่ของเสก และ “โหม๋” หญิงสาวไร้สัญชาติ ที่แรกเริ่มถูกสื่อว่าเป็นเพียงเด็กที่แม่แสงเก็บมาเลี้ยง 2 ตัวละครที่มาพร้อมกับประโยคเด็ดวรรคทอง
“ของ ๆ ลูก มันก็เป็นของ ๆ แม่ ขนาดลูกยังก็ยังเป็นทรัพย์สมบัติของพ่อแม่ไปตลอดชีวิตเลย”
หรือ
“เกิดมาฉันไม่เคยมีบุญวาสนาเหมือนคนอื่นเค้าเลยนะแม่ ช่วยยกบ้านให้หนูเถอะ”
แน่นอน การจากไปของเสก เจ้าของที่ดินที่ไม่มีแม้แต่คำสั่งเสีย ได้กลายเป็นบ่อเกิดของสงครามแย่งชิงมรดก ระหว่างทองคำ (คนรักเสก) ที่เชื่อว่าทั้งเงินทองและแรงที่ตนเองลงไป ถึงกระทั่งยอมขายทรัพย์สินส่วนตัวมาไถ่ถอนให้กับชายที่รัก อย่างไรเสีย ที่ดินสวนทุเรียนก็ควรต้องตกเป็นของตัวเอง
ขณะ “แม่แสง” อาศัยสิทธิทางกฎหมาย เรียกร้องการครอบครองอย่างชอบธรรม โดยมี “โหม๋” ที่ยังมีอีกความสัมพันธ์กับเสก ก็พยายามจะทำทุกวิถีทาง เพื่อให้แม่แสงยอมเซ็นยินยอมยกที่ดินดังกล่าวให้กับตนเองเช่นกัน
เล่าเรื่องราวมาถึงตรงนี้ อีกนัยก็พอจะสรุปได้ว่า ความไม่เท่าเทียมทางเพศ ที่ “ทองคำ” ไม่สามารถใช้สิทธิต่าง ๆ ที่ควรจะมีได้ จากการที่กฎหมายสมรสเท่าเทียมยังไม่ได้ถูกบังคับใช้ คือต้นเหตุสำคัญที่ทำให้ความขัดแย้งวุ่นวายต่าง ๆ เกิดขึ้นทำให้สิทธิทางทรัพย์สินและมรดก รวมไปถึงสิทธิในการดูแลระหว่างคู่ชีวิต ตกหล่นระหว่างทาง
แต่ในขณะเดียวกัน หากมองข้ามประเด็นเรื่องคู่รักเพศเดียวกันไปแล้ว “ดูหนัง ดูละคร แล้วย้อนดูตัวเอง” ประโยคสุดคลาสสิกของคนไทย ในเรื่องวิมานหนาม ก็ยังชวนให้เราฉุกคิด ถึงความจำเป็นในการจัดการมรดก หรือ ตอบคำถามที่มักได้ยินบ่อย ๆ ที่ว่า ไม่ได้มีสินทรัพย์มากมายเท่าไหร่ ทำไมต้องวางแผนมรดก ก็เพราะบางที ที่ดินผืนเดียว ก็เป็นสาเหตุให้คนฆ่ากันตายมาแล้วนักต่อนัก
ในบทความนี้ Thairath Money จะชวนมาทำความเข้าใจ และเตรียมความพร้อม กรณีหากวันนี้เราเป็นอะไรไป ทายาทจะได้รับมรดกอย่างที่เราอยากยกให้หรือไม่?
ข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ระบุว่า หลายคนมักส่ายหน้าหนี เมื่อพูดถึง “การวางแผนมรดก” และไม่เคยคิดที่จะวางแผนมรดกเลยสักครั้ง เพราะคิดว่าเป็นเรื่องของคนรวย คิดว่าตัวเองมีทรัพย์สินไม่มากนักจะทำไปทำไมให้เสียเวลา หรือไม่ก็คิดว่าเป็นการแช่งตัวเอง
ซึ่งความคิดเหล่านี้ถือเป็นทัศนคติที่ไม่ถูกต้อง เพราะไม่ใช่แค่คนรวยที่มีทรัพย์สมบัติเงินทองมาก ๆ เท่านั้นที่ต้องทำ แต่ “การจัดการมรดก” เป็นสิ่งจำเป็นที่ทุก ๆ คน ไม่ว่าจะมีเงินมากหรือน้อยก็ไม่ควรมองข้าม
1. จัดการตรวจสอบทรัพย์สิน จดบันทึกไว้ว่าตนเองมีทรัพย์สินและหนี้สินอะไร? เป็นจำนวนเท่าไหร่? อยู่ที่ไหน? เพื่อให้เป็นระบบระเบียบและสะดวกตอนทำพินัยกรรมมากยิ่งขึ้น หากสามารถระบุชื่อรายการอย่างละเอียด ก็จะช่วยให้กลับมาติดตามได้ง่ายขึ้นอีก เช่น เงินฝากออมทรัพย์ธนาคาร A เงินฝากออมทรัพย์ธนาคาร B เงินกองทุน XYZ ฯลฯ
2. “พินัยกรรม” ถือเป็นคำสั่งเสียครั้งสุดท้าย เพื่อให้แน่ใจว่า ทรัพย์สินจะถูกส่งต่อหรือถ่ายโอนไปยังบุคคลที่เราต้องการมอบให้อย่างแน่นอนและครบถ้วน ซึ่งตามกฎหมายเราสามารถระบุให้ใครหรือองค์กรใดเป็นผู้รับมรดกก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นญาติสนิท หรือสายเลือดเดียวกันเสมอไป
ทั้งนี้ เราควรปรับปรุงแก้ไขข้อมูลในพินัยกรรมให้ทันสมัยอยู่ตลอดเวลา อย่างน้อยก็ทุก ๆ 3 – 5 ปี เพื่อให้แน่ใจว่าพินัยกรรมของเราจะถูกนำไปปฏิบัติตามเจตนารมณ์ของเรา
สิ่งสำคัญอีกอย่างที่ลืมไม่ได้เด็ดขาด คือ เราควรบอกให้คู่สมรสหรือบุคคลใกล้ชิดที่ไว้ใจได้ทราบว่าพินัยกรรมฉบับล่าสุดของเราจัดทำขึ้นเมื่อใด และเก็บไว้ที่ไหน
กรณีที่เราจากไปโดยไม่ได้ทำพินัยกรรมทิ้งไว้ หรือมีพินัยกรรมแต่หาไม่พบ ทรัพย์สินของเราจะถูกจัดสรรให้แก่คู่สมรสและทายาทโดยธรรม ตามลำดับและสัดส่วนที่กฎหมายกำหนด ดังนี้
3. วางแผนภาษีมรดก
การสนใจวางแผนมรดกให้ลูกหลานตั้งแต่เนิ่น ๆ เป็นสิ่งที่ดี เราควรศึกษาวิธีการจัดทำพินัยกรรมหรือปรึกษานักกฎหมายเพื่อให้พินัยกรรมของเรามีผลบังคับใช้ได้ตามกฎหมาย ซึ่งที่จริงแล้วการส่งมอบความมั่งคั่งไม่ได้เป็นเรื่องของการส่งต่อทรัพย์สินให้แก่ทายาทเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึง “การแบ่งปันให้ผู้อื่น” ทั้งในยามปกติ เช่น การบริจาคให้มูลนิธิ องค์กรสาธารณกุศล ผู้ที่มีน้อยหรือด้อยโอกาสกว่า
ทั้งนี้ ปัจจุบันประเทศไทยมีการจัดเก็บภาษีมรดกตาม พระราชบัญญัติภาษีการรับมรดก พ.ศ. 2558 โดยผู้ที่มีหน้าที่เสียภาษีการรับมรดก คือ ผู้รับมรดกที่ได้มรดกสุทธิหลังหักภาระติดพันต่าง ๆ แล้ว เช่น ภาระจำนอง ฯลฯ จากเจ้ามรดกแต่ละรายในคราวเดียวหรือหลายคราว ให้เสียภาษีเฉพาะมูลค่ามรดกสุทธิส่วนที่เกิน 100 ล้านบาท ในอัตราภาษี 10%
แต่ถ้าผู้ได้รับมรดกเป็นบุพการีหรือผู้สืบสันดานก็ให้เสียภาษีในอัตราภาษี 5% ไม่คำนึงถึงจำนวนครั้ง หรือจำนวนหน่วยของทรัพย์มรดกที่ได้รับ โดยทรัพย์มรดกที่ต้องเสียภาษีต้องเป็นสิ่งของที่มีทะเบียน ได้แก่ อสังหาริมทรัพย์ หลักทรัพย์ เงินฝาก ยานพาหนะ และทรัพย์สินทางการเงินอื่น ๆ ที่กฎหมายกำหนด ดังนั้น หากจัดการวางแผนมอบมรดกได้ดี อาจช่วยให้เราไม่ต้องเสียภาษีมรดกมากเกินไป.
อ่านข่าวหุ้น ข่าวทองคำ และ ข่าวการลงทุน และ การเงิน กับ Thairath Money ได้ที่ https://www.thairath.co.th/money/investment
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ https://www.facebook.com/ThairathMoney